ภาพจาก Microsoft Teams
เปิดบล็อกแรกของปี 2021 ด้วยการทบทวนงานเก่าที่เคยเขียนไป
ส่วนตัวแล้วคิดว่าบล็อกสำคัญที่สุดที่เขียนในปี 2020 คือเรื่อง Readjust (และภาคต่อ Business After COVID) ที่เป็นเฟรมเวิร์คในการมองโลกยุคหลัง COVID ว่าไวรัสส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตของผู้คนบ้าง โดยมองแยกเป็น 3 ส่วนคือ การเคลื่อนย้ายของมนุษย์ (people), สิ่งของ (things) และข้อมูลข่าวสาร (information)
บล็อก Readjust เขียนเมื่อต้นเดือนเมษายน 2020 ตอนนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 9 เดือนพอดี โลกผ่านระยะเวลาลองผิดลองถูกมาได้พอสมควร ได้เวลามาทบทวนกันว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ แค่ไหน
ในบล็อกต้นฉบับมองว่า สารสนเทศนั้นไม่ได้รับผลกระทบเลยจากโรคระบาด ในขณะที่การเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของได้รับผลกระทบพอสมควร (ในระดับที่แตกต่างกัน)
ผมคิดว่าโลกปี 2020 ปรับตัวกับปัญหาข้างต้นใน 2 ทิศทาง
Things → On-Demand
ปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายสิ่งของจาก COVID ทำให้แนวคิดเรื่อง “พื้นที่” ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของ (ร้านค้า ตลาด ห้าง) ต้องเปลี่ยนไป ภาวะการล็อคดาวน์ทั่วโลก ทำให้การออกไปซื้ออาหารและเครื่องใช้ทำได้ยากขึ้นมาก
สิ่งที่เข้ามาแก้ปัญหานั้นตรงไปตรงมา คือ การส่งของผ่านระบบลอจิสติกส์ โดยลัดขั้นตอนของร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าลงไป (direct to consumer)
เราพูดเรื่องอีคอมเมิร์ซกันมาเป็นทศวรรษแล้ว มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่จับต้องได้ การเติบโตของ Amazon, Alibaba หรือในบ้านเราคือ Shopee/Lazada รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ (เช่น ลอจิสติกส์ แพ็กเกจจิ้ง) เป็นผู้ชนะที่เห็นได้ชัดของปี 2020
แต่สิ่งที่เหนือไปกว่าลอจิสติกส์แบบมาตรฐาน คือ การส่งสินค้าหรือบริการแบบ On-Demand ทันทีทันใจ ซึ่งตัวอย่างที่จับต้องได้ที่สุดคือ Food Delivery (แต่คำว่า On-Demand ในที่นี้ ก็รวมไปถึงบริการใกล้เคียงอื่นๆ เช่น ซื้อของสด ซื้อยา ส่งเอกสาร)
ตัวผมเองถือว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสเห็นธุรกิจ On-Demand (ในที่นี้ LINE MAN Wongnai) อย่างใกล้ชิดด้วยตาของตัวเอง ได้เห็นกระบวนการเบื้องหลัง ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ตอนนี้จึงสามารถฟันธงได้ว่า On-Demand จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของมนุษยชาติยุค Post-COVID
สิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจคือ แนวคิด On-Demand จะทำให้ผู้บริโภคต้องการบริการแบบทันทีทันใจเมื่อต้องการมากขึ้น และกระบวนการทำธุรกิจ (business practice/process) กับซัพพลายเชนทั้งระบบ จะต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการนี้ ในฐานะที่มีโอกาสได้ลองทำแล้วพบว่าไม่ง่ายเลยนะ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเช่นกัน
People → Global Village
การพยากรณ์เรื่อง On-Demand ไม่ใช่เรื่องยากนัก เป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้ว และตรงไปตรงมา
สิ่งที่ซับซ้อนกว่าคือ ข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คน
โลกยุคปี 2020 เราไปเจอกันยากขึ้นมากเพราะต่างฝ่ายต่างก็หวาดเกรงอีกฝ่าย เราถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่เชิงกายภาพแบบแคบๆ เช่น ทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน ทุกอย่างอยู่ในบ้าน
แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การจะไม่มีสังคมคงทำให้อึดอัดตาย โชคดีว่าเหตุการณ์มาเกิดในปี 2020 ที่เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมากแล้ว การมาเจอกันเพื่อ socialize จึงสามารถเกิดได้บนโลกออนไลน์
และพอมันเป็นโลกออนไลน์ที่ไม่มีพรมแดน เราจึงเห็นการเชื่อมกันของพื้นที่แคบๆ (village ซึ่งจริงๆ เล็กกว่านั้นด้วยซ้ำ อาจเป็นคำว่า household) แต่ต่อเชื่อมกันในระดับโลก (global)
ฟังดูยิ่งใหญ่และทางการ แต่ในโลกความเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่านั้นมาก เช่น
- การเล่นเกมออนไลน์ (เกมแล้วแต่ชอบ) เช่น Animal Crossing, Call of Duty, Fortnite หรือล่าสุดคือ Among Us
- การมีประสบการณ์ร่วมกันออนไลน์ เช่น ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือดูซีรีส์ Netflix แล้วมาคุยกันในโซเชียลแบบเรียลไทม์
- การแฮงค์เอาท์หรือมาปฏิสัมพันธ์บนออนไลน์ ตัวอย่างคือความรุ่งเรืองของ Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Teams ในโลกการทำงาน ที่กลับลามปามมาถึงการใช้งานส่วนตัวด้วย (เช่น การกินเบียร์หรือเล่นไพ่ผ่าน Zoom)
ในแง่ประโยชน์ของการใช้งานเฉพาะหน้า ณ ปัจจุบัน (immediate benefit) คงไม่มีอะไรแปลกใหม่นัก เราถูกขังอยู่ในบ้าน เราเหงา เราหาอะไรทำแก้เหงากับเพื่อน เราหายเหงา (ขึ้นมาหน่อยนึง) อันนี้ตรงไปตรงมา
แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นในระยะที่ไกลกว่านั้นต่างหากที่น่าสนใจ ในฐานะที่เคยเป็นเด็กยุคก่อนอินเทอร์เน็ต จักรวาลของผมมีแค่เพื่อนเล่นแถวบ้าน ของเล่นแถวบ้านเท่านั้น
แต่เด็กที่เติบโตมาในยุคที่ต้องเล่น Among Us หรือ Animal Crossing ร่วมกับคนอื่นที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก (และคนอื่นทั่วโลกร่วมยุคเดียวกัน ก็ถูกบีบให้ต้องทำแบบเดียวกัน) จะมีขอบเขตของความคิดไปไกลแค่ไหนกัน
ชีวิตที่ถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่กายภาพแคบๆ (เพื่อนหลายคนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ เท้าไม่ได้เหยียบออฟฟิศเลย) แต่มีพื้นที่เวอร์ชวลที่กว้างขวางไม่จำกัด ความแตกต่างของพื้นที่อย่างสุดขั้ว ในชีวิตเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน มันจะส่งผลถึงเพียงไหน เป็นสิ่งที่มนุษยชาติไม่เคยเผชิญมาก่อน และน่าตื่นเต้นว่ามันจะพัฒนาต่อไปอย่างไร