บทความมิตรสหายแชร์มา ว่าด้วยประเด็น “คนแก่” ที่เข้ามาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริการอบนี้ ไม่ว่าใครชนะ อเมริกาจะได้ประธานาธิบดีที่แก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (เจ้าของสถิติเดิมคือ Trump รับตำแหน่งตอนอายุ 70)
- Republican
- Donald Trump ปัจจุบันอายุ 73
- Democrat
- Joe Biden อายุ 77
- Bernie Sanders อายุ 78
ส่วนคนที่ยอมแพ้ไปแล้วก็มีแก่ๆ อย่าง Michael Bloomberg (78) หรือ Elizabeth Warren (70) ตรงนี้จึงเกิดคำถามว่า ปรากฏการณ์ “คนแก่” เข้ามาบริหารประเทศมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอเมริกาเพิ่งมี “ประธานาธิบดีคนหนุ่ม” อย่างโอบามาเข้ามาไม่นาน (รับตำแหน่งตอนอายุ 47)
The Atlantic พยายามตอบคำถามนี้โดยแยกเป็น 2 ประเด็นคือ
- คนโหวตแก่ขึ้น (ค่าเฉลี่ย) เลยอยากเลือกคนแก่ที่อายุไล่ๆ กัน (demand side)
- ตัวเลือกนักการเมืองมีแต่แก่ๆ (supply side)
ประเด็นแรกถูกตีตกไป แม้คนโหวตมีอายุเฉลี่ยเยอะขึ้นจริง แต่ก็มีตัวอย่างค้านหลายกรณีว่า คนแก่ก็เลือกคนหนุ่มได้
ส่วนประเด็นที่สอง น่าจะเป็นจริง เพราะอายุเฉลี่ยของ ส.ส. หรือ ส.ว. สหรัฐก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน แถมถ้าดูจากวงการอื่นๆ เช่น อายุเฉลี่ยของคนที่ได้รางวัลโนเบล หรืออายุเฉลี่ยของซีอีโอบริษัท ก็เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน
อีกประเด็นที่น่าสนใจเป็นเรื่องของ “เนื้องาน” ของประธานาธิบดีด้วย เพราะคนที่ประสบความสำเร็จในเชิงอาชีพการงานด้านอื่นๆ แล้ว (เช่น ธุรกิจ) พอถึงระดับหนึ่งจะเริ่มเข้าสู่การเมือง เพราะเป็นงานท้าทายที่เหลืออยู่ จึงไม่แปลกใจอะไรที่นักธุรกิจแก่ๆ ระดับเลี้ยงหลานได้แล้ว อย่าง Bloomberg หรือ Trump หันมาสู่การเมือง ในขณะที่ซีอีโอรุ่นปัจจุบัน (ในบทความยกตัวอย่าง Bezos) ยังมีภารกิจอื่นๆ ต้องทำอยู่
พอบวกปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน จึงเกิดปรากฏการณ์ “คนแก่ครองประเทศ” ในลักษณะนี้ ส่วนเรื่องว่าคนรุ่นใหม่จะแทรกตัวเข้ามาได้อย่างไร อันนี้ในบทความไม่ได้บอกไว้ และเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป
ภาพจาก Bernie Sanders