in Knowledge

Normandy and Dunkirk

ภาพจากเกม Call of Duty WW2

การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี หรือที่รู้จักกันว่าวัน D-Day น่าจะเป็นสมรภูมิที่โด่งดังที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง (ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะอิทธิพลจากหนังอย่าง Saving Private Ryan รวมถึงเกมสงครามโลกต่างๆ เช่น Medal of Honor หรือ Call of Duty)

แต่ภาพจำของคนทั่วไปกับยุทธภูมิที่นอร์มังดี จะออกไปในเชิงดราม่าโรแมนติก นั่นคือฝ่ายสัมพันธมิตรล่องเรือมาที่ชายหาด ทหารวิ่งลงมาจากเรือ เจอกับป้อมปืนของฝ่ายเยอรมันยิงเข้าใส่ เจ็บตายเป็นเบือ แต่ด้วยความเสียสละ ความกล้าหาญ มิตรภาพ ฯลฯ ก็ทำให้ฝ่ายพันธมิตรเอาชนะเยอรมันที่ชายหาดได้ ก่อนบุกตะลุยขึ้นฝั่ง และก้าวไปสู่ชัยชนะในยุโรปท้ายที่สุด

พอได้มาศึกษารายละเอียดของยุทธการนอร์มังดี โดยเฉพาะในเชิงแผนที่ภูมิศาสตร์ และมิติเชิงยุทธศาสตร์ ก็ได้ข้อมูลในมุมมองอื่นๆ อีกมาก

อย่างแรกเลยต้องบอกว่า นอร์มังดี เป็นด้านกลับของ ดันเคิร์ก (ต้องขอบคุณหนังเรื่อง Dunkirk ของ Christopher Nolan อย่างมากที่ทำให้สมรภูมินี้โด่งดังขึ้นมา ผมเองก็มาเรียนรู้เรื่องดันเคิร์กหลังจากดูหนังอีกเหมือนกัน)

  • ดันเคิร์ก คือ ฝ่ายพันธมิตรที่พ่ายแพ้ต้องหนีหัวซุกหัวซุนกลับอังกฤษ ในปี 1940
  • นอร์มังดี คือ ฝ่ายพันธมิตรยกทัพกลับมาจากอังกฤษอีกครั้ง ในปี 1944 แล้วชนะในบั้นปลาย

สิ่งเดียวที่ทั้งสองสมรภูมิมีเหมือนกัน คือ การขนทหารเป็นจำนวนมาก (หลักแสน) ข้ามช่องแคบอังกฤษ (English Channel) แม้บริบทจะต่างกรรมต่างวาระกัน

ภาพจาก Wikipedia

คำว่า “ช่องแคบอังกฤษ” มีนิยามที่กว้าง เพราะครอบคลุมน่านน้ำทั้งหมดที่อยู่ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในรายละเอียดจึงมีความแตกต่างกัน

ด้วยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ จุดที่ช่องแคบอังกฤษมีระยะห่างสั้นที่สุดคือ ช่องแคบโดเวอร์ (Strait of Dover) ที่ในปัจจุบัน อุโมงค์ลอดช่องแคบ (Channel Tunnel) ก็ตั้งอยู่ตรงนี้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นจุดที่ขุดอุโมงค์สั้นที่สุด เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ที่บริเวณนี้ ฝั่งอังกฤษคือเมือง Dover ตามชื่อช่องแคบ ส่วนฝั่งฝรั่งเศสคือเมือง Calais (กาแล) ที่อยู่ตรงข้ามกัน

ถ้าดูจากแผนที่ข้างต้น เมือง Dunkirk ซึ่งเป็นจุดข้ามกลับอังกฤษใน Operation Dynamo ก็อยู่ใกล้กับ Calais (เหตุผลที่ไม่ข้ามกลับที่ Calais นั้นง่ายมาก เพราะตอนนั้นกองทัพเยอรมันล้อม Calais ไปแล้ว Dunkirk เป็นเมืองสุดท้ายที่พันธมิตรยังรักษาไว้ได้อยู่)

พอพันธมิตรตั้งตัวได้และเตรียมยกทัพกลับภาคพื้นทวีปยุโรป คำถามสำคัญคือจะข้ามช่องแคบตรงไหนดี?

ข้อจำกัดอย่างแรกคือ การนำทหารจำนวนมหาศาลข้ามทะเลไปยังแผ่นดินของศัตรู (ที่มีป้อมปืน กำแพง ฯลฯ ที่เรียกรวมๆ กันว่า Atlantic Wall รอคอยอยู่แล้ว) จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากฝูกบินอังกฤษ ซึ่งมีระยะทำการไม่ไกลนัก พื้นที่ยกพลขึ้นบกจึงจำกัดอยู่แค่บริเวณช่องแคบอังกฤษเท่านั้น

จุดที่เป็นไปได้ในเชิงยุทธศาสตร์จึงลดเหลือแค่ 4 จุดคือ แหลม Brittany ที่อยู่ทางใต้ลงไป, แหลม Cotentin หรือ Cherbourg ในภาพ, ชายหาด Normandy และบริเวณเขต Pas a Calais

หมายเหตุ: พันธมิตรเคยทดลองยกพลขึ้นบกมาก่อนแล้วในปี 1942 ที่บริเวณเมือง Dieppe ซึ่งอยู่ระหว่าง Normandy กับ Pas a Calais แต่ล้มเหลว (Dieppe Raid) จึงเว้นพื้นที่ตรงนี้ไปเพราะมีการคุ้มกันของเยอรมันอย่างหนาแน่น

พื้นที่ Brittary และ Cherbourg มีข้อด้อยคือเป็นแหลมที่ยื่นไปในทะเล มีความเสี่ยงว่าอาจยกพลขึ้นบกสำเร็จ แต่โดนทัพเยอรมันปิดล้อมได้ง่าย เคลื่อนพลออกนอกแหลมไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ตัวเลือกที่เป็นไปได้จึงเหลือแค่ Normandy กับ Pas a Calais เท่านั้น

ฝ่ายเยอรมันเองก็รับทราบความเป็นไปได้เหล่านี้ดี และเมื่อ Pas a Calais คือจุดที่สั้นที่สุดในการเดินเรือ มันจึงถูกคุ้มกันอย่างหนาแน่นเช่นกัน ฝ่ายพันธมิตรจึงเหลือตัวเลือกคือ Normandy เพียงจุดเดียว

รายละเอียดที่เหลือของการยกพลขึ้นบกที่ Normandy (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Operation Overlord สำหรับยุทธการภาพรวมทั้งหมด) เป็นที่รู้กันค่อนข้างกว้างขวางอยู่แล้ว เช่น การแบ่งหาดออกเป็น 5 ส่วนตามโค้ดเนม Utah, Omaha, Gold, Juno, Sword เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจคงเป็นการ “หลอก” เยอรมันให้ไขว้เขวว่าตกลงแล้วพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่จุดไหน ซึ่งพันธมิตรก็มีมาตรการหลายอย่าง เช่น

  • การให้เครื่องบินบินไปถ่ายภาพริมทะเลอย่างละเอียด เพื่อจำลองแผนการให้สมจริงที่สุด แต่การไปบินวนๆ ถ่ายรูปตรงไหนมากๆ อาจทำให้ระแคะระคายว่าจะขึ้นบกที่จุดนั้น จึงต้องบินถ่ายทั่วทั้งชายฝั่งยุโรป
  • Operation Bodyguard การสร้าง “กองทัพปลอม” เพื่อให้เยอรมันเข้าใจผิด โดยถึงขั้นมีชื่อกองทัพปลอม ตราสัญลักษณ์ปลอม คุยกันผ่านวิทยุ (เพื่อให้เยอรมันดักฟังแล้วนำข้อมูลผิดๆ ไปปล่อยต่อ) ปล่อยข่าวผ่านสปาย รวมถึงการสร้างรถถังปลอมๆ มาตั้งไว้เพื่อให้เยอรมันเข้าใจผิด
  • การปล่อยข่าวผ่านสปาย โดยสปายคนสำคัญคือ Juan Pujol García ชาวสเปนผู้เป็น double agent (สปายให้สองฝั่ง) รับงานให้เยอรมัน แต่ใจจริงๆ อยู่กับฝั่งอังกฤษ สร้างตัวละครปลอมๆ ที่ซับซ้อน (มีตัวละครปลอมถึง 27 คนในเครือข่ายสปายของเขาที่อังกฤษ เพื่อมาปล่อยข่าวให้เยอรมัน) ถึงขั้นมีการปล่อยข่าวจริง (แต่ไปถึงช้ากว่ากำหนด เพื่อให้ข่าวจริงไม่มีผลในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ยืนยันความน่าเชื่อถือของสปาย) หรือการแกล้งโดนจับจริงๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
  • นอกจากเรื่องจุดยกพลขึ้นบกแล้ว เรื่องวันปฏิบัติการก็มีผล โดยพันธมิตรปล่อยข่าวเรื่องวันยกพลขึ้นบกเป็นเดือนกรกฎาคม แต่ยกพลขึ้นจริงๆ ในเดือนมิถุนายน ก่อนกำหนดที่ปล่อยออกมา ในขณะที่นายพล George S. Patton ผู้นำสูงสุดของปฏิบัติการนี้ก็ต้องเล่นด้วย คือ อยู่ในพื้นที่หลอก + ระยะเวลาหลอก เพื่อให้เยอรมันที่ติดตามการเคลื่อนไหวของ Patton เข้าใจผิด

ผลของการหลอกให้เยอรมันเข้าใจผิด ส่งผลให้เยอรมันระดมกำลังไปที่ Pas de Calais และช่วยให้กำลังที่ Normandy ผ่อนคลายลงไป แม้กระทั่งพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ Normandy เรียบร้อยแล้ว เยอรมันก็ยังเชื่อว่าจะมีการยกพลระลอกสองที่ Pas de Calais อยู่ดี และคงกำลังไว้ที่นี่ต่ออีก 2 เดือนด้วยซ้ำ (ถือเป็นผลสำเร็จอย่างยิ่งยวดของยุทธการข่าวสาร)

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • ข้อจำกัดของหาด Normandy คือไม่มีท่าเรือน้ำลึก เอาเรือเทียบท่ายาก ทางแก้ของพันธมิตรคือต่อเรือยกพลขึ้นบกขึ้นมาใหม่ ที่สามารถขึ้นหาดได้เลย แบบที่เราเห็นในภาพถ่ายหรือในหนัง
  • น้ำขึ้นน้ำลงมีผลอย่างมากต่อการยกพลขึ้นบก ทำให้ช่วงเวลายกพลขึ้นบกถูกจำกัดเรื่องวันมาก (มีพูดถึงในหนังฝรั่งเศสเรื่อง Female Agents ที่เล่นโดย Sophie Marceau) ถ้าพลาดรอบนี้แล้วต้องรอไปอีกครึ่งเดือน
  • เดิมที D-Day มีกำหนดวันที่ 4 มิถุนายน แต่สภาพอากาศย่ำแย่ จึงต้องเลื่อนเป็น 6 มิถุนายน ซึ่งก็ดีขึ้นบ้างแต่ไม่เยอะนัก ด้วยเหตุผลเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้แม่ทัพของพันธมิตรตัดสินใจเดินหน้าบุกในวันนั้น แทนการรออีก 2 สัปดาห์
  • ปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ ยิ่งกลายเป็นตัวช่วยให้พันธมิตร เพราะเยอรมันมองว่าฝนตกหนัก ไม่มาแน่ๆ เหล่านายพลของเยอรมันจึงตายใจ หยุดพักกัน นายพลสูงสุดอย่าง Rommel ถึงขั้นกลับเยอรมันไปฉลองวันเกิดเมีย และเข้าพบฮิตเลอร์ด้วยซ้ำ
  • พันธมิตรเองก็จริงจัง มีซ้อมยกพลขึ้นบกกันด้วยที่เมือง Slapton in Devon ในอังกฤษ ที่มีรูปแบบชายหาดคล้ายกับ Normandy แถมก็มีอุบัติเหตุทำให้ทหารตายไปหลายร้อยคนในระหว่างซ้อม