in Politics

ประเทศที่ไร้ความหวัง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ประเด็นเรื่อง “ย้ายประเทศ” ได้รับความสนใจสูง มีการตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก ห้องคลับเฮาส์ แท็กทวิตเตอร์ ฯลฯ พูดถึงประเทศที่ไม่มีความหวัง จนคนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศออกไป

เลยนึกถึงบทความที่เคยเขียนไว้ตอนวันปีใหม่ปี 2558 (หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557) แต่ปัจจุบันเว็บไม่อยู่แล้ว จึงต้องไปขุดโพสต์จากในฐานข้อมูลที่แบ็คอัพไว้ มารีรันเป็นที่ระลึก

หมายเหตุ 1: เนื่องจากเป็นบทความเก่าอายุนานเกิน 7 ปีแล้ว (พอๆ กับอายุของรัฐบาลประยุทธ์เลยนี่นะ) ความคิดเห็นหรือมุมมองของผู้เขียนก็มีส่วนที่เปลี่ยนไป และส่วนที่ยังคิดเหมือนเดิม แต่คงเนื้อหาบทความต้นฉบับไว้ทั้งหมดเพื่อเป็น historical purpose

หมายเหตุ 2: บทความลักษณะเดียวกันแต่ใหม่กว่า เขียนในโอกาสขึ้นทศวรรษ 2020s (2563) แนะนำให้อ่านประกอบ จากทศวรรษที่สาบสูญ สู่ทศวรรษซึมเศร้า

ภาพประกอบจาก Pexels


ประเทศที่ไร้ความหวัง

ทักษิณ ชินวัตร น่าจะถือเป็น “ความหวังครั้งสุดท้าย” ของสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

มหาเศรษฐีผู้ขี่กระแสคลื่นลูกที่สาม เจ้าพ่อแห่งวงการโทรคมนาคมผู้หันเหเข้าสู่วงการการเมือง เข้ามากระตุ้นสังคมไทยที่เจ็บช้ำปวดร้าวจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้อย่างน่าทึ่งด้วยแนวนโยบายแบบใหม่และการบริหารที่กระฉับกระเฉงว่องไว

ในช่วงของรัฐบาลทักษิณ คนไทยมองไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า เศรษฐกิจสดใสเต็มไปด้วยความหวังว่าไทยจะพัฒนาและก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของเอเชีย สานต่อความฝัน “เสือตัวที่ห้า” ที่ยังทำไม่สำเร็จในทศวรรษ 2530 ความภูมิใจของคนในชาติเปี่ยมล้น ภูมิใจต่อพัฒนาการของ “ประเทศไทย” ที่สามารถต่อสู้กับอารยประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี

แต่ทักษิณก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้อง “ผิดหวัง” ความทะเยอทะยานและพฤติกรรมที่ล้นเกินไปหลายอย่างของเขาทำให้คนบางส่วน “รับไม่ได้” และเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 เป็นต้นมา และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

เราต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่ “เกลียดทักษิณ” ในปัจจุบันนี้ เดิมทีเคยเป็นกลุ่มคนที่ตั้งความหวังกับทักษิณอย่างมาก และ “อกหัก” จนเปลี่ยนความรักเป็นความเกลียดชังในที่สุด

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกมาโดยตลอด

เมื่อรัฐบาลทักษิณถูกโค่นล้มลงไป คนไทยจำนวนไม่น้อยหวังว่าคณะรัฐประหาร คมช. และรัฐบาล “ขิงแก่” จะเข้ามากอบกู้ประเทศได้ในปี 2549 แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว กลายเป็นรัฐประหารที่ถูกพวกเดียวกันมองว่า “เสียของ”

หลังจากนั้นคนไทยก็ให้ความหวังกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีหนุ่มดีกรีอ๊อกซ์ฟอร์ด หน้าตาหล่อเหลา วาจาคมคาย น่าจะเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ทันสมัยเป็นสากล แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เหลือเพียงแค่วาทะ “ดีแต่พูด” เก็บไว้ในความทรงจำ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขี่กระแสภาพลักษณ์และความหวังว่า “เมืองไทยจะกลับมาดีอีกครั้ง” อย่างเช่นสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลเพื่อไทยก็ทำลายความหวังเหล่านี้ลงในชั่วข้ามคืน ด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่แสนขัดแย้ง จนทำให้สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพังทลาย จบลงด้วยรัฐประหารครั้งที่สองในรอบ 8 ปี

ล่าสุดกับรัฐบาล คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงแม้คนบางกลุ่มจะตั้งความหวังเป็นอย่างสูง แต่ทิศทางการบริหารประเทศในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า คสช. กำลังพาประเทศไทยไปสู่อนาคตสักเท่าไรนัก จะมีแต่การหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกับไปสู่วันวานแห่งอดีตเสียเป็นส่วนใหญ่

มองให้ไกลกว่าประเด็นการเมือง สังคมไทยก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับแทบทุกเรื่อง เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเริ่มเดินมาถึงทางตัน สังคมฟอนเฟะในทุกมิติ สถาบันหลักของประเทศแทบทุกแห่งเต็มไปด้วยจุดด่างพร้อย ตั้งแต่รัฐสภาปาเก้าอี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชื่อดังนั่งควบสองตำแหน่ง โครงการ GT200 ของทหาร ศาลสูงสุดที่เขียนคำวินิจฉัยแบบลวกๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ไม่ทำงาน ไปจนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยในการจัดอันดับแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน สิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัย

ความภูมิใจต่อประเทศไทยเริ่มจืดจางลง หลายคนเลิกเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างชาติ ด้วยวาทกรรม “เมืองไทยมีแนวทางของตัวเอง” และ “อารยธรรมต่างชาตินำมาใช้กับเมืองไทยไม่ได้ทั้งหมด”

แน่นอนว่าพื้นฐานของประเทศไทยยังเข้มแข็ง ประเทศไทยยังไม่มีโอกาสจะล่มสลายลงในชั่วพริบตาแบบเดียวกับครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคราวนี้ถือภาวะเซื่องซึมที่ยาวนาน คนไทยยังอยู่ได้ มีกิน ชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุข แต่มองไปทางไหนก็ยังไม่เห็นประกายความหวังในสายตา

สภาพการณ์อึมครึมแบบที่เป็นอยู่ กลายเป็นเหตุสั่งสมความเครียดโดยรวมของสังคม คนไทยจำนวนไม่น้อยหันไปคว้าจับ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” ทั้งจิตและกรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ในขณะที่คนไทยอีกส่วนหนึ่งก็หวังพึ่งโชคชะตาด้วยการ “รวยทางลัด” ทั้งหวยและหุ้น

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าหากมีคนไทยกลุ่มไหนสามารถสร้าง “ความหวัง” มาตอบสนองภาวะโหยหาความภาคภูมิใจเหล่านี้ สังคมไทยจะตอบสนองอย่างท่วมท้น

ทีมฟุตบอลไทยภายใต้การนำของโค้ช “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ถือเป็นดาวความหวังดวงใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมในระดับอาเซียน สามารถทวงบัลลังก์เก่าของทีมฟุตบอลไทย (ที่ห่างหายไปนานหลายปี) อย่างแชมป์ซีเกมส์ และแชมป์ซูซูกิคัพ กลับคืนสู่อ้อมอกของคนไทยได้สำเร็จ ในขณะที่ระดับเอเชียก็ไม่น้อยหน้า สามารถขึ้นไปยืนอยู่ในระดับ 4 ทีมสุดท้ายฟุตบอลชายเอเชี่ยนเกมส์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

นักเตะในยุคของ “ซิโก้” ยังแสดงให้แฟนฟุตบอลชาวไทยเห็นว่า พวกเขามีมาตรฐานการเล่นทัดเทียมกับระดับสากล มีความขยัน มีทักษะ มีวินัย รู้จักการเล่นเป็นทีมเวิร์ค ต่างไปจากนักฟุตบอลไทยชุดก่อนๆ ที่ดูจะขี้เกียจ ไม่มีความฟิต และชอบเล่นฟุตบอลชายเดี่ยวเพื่อโชว์ความสามารถตัวเอง

การคว้าแชมป์ซูซูกิคัพในช่วงปลายปีของทีมฟุตบอลไทย จึงทำให้คนไทยทั้งประเทศ “สะใจ” ได้ปลดปล่อยความภูมิใจที่สะกดกลั้นมานาน และได้รู้สึกว่า “ประเทศไทยมีดี” กลับมาแข่งขันได้ในระดับสากล

แต่เมื่อหันกลับมามองที่แวดวงอื่น โดยเฉพาะวงการการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรากลับยังไม่เห็นความหวังแบบเดียวกันมากนัก เรายังไม่สามารถค้นพบดาวรุ่งกลุ่มใหม่ที่เต็มไปด้วยขีดความสามารถ ภาพลักษณ์ใสสะอาด ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ที่จะสามารถฝากความหวังว่าอนาคตของประเทศไทยจะดีขึ้นเอาไว้ได้

สภาพการณ์ของประเทศไทยในปี 2558 จึงยังอึมครึมต่อไป และคนไทยก็ยังต้องอยู่กับตัวละครหน้าเดิมๆ ต่อไปในทุกวงการ แม้จะรู้ว่าไม่สามารถฝากความหวังไว้กับคนเหล่านี้ได้ แต่ก็ไม่มีตัวเลือกอื่นใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว