in Knowledge

New Parliament

เรื่องมีอยู่ว่า วันก่อนมีโอกาสได้ไปประชุมที่รัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย หลังจากอ่านข่าวรัฐสภาใหม่มายาวนานหลายปี (ตั้งแต่เถียงกันว่าจะไปตั้งที่ไหนบ้าง) ในที่สุดก็มีโอกาสได้ไปเยือนกับเขาบ้าง!

ผลปรากฏว่าเข้าขั้นเลวร้ายมาก

  • สภายังสร้างไม่เสร็จ แต่ต้องเปิดใช้แล้วเพราะสภาเก่าถูก “ขอคืนพื้นที่” ไปแล้ว ทำให้ต้องใช้งานไป ก่อสร้างไป มีบางส่วนที่ยังไม่เสร็จอีกมาก
  • เรื่องงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอก เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว (จะกล่าวถึงต่อไป) แต่พอได้เดินข้างในก็พบว่า ผังภายในสับสนมาก ออกแบบทางเดินมีซอกหลืบมากมาย เดินเลี้ยววนไปวนมา
  • เมื่อบวกกับการที่บางส่วนยังทำไม่เสร็จ การเดินข้ามปีกของสภา จึงต้องเดินทะลุห้องทำงานของข้าราชการสภา ตอนเดินก็เกร็งๆ คือเขานั่งทำงานกัน เหมือนเราไปรบกวนเขา แถมคิดในใจว่าเออ ถ้าเข้ามาขโมยของ ขโมยเอกสารสำคัญก็ทำได้ง่ายๆ เลยสินะ
  • คนที่อยู่ในสภาเขาก็บ่นมาให้ฟังว่า นอกจากเรื่องการออกแบบที่สับสนแล้ว จุดอ่อนสำคัญคือ มันไม่มีบันไดครับ (บันไดหนีไฟมีแต่ไม่นับนะ) ดังนั้นการเดินเปลี่ยนชั้นจึงทำไม่ได้เลย ต้องใช้ลิฟต์เท่านั้น รอกันนาน แถมลิฟต์ที่มีก็ยังแบ่งแยกเป็นลิฟต์ของ ส.ส. และลิฟต์ของคนทำงานอื่นๆ ด้วย
  • นอกจากการออกแบบภายใน สิ่งที่ทำได้แย่คือการบริหารจัดการ อย่างช่วงที่ไปประชุมเป็นช่วงการพิจารณางบประมาณปี 2564 พอดี คนจึงเยอะมาก เพราะข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ต้องมาอธิบายงบกัน แต่กลายเป็นว่าไม่มียามมาจัดการจราจร หรือที่จอดรถเลย ผมสามารถขับรถไปเข้าในสภา วนสามรอบ (เพราะไม่มีที่จอด) โดยไม่มีใครสนใจอะไรทั้งนั้น ซึ่งถือว่าแย่มากสำหรับการรักษาความปลอดภัย สถานที่สำคัญของประเทศ

เอาเรื่องนี้ไปบ่นในทวิตเตอร์ และมีเสียงตอบรับดีพอสมควรเลย

ก็เลยถือโอกาสไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม อ่านแล้วก็มาจดบันทึกไว้

แนวคิดของ สัปปายะสถาน

แบบของรัฐสภาใหม่ที่มีการประกวดตั้งแต่ปี 2552 (เงินรางวัลค่าแบบ 200 ล้านบาท) มีผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ทีม (ดูแบบทั้ง 5 ที่เข้ารอบ)

ผู้ชนะคือทีม “สงบ 1051” ซึ่งประกอบด้วยสถาปนิกหลัก 4 คน คือ

  • นายธีรพล นิยม
  • นายเอนก เจริญพิริยะเวศ
  • นายชาตรี ลดาลลิตสกุล
  • นายปิยเมศ ไกรฤกษ์

ตรงนี้ต้องออกตัวว่าอยู่นอกวงการสถาปนิกอย่างสิ้นเชิง ไม่รู้จักใครเลยจริงๆ แต่จากที่อ่านบทสัมภาษณ์ของทีมสถาปนิกใน Post Today ตอนปี 2553 ก็เจอประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ตั้งแต่แนวคิดพื้นฐานเรื่อง “ความดี-ศีลธรรม” ซึ่งมาอ่านในปี 2563 มันคงล้าสมัยไปแล้ว (แม้ว่าสภาจะยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม และต่อให้สร้างเสร็จแล้วก็คงอยู่ประเทศไปอีกนาน แต่แนวคิดมัน outdated ไปก่อนหน้านานแล้ว)

“สัปปายะสภาสถาน” เป็นสถาปัตย์ไทยตามคติ “ไตรภูมิ” นอกจากแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณถึงความเป็นไทย ยังมีความหมายลึกซึ้งเพื่อให้คนไทยและเหล่า ฯพณฯ ที่ดี และพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล นักเลือกตั้งในเสื้อสูทประชาธิปไตย เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาจะสำนึกถึง “บาปบุญคุณโทษ” พลิกฟื้นจิตใจผู้คนให้ประกอบกรรมดีขึ้นมาบ้าง

ชาตรี อธิบายว่า การออกแบบรัฐสภาใหม่เน้นอุดมคติ 5 เรื่อง คือ ชาติ ศีลธรรม สติปัญญา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ตอบโจทย์ 4 ข้อ คือ 1.ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่จะพลิกฟื้นจิตวิญญาณของคนในชาติ ในช่วงที่สังคมเกิดวิกฤต ศีลธรรมขณะนี้ 2.มีอัตลักษณ์เป็นไทย เป็นคุณค่าของแผ่นดิน 3.สร้างความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชน และ 4.สร้างสำนึกของการคิดสร้างร่วมกันในสังคมไทย

“ตอนที่เริ่มงานเรานึกถึงรัฐสภาในฝัน เราก็เขียนถึงเรื่องใหญ่ๆ ก่อน เรื่องประชาชน เรื่องชาติ เรื่องอื่นๆ ว่าเราคิดอย่างไร แล้วเราก็ตอบคำถามทีละข้อ จนได้ออกมาว่าสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นต้องเป็นสถานที่ของการประกอบกรรมดี มีศีลธรรม เพราะชาวบ้านเลือก สส. สว. ให้เข้ามาทำความดี”

“แนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกต้องการแยกกติกาต่างๆ ออกจากกัน ระหว่างแนวคิดทางจิตใจซึ่งเป็นกติกาที่คลุมเครือ ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครดี ไม่ดี แต่ของไทยผมยังเชื่อว่าศีลธรรมกับเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน แยกไม่ออก ฉะนั้นเราเสนอตรงนี้ก็มีอารมณ์ของการตลาดด้วย หลายคนเห็นว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหา มีวิกฤต คนชั้นกลาง คนทุกชนชั้นใฝ่ฝันถึงศีลธรรม และคิดว่านี่จะเป็นยาวิเศษที่แก้ปัญหาของสังคมได้”

ในแง่การออกแบบยังมีเรื่องพิธีกรรม และการนำแนวคิดสายพราหมณ์เข้ามาอีกเยอะ

แกนกลางของอาคาร หมายถึง แกนกลางของความเป็นชาติ จะมีทั้งส่วนที่เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตรงยอดบนสุดจะเป็นโถงพระราชพิธีสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาเปิดประชุมรัฐสภา โดยไม่ต้องใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้จะอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชซึ่งเป็นองค์จำลองที่รัฐสภา ไปประดิษฐานไว้ส่วนยอดสุดของอาคารรัฐสภา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจคนทั้งชาติ

สำหรับห้องประชุม สส. และ สว. จะสร้างแยกไว้สองปีก ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีชื่อว่า ห้องประชุมพระสุริยัน สะท้อนถึง “ความร้อน” ต้องใช้พลังสติปัญญา หนักหน่วงยาวนาน ห้องประชุมวุฒิสภาชื่อ ห้องประชุมพระจันทรา เน้นโทนเย็นนุ่มนวล ทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นต้นเหตุของพลังในการเคลื่อนสู่ความเจริญ เป็นการโน้มน้าวจิตใจให้ สส. และ สว. เห็นความสำคัญว่าภารกิจของเขาเทียบเท่ากับพระจันทร์และพระอาทิตย์ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเหมือน “หยิน-หยาง”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง การป้องกันม็อบ มาตั้งแต่การออกแบบด้วย

ได้วางระบบรักษาความปลอดภัยไว้ 3 ส่วนใหญ่ คือ 1.โครงสร้างกายภาพที่เราออกแบบไว้ป้องกันม็อบ 2.การจัดการ และ 3.ระบบเทคโนโลยีของฝ่ายรักษาความปลอดภัย “เราต้องการให้สภาเป็นมิตร เราจึงไม่มีรั้ว รั้วของเราเป็นน้ำกว้าง 13 เมตร ถ้าม็อบจะบุกก็ต้องว่ายน้ำข้ามมา นี่คือด่านที่หนึ่ง ถ้าหลุดเข้าถึงอาคารได้ ก็มีบ่อน้ำป้องกันรอบสภาอีก หลังจากน้ำก็มีเหว คือ เป็นหลุม เข้าอาคารไม่ได้นอกจากต้องมุดลอด แล้วเวลาที่ประชาชนกับ สส. เดินลอดผ่านกันก็จะไม่เจอกัน คล้ายๆ ระบบในศาลที่ผู้ต้องขังกับผู้พิพากษาเดินผ่านกันได้ไม่เจอกัน”

เวลาผ่านมาหลายปี ทีมสถาปนิกยังยืนยันแนวคิดเรื่อง “ศีลธรรม” เหมือนเดิม โดยไปกล่าวที่งานสถาปนิกปี 2559 ว่า

“คนไทยศรัทธาในหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาก อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อไม่ว่าระบอบการปกครองแบบใด ประชาธิปไตย เผด็จการ สังคมนิยม จะไปไม่ถึงไหน หากทุกคนไม่มีศีลธรรม” เขามองว่า หลักศีลธรรมจึงเป็นวิธีคิดยั่งยืน แต่กระแสความคิดนี้เมื่อต้องต่อสู้กับระบบการเมืองปัจจุบัน จะมีคนจำนวนหนึ่งต่อต้าน

ทั้งนี้ กระบวนการทำงานของทีมที่เกิดขึ้น เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย และแนวคิด โดยตั้งหัวข้อว่า “รัฐสภาในฝัน” เปิดให้มีการเสนอเพื่อประชันกัน จนได้ข้อสรุป สถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาตินี้จะต้องสื่อถึงความเป็นชาติ ต้องเรียบง่าย ทรงพลัง และจิตวิญญาณ

‘ศาสนา’ ถูกให้ความสำคัญในช่วงท้ายมาก ต้องสื่อได้ถึงความสงบและสง่างาม ‘พระมหากษัตริย์’ มิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย โดยออกแบบห้องโถงรัฐพิธีอย่างเหมาะสม และต้องทำให้ ‘ประชาชน’ มีศักดิ์ศรีและศรัทธาแห่งความดี

ขณะที่ ‘ผู้แทนผู้ปกครอง’ ต้องมีสติ สุขกายสุขใจ

“คนชอบตั้งคำถาม การออกแบบจะช่วยเปลี่ยนนักการเมืองไม่โกงได้จริงหรือ?” 

เขา ยืนยันชัดว่า คงไม่ได้ แต่เชื่อว่า จะให้สติได้

ในฐานะที่เป็นสถาปนิก เขาบอกถึงสิ่งที่ทีมคิดไปไกลกว่านั้น คือ ทำให้รัฐสภาแห่งใหม่เป็น ‘สถาปัตยกรรมกัลยาณมิตร’ โดยออกแบบให้ตอบโจทย์ความประหยัด ทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุนทรียะ ทำอย่างไรให้รัฐสภาเป็นสถานประกอบกรรมดี ไม่ใช่ทำชั่ว

เปรียบไปก็เป็นดั่ง ‘ห้องพระของชาติ’

“หนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยของไทย ต้องสร้างวาทกรรมเรื่องการเมืองมีศีลธรรม รัฐสภาเป็นสถานประกอบกรรมดีของบ้านเมือง เพื่อประชาชนจะได้เลือกคนดีเข้าสภา ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงคนทำงานในสถานที่แห่งนี้ได้” เขาระบุ

ทั้งหมดอ่านแล้วก็รู้สึก หยึยๆ

ข้อวิจารณ์ สัปปายะสถาน

คนที่วิจารณ์แนวทางการออกแบบ สัปปายะสถาน ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น อ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่พูดเรื่องนี้ไว้ในหลายเวที

บทความที่ละเอียดที่สุดคือ บทสัมภาษณ์ใน Way

เนื่องจากบริบทของการรัฐประหารปี 2490 เป็นการรัฐประหารที่ย้อนกลับไปหาอุดมการณ์อนุรักษนิยม เพราะฉะนั้น ปริมณฑลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมกับการเมืองก็สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

โดยทั่วไปอาคารที่ใช้ความเป็นไทยในการออกแบบ เรามักจะใช้แค่เปลือก รูปทรง แต่แนวคิดและการใช้พื้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดเลย เช่น อาคารราชการของไทย หลังคาเป็นลักษณะทรงไทยเท่านั้น แต่รัฐสภาหลังใหม่นี้กลับตรงกันข้าม ลักษณะเหมือนวัด พื้นที่ (space) ข้างในก็เหมือนวัด ข้างบนตัวอาคารเป็นที่ประดิษฐานจุฬามณีเจติยสถาน เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช นอกจากจะเหมือนวัดแล้ว ก็ยังพาเราย้อนกลับไปหาโลกอดีตโดยสมบูรณ์

แนวคิดของการเกิดอาคารราชการที่มีความเป็นไทย มากับกระแสอาคารแบบไทยหลังการรัฐประหาร 2490 และสอง สิ่งที่สำคัญกับรัฐสภาหลังนี้มากก็คือ กระแสซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2549 ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกโหยหาทางศีลธรรมในปริมณฑลทางการเมืองสูงมาก

ถามว่าทำไมต้องเป็นศาสนา ลองนึกย้อนกลับไปในบริบทการรัฐประหาร 2549 เราจะเห็นอารมณ์ที่ผู้คนเชื่อว่านักการเมืองโกงกินจนเกินเยียวยา การดึงเอาศีลธรรมทางศาสนามาใช้ก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ด้วยความหวังว่าศีลธรรมทางศาสนาจะช่วยกำกับนักการเมืองให้อยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น เมื่อกระแสอาคารราชการต้องมีลักษณะที่เป็นไทยมารวมกับกระแสหลังรัฐประหาร 2549 จึงกลายเป็นแบบอาคารรัฐสภาหลังปัจจุบันที่เราเห็น

คิดดูว่าแม้กระทั่งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เวลาเขาออกแบบ เขาก็ออกแบบให้มีลักษณะของการแสดงให้เห็นอัตลักษณ์เท่านั้น โดยไม่ได้มีแนวคิดมาแยกเป็นห้องพระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นบริวารหมุนรอบเขาพระสุเมรุอย่างที่อาคารรัฐสภาหลังนี้ใช้ในปัจจุบัน

ถ้าลองดูภาพถ่ายทางอากาศของสภา จะเห็นโครงสร้างความเป็น “ศาสนสถาน” อย่างชัดเจน

ผมมองว่า อาคารทางศาสนาก็ควรมีแนวคิดในทางศาสนา อาคารราชการก็ควรมีแนวคิดที่เหมาะกับการเป็นอาคารราชการโดยตรง หรืออาคารเอกชนก็อาจจะต้องเป็นอีกแบบ แต่กลายเป็นว่าอาคารรัฐสภาที่เป็นอาคารราชการกลับเลือกใช้ทั้งรูปแบบและแนวคิดของอาคารทางศาสนา ซึ่งในความเห็นของผม มันผิดสองเท่า

ในเชิงคอนเซ็ปต์และความรู้สึก เขาสร้างพื้นที่ในเชิงศาสนาและมีพระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่บนหัว ลองนึกภาพรัฐสภาแห่งนี้ตอนสร้างเสร็จนะ ถ้าใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องยกมือไหว้ เพราะมีเจดีย์ตั้งอยู่ตรงกลาง เซนส์ของตึกหลังนี้จึงไม่ใช่รัฐสภา แต่เป็นอาคารทางศาสนา ทีมสถาปนิกคาดหวังอย่างไร้เดียงสาว่า พื้นที่ทางศาสนาจะทำให้นักการเมืองละอายและเกรงกลัวต่อบาป เพราะว่าทุกคนจะเป็นคนดีจากการใช้แนวคิดทางศาสนา

ข้อวิจารณ์อีกอันที่น่าสนใจคือ เรื่องภาระการดูแลรักษา (maintenance) อาคารขนาดใหญ่ที่คนมักไม่ค่อยนึกถึงกันตอนสร้าง แต่กลายเป็นภาระอย่างมากในภายหลัง จนทำให้อาคารหลายแห่งถูกทิ้งร้างหรือปิดฟังก์ชันบางอย่างไป (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สุวรรณภูมิ หรือ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ)

แนะนำบทความของ อ.รชพร ชูช่วย – อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างเห็นภาพในเว็บ 101

นอกจากประเด็นด้านการออกแบบแล้ว ยังมีเรื่องปัญหาดราม่ายืดเยื้อของตัวโครงการก่อสร้าง ยาวนานเป็น 10 ปี มีสื่อรวบรวมไว้บ้างเหมือนกัน

ถึงแม้การก่อสร้างจะยืดเยื้อยาวนาน แต่สักวันหนึ่ง รัฐสภาแห่งใหม่ก็คงเสร็จ แต่ก็จะยืนหยัดคู่สังคมไทยไปอีกนาน กับแนวคิดที่ผิดยุคผิดสมัย และการออกแบบภายในที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยและใช้งานต้องทุกข์ทรมาน

หมายเหตุ: ใครที่อยากเห็นภาพก่อสร้างรัฐสภาแบบอัพเดตเรื่อยๆ ดูได้จากเพจ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่