in Economics, Politics

อุตสาหกรรมใหม่

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสิน “ไม่ยุบ” พรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 มกราคม ทางพรรคได้จัดงาน “อย่ากลัวอนาคต” ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต

งานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การนำเสนอของธนาธร, ปิยบุตร และการตอบคำถามที่มีสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

ด้วยบรรยากาศทางการเมือง ณ ตอนนั้น คนย่อมสนใจประเด็นการยุบพรรคเป็นสำคัญ (ที่แถลงโดยปิยบุตร) แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่น่าสนใจและไม่มีคนพูดถึงสักเท่าไรนัก (อาจเป็นเพราะผิดจังหวะไปหน่อย) คือ การนำเสนอของธนาธร ว่าด้วยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

ตัว key message อาจไม่แตกต่างจากที่ธนาธรเคยพูดมาก่อนสักเท่าไร (โดยเฉพาะการพูดเรื่อง hyperloop ก่อนหน้านี้) แต่มีรายละเอียดในเชิงเนื้อหามากขึ้น

สิ่งสำคัญที่ควรเน้นย้ำคือ ไทยควรแก้ปัญหา 2 เรื่องไปพร้อมกัน ได้แก่

  • สร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (ภาคอุตสาหกรรม) ให้เดินหน้า หลังจากไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชนมานาน
  • แก้ปัญหาใหญ่ๆ เชิงโครงสร้าง เช่น การคมนาคม ด้วยอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ (เช่น สร้างอุตสาหกรรมรถไฟ ที่แก้ปัญหาเรื่องเส้นทางรถไฟในไทยไปพร้อมกัน)

ธนาธร พูดในประเด็นเรื่องกรอบงบประมาณ ว่าการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ภายใต้ระบบงบประมาณแบบปัจจุบัน (ต่างกระทรวงต่างเสนอโปรเจคต์ โดยไม่มียุทธศาสตร์ใหญ่) และเสนอให้รีเซ็ตระบบงบประมาณใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่ายากมาก เพราะต้องไปสู้รบกับระบบราชการไทย)

ประเด็นนี้ผมคิดมาสักระยะแล้วเหมือนกัน ว่าเศรษฐกิจโลกภายภาคหน้า (ในอนาคตเท่าที่มองเห็น) จำเป็นต้องใช้พลังการลงทุนของภาครัฐอย่างมาก (G ในเชิงเศรษฐศาสตร์) ซึ่งการลงทุนจ่ายเงินอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดด้วย (implementation & operation) ซึ่งประเด็นที่ธนาธรไม่ได้พูด แต่ผมเป็นห่วงคือ ด้วยสภาพของหน่วยงานภาครัฐไทยในปัจจุบัน (ที่ง่อยลงทุกวัน) จะมีศักยภาพทำโครงการใหญ่ๆ ได้แค่ไหน

แต่หันไปมองทางอื่นแล้วก็ไม่มีทางเลือกอื่น ในยามที่ภาคเอกชนหยุดชะงัก การลงทุนต่างประเทศชะลอตัวทั่วโลก ความหวังเดียวอยู่ที่ตัว G เท่านั้น เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันต่อไปว่าทำอย่างไร G ถึงจะพึ่งพาได้