in Knowledge

Modern China

ภาพจาก Pixabay

อ่านบทความ 100 ปี ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ และหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ของ อ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ (หลายคนอาจรู้จักในฐานะพี่สาวของจอห์น วิญญู) มีประเด็นน่าสนใจควรจดเก็บไว้

ปกติแล้ว เรามักสนใจเหตุการณ์ “ปฏิวัติ” ที่มีการลุกฮือ และเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจ เปลี่ยนระบอบการปกครอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ ซึ่งเหตุการณ์สำคัญในจีนช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านจากระบอบจักรพรรดิ มาสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ คือ

  • ปฏิวัติซินไห่ (Xinhai Revolution) การลุกฮือปี 1911 ที่ส่งผลให้ราชวงศ์ชิงล่มสลาย
  • Northern Expedition สงครามยึดประเทศจีนจากพวกขุนศึกของพรรคก๊กมินตั๋ง ช่วงปี 1926-1928 ที่ทำให้เจียงไคเช็ก ปกครองจีนได้สำเร็จ
  • ชัยชนะของเหมาเจ๋อตงในปี 1949 ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และพรรคก๊กมินตั๋งต้องหนีไปไต้หวัน

แต่เหตุการณ์เชิงวัฒนธรรมที่สำคัญเกิดขึ้นช่วงหลังปฏิวัติซินไห่ คือ การเดินขบวน 4 พฤษภาคม 1919 (May Fourth Movement) ซึ่งเป็น “ต้นสายธาร” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา

อ.วาสนา เขียนเอาไว้ว่า

ในกรณีประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ คนมักจะทุ่มความสนใจให้กับการปฏิวัติซินไฮ่ของซุนยัตเซ็นและการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง โดยถือว่าเป็นจุดหักเหเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่สุดของจีนในศตวรรษที่ 20  ทว่าแท้ที่จริงแล้ว การจับอาวุธขึ้นสู้ของนักปฏิวัติเป็นเพียงผลผลิตปลายสุดของกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาและความกล้าหาญในการตั้งคำถาม ถกเถียง ขัดแย้ง และเปลี่ยนแปลงอย่างยากลำบากยิ่งกว่าการตะลุมบอนกันจนฝุ่นตลบในสมรภูมิรบมากมายหลายเท่านัก

จุดหักเหที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์จีนศตวรรษที่ 20 คือการเดินขบวนประท้วงผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเหล่านักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของจีนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 (พ.ศ. 2462) ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักในนาม “ขบวนการ 4 พฤษภาคม”

ถ้ามองเผินๆ อาจจะเห็นว่าเหตุการณ์ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 เป็นแค่การเดินขบวนประท้วงของหนุ่มสาวในช่วงเวลาวิกฤตของชาติบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น เป็นเพียงการแสดงความอึดอัดไม่พอใจต่อความล้มเหลวของตัวแทนรัฐบาลจีนในที่ประชุมสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ณ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส

การจะเข้าใจเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ต้องเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของจีนยุคนั้น คือ

  • ซุนยัตเซ็น จุดประกายการปฏิวัติซินไห่ปี 1911 โดยจับมือกับขุนศึก นายพลหยวนชื่อไข่ (Yuan Shikai) บีบให้จักรพรรดิปูยีต้องสละบัลลังก์ ปิดฉากระบบจักรพรรดิในช่วงต้นปี 1912
  • แต่ฝ่ายของซุนยัตเซ็น ยอมให้หยวนซื่อไข่ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1913 เพราะเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจทางทหารจากราชวงศ์ชิงเอาไว้ ส่วนฝ่ายของซุนยัตเซ็นหนีลงใต้ไปตั้งฐานที่มั่นที่นานกิง
  • หยวนชื่อไข่ สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิใหม่อีกครั้งในปี 1915 แต่ก็โดนค้านหนัก จนต้องสละบัลลังก์ในปี 1916 (เป็นจักรพรรดิได้ 83 วัน)
  • หลังจากนั้นไม่กี่เดือน หยวนก็ป่วยตาย ฝ่ายผู้สืบทอดของหยวนจึงปกครองประเทศต่อในชื่อ รัฐบาลไป่หยาง (Baiyang Government) แม้จะไม่สำเร็จมากนัก เพราะประเทศแตกเป็นอาณาเขตย่อยๆ ตามขุนศึกที่คุมกำลังในภาคต่างๆ
  • ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี ซึ่งรัฐบาลไป่หยาง พาจีนเข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรและชนะสงคราม ฝ่ายเยอรมันที่แพ้สงครามจึงเสียดินแดนเขตชานตงที่เช่าระยะยาวจากราชวงศ์ชิง แต่ดินแดนตรงนั้นกลับถูกญี่ปุ่นยึดไประหว่างสงครามโลกในปี 1915 พอจบสงครามแล้ว จีนจึงขอคืนในการเจรจาที่ปารีส (Treaty of Versailles) เดือนเมษายนปี 1919
  • โลกยุคหลังสงครามยังสับสนวุ่นวาย สันนิบาตชาติ (League of Nations) ที่ก่อตั้งก็ล้มเหลว จีนเจรจาแพ้ในตอนแรก ชานตงยังเป็นของญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลไป่หยาง และออกมาเดินขบวน 4 พฤษภาคม 1919 (Shandong Problem)

แต่จริงๆ แล้ว ความเคลื่อนไหวของปัญญาชนจีนเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1910s ก็คือช่วงตั้งประเทศใหม่ โดยแนวคิดในยุคนั้นคือการปฏิเสธธรรมเนียมแบบขงจื้อ (Confucianism) แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมจีนอย่าง การแบ่งชนชั้น การทำตามขนบ ผู้หญิงไม่มีปากเสียง ฯลฯ ที่ดำเนินมาต่อเนื่องประมาณ 2000 ปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น

ความชอบธรรมของชนชั้นปกครองจีนทุกยุคทุกสมัยนั้น เป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้ศึกษาปรัชญาขงจื่อและผ่านการสอบเข้ารับราชการนี้ในระดับสูงสุด ซึ่งความชอบธรรมของรัฐราชการดังกล่าว ก็วางอยู่บนฐานรากของความเชื่อว่าจีนเป็นจักรวรรดิของผู้มีอารยธรรมหนึ่งเดียวในโลก ใต้หล้าทั้งมวลผู้ที่มีอารยะมีเพียงแผ่นดินจีน ผิดจากนั้นแล้วย่อมเป็นอนารยชนทั้งหมด และความมีอารยะที่ว่านี้ก็มาจากการที่ฐานรากของอารยธรรมจีนมาจากคติความเชื่อของลัทธิขงจื่อนั่นเอง ซึ่งคติความเชื่อนี้ก็คือการแบ่งสังคมเป็นชนชั้นต่างๆ โดยที่แต่ละชนชั้นต้องปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทของตนให้ถูกต้อง ทั้งยังไม่ส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคมเว้นแต่จะผ่านการสอบปรัชญาขงจื่อ ซึ่งก็กลับไปตอกย้ำวัฒนธรรมที่ต้องการให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมตามฐานันดรของตนและไม่สนับสนุนการเลื่อนชั้นทางสังคมอีกเช่นเคย สิ่งสำคัญที่ช่วยค้ำชูระบบชนชั้นทางสังคมดังกล่าวนี้ก็คือระบบครอบครัวและการบูชาบรรพชนอันสืบเนื่องมาจากคติความเชื่อแบบขงจื่อนั่นเอง

ปัญญาชนจีนยุคนั้นเสนอให้เปลี่ยนมาใช้แนวคิดแบบใหม่ตามโลกตะวันตก การเปรียบเทียบที่ดีที่สุดคือ เฉินตู้ซิ่ว (Chen Duxiu) ซึ่งเป็นผู้นำขบวนปัญญาชนในยุคนั้น บอกให้เลิกใช้ Mr. Confucius แล้วเปลี่ยนมาเป็น Mr. Science และ Mr. Democracy แทน

ความสำคัญแท้จริงของ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” อยู่ที่การออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับฐานรากอารยธรรมจีนว่า มีอะไรในวัฒนธรรมจีนที่ทำให้จีนพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ไม่สำเร็จสักที มีอะไรในความเป็นจีนที่ทำให้ประเทศยังอ่อนแอ และตกเป็นเป้าของการรังแกและเอารัดเอาเปรียบจากต่างชาติ ทั้งที่ได้ผ่านการปฏิวัติและเปลี่ยนจากระบบราชวงศ์มาเป็นสาธารณรัฐแล้ว ทั้งยังเพียรพยายามสร้างสาธารณูปโภคสมัยใหม่ทั้งหลายมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ อู่ต่อเรือ โรงพยาบาล ระบบไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ

เพราะเหตุใดจีนยังคงล้าหลัง ในขณะที่ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจไปแล้ว ทั้งที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ภายหลังจีนนับสิบปี คำถามทั้งหมดนี้งอกเงยออกมาจากคำถามพลิกแผ่นดินข้อเดียว นั่นคือ คติความเชื่อแบบขงจื่อและการบูชาบรรพชนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศจีนหรือไม่

การกล้าตั้งคำถามกับขงจื่อเพียงข้อเดียวนี้ เป็นสิ่งที่นักปฏิรูปหลายต่อหลายรุ่น นับตั้งแต่หลังจีนแพ้สงครามฝิ่นใหม่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงการปฏิรูปร้อยวันเมื่อปี 1898 และเรื่อยมาจนถึงกลุ่มปฏิวัติที่ช่วยกันสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังการปฏิวัติซินไฮ่ ต่างก็ไม่เคยกล้าถามและถกเถียงกันอย่างจริงจัง

ขบวนการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมของปัญญาชนยุคนั้น ถูกเรียกชื่อว่า New Culture Movement ซึ่งน่าสนใจตรงที่ มันเป็นการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมใหม่ เพื่อสู้กับวัฒนธรรมแบบเก่า (อิงลัทธิขงจื้อ) ที่อยู่กับประเทศจีนมา 2 พันปี (โดยราชวงศ์ชิงคือร่างสุดท้ายของลัทธิขงจื้อ) มันจึงเป็นการต่อสู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะมีทั้งเรื่องแนวคิด (วิทยาศาสตร์-ประชาธิปไตย-สิทธิสตรี-ความเท่าเทียม แบบตะวันตก) ภาษา (ปัญญาชนใหม่เสนอให้ใช้ภาษาจีนแบบทั่วไป แทนจีนคลาสสิคที่ใช้แต่ในราชสำนัก) วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ (ด้วยวิธีมองแบบตะวันตกยุคใหม่) และวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิยาย ฯลฯ

New Culture Movement ขึ้นถึงจุดพีคในเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 เพราะมีเรื่องการเจรจาชิงดินแดนมาร่วมด้วย ทำให้นักศึกษาออกมาเดินขบวน แต่หลังจากนั้น ขบวนการก็เริ่มเสื่อมพลังลง เพราะแต่ละก๊กในขบวนก็แยกย้ายกันไป

สิ่งที่น่าสนใจคือ New Culture Movement กลายเป็น “จุดเริ่มต้น” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาถัดมา (ซึ่งภายหลังก็คือฝ่ายที่ชิงอำนาจรัฐได้สำเร็จ) โดย Chen Duxiu และคู่หู หลี่ต้าเส้า (Li Dazhao) ที่รู้สึกว่าเดินขบวนอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำอะไร “มากกว่านั้น” ร่วมกันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1921

หลี่ต้าเส้า ถือเป็น “อาจารย์” ของเหมาเจ๋อตงก็ว่าได้ เพราะเขาเป็นหัวหน้าบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ศูนย์รวมปัญญาชนในยุคนั้น ซึ่งเหมาในวัยหนุ่ม ย้ายตามอาจารย์อีกคน Yang Changji มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 1918 และมาทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ใต้สังกัดของหลี่ต้าเส้า ทำให้เหมาได้เข้าร่วมขบวนการปัญญาชนในยุคนั้นด้วย (ภายหลังเหมากลับไปเป็นครูที่ฉางซาบ้านเกิด และร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สาขาฉางซาในปี 1921 ด้วย)

ทั้ง New Culture Movement และ May Fourth Movement ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของจีนยุคใหม่ แนวคิดของปัญญาชนยุคนั้นแตกต่างหลากหลาย เพราะเผชิญทั้งการกดทับทางวัฒนธรรมของราชวงศ์ชิงมายาวนาน (ไม่มีที่ปล่อยของออก) บวกกับสถานการณ์โลกยุคนั้นที่เกิดพลวัตรอย่างมากด้วย

New Culture Movement และ May Fourth Movement จึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของจีนยุคใหม่ (ที่มีหลายแบบ) ทั้งฝ่ายของพรรคก๊กมินตั๋ง และฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ที่มีศัตรูร่วมกันคือราชวงศ์ชิง และรัฐบาลไป่หยาง) ถึงแม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะชนะในอีก 30 ปีต่อมา (1949) แต่ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในปัจจุบัน ก็ล้วนแต่สร้างขึ้นบนแนวคิดในช่วงเวลานี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจาก “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” นั้นหยั่งลึกลงไปถึงสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดและเป็นฐานรากอันทรงอิทธิพลที่สุดต่อโครงสร้างสังคมขงจื่อ มีการตั้งคำถามกับความชอบธรรมของปิตาธิปไตย การบูชาบรรพชนที่อ้างอิงลัทธิชายเป็นใหญ่ การเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมให้สมาชิกครอบครัวเพศหญิง การต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน และการเรียกร้องสิทธิในความรักเสรีและการมีอธิปไตยในเนื้อตัวและชีวิตของตนเอง โดยไม่ต้องยอมรับคำสั่งของผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือประเพณีปฏิบัติของสังคมที่สืบทอดกันมานับร้อยนับพันปีโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรม

ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมจีนอันเนื่องมาจาก “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนระบอบการปกครองในทันที แต่กลับนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากมายและส่งผลยาวนานจนล่วงเลยจุดสิ้นสุดของศตวรรษที่ 20 ด้วยซ้ำ

รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ในหนังสือเรื่อง A Bitter Revolution: ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ของสำนักพิมพ์ Bookscape ซึ่งจะตามหามาอ่านกันต่อไป