in Economics

Keyu Jin: The New China Playbook

มีโอกาสได้ฟังการบรรยายของ Keyu Jin อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics (LSE) ผู้เขียนหนังสือ The New China Playbook ออกวางขายเมื่อปี 2023 เลยมาจดบันทึกไว้

Jin เป็นคนจีนเต็มตัว เกิดเมื่อปี 1982 ที่ปักกิ่ง ตอนอายุ 14 ย้ายมาเรียนที่อเมริกาจนจบ Harvard และข้ามมาเป็นอาจารย์ที่ LSE อีกที ในแง่คุณสมบัติคงครบถ้วน ทั้งความเป็นคนจีน ความอิสระในการวิจารณ์จีน และองค์ความรู้จากสาขาวิชาที่เรียนจบมา

เธอเขียนหนังสือ The New China Playbook เพื่อบอกว่า มุมมอง “แบบสรุป” ที่สื่อตะวันตกมีต่อจีนนั้นเป็นเรื่องผิด เพราะสภาพเศรษฐกิจ-สังคมของจีนยุคปัจจุบันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก จึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเพื่ออธิบายรายละเอียดในเชิงลึกมากขึ้น

ประเด็นหลักที่ Jin นำเสนอคือ จีนนั้นปกครองโดยระบอบพรรคคอมมิวนิสต์เป็นใหญ่ รวมศูนย์การปกครองเข้ามาที่ศูนย์กลางพรรคอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการกระด้างกระเดื่องก็จริง แต่ในทางเศรษฐกิจนั้น จีนกระจายศูนย์เอามากๆ (เธอใช้คำว่า extreme economic decentralization) เพราะมีระบบ “นายกเทศมนตรี” และ “เลขาธิการมณฑล” ที่ปกครองพื้นที่ของตัวเอง มีอิสระในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคุมทรัพยากรทั้งที่ดิน (ใครจะมาทำธุรกิจ ทำโรงงาน ต้องเช่าที่ดินจากรัฐบาลท้องถิ่น) และทุน (ธนาคารท้องถิ่นหรือ local state banks)

ต่อให้ไม่มีเลือกตั้ง ผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้จะแข่งขันกันเอง สร้างผลงานการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดันตัวเลข GDP เพื่อแย่งชิงการโปรโมทจากรัฐบาลกลาง เข้าไปครองอำนาจในโปลิตบูโร (สีจิ้นผิงเองก็เคยเป็นเลขาธิการมณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้มาก่อน) กลายเป็นระบบ check and balance อีกแนวทางหนึ่ง เศรษฐกิจจีนจึงถูกผลักดันโดยระดับมณฑลอย่างมาก เมืองชื่อไม่ดังในจีนอาจกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจหรือบ้านเกิดของแบรนด์ดังระดับโลกก็ได้ ตัวอย่างคือ เมือง Hefei ที่คนทั่วไปไม่รู้จัก เป็นที่ตั้งของโรงงานรถยนต์แบรนด์ Nio

ตรงนี้มีเกร็ดเล็กๆ ว่า role model ของจีนนั้นไม่ใช่สหรัฐอเมริกาที่แทบไม่มีภาคการผลิตเหลืออีกแล้ว แต่เป็นเยอรมนี เจ้าแห่งโรงงานผลิตสิ่งต่างๆ ของโลกต่างหาก

Jin ใช้คำว่า “mayor economy” เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้นำมณฑล ซึ่งเธอบอกว่าในภาษาจีนนั้น คำนี้บังเอิญออกเสียงคล้ายๆ กับคำว่า “market economy” กลายเป็นเรื่องตลกอย่างหนึ่ง แต่ก็ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าเศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนอย่างไร

อย่างไรก็ตาม มุมมองของ Jin ต่อจีนก็ไม่ได้ดีไปซะทั้งหมด เพราะเธอบอกว่าข้อเสียด้านกลับของ mayor economy นี่ล่ะที่ทำให้เกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ เกิดหนี้มหาศาลที่ระดับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะแข่งกันสร้างโน่นสร้างนี่จนขาดความสมดุล เร่งสร้างแต่ GDP กันอย่างเดียวจนตอนหลังๆ การลงทุนเริ่มไม่คุ้มค่า หนี้เหล่านี้กลายเป็นภาระผูกพันให้รัฐบาลจีนต้องแก้กันไปอีกยาวนาน

ปัญหาอีกอย่างของจีนคือการขาดแคลนแรงงาน แต่ไม่ได้เป็นเรื่อง ageing society ว่าคนแก่ตัวลง ปัญหาของจีนคือ skill mismatch เพราะพ่อแม่คนจีนส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อทำงานออฟฟิศ แต่จีนเป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตของโลก ต้องการแรงงานเข้าสู่โรงงาน ซึ่งคนจีนยุคใหม่ไม่มีใครอยากทำงานโรงงานอีกต่อไปแล้ว จึงกลายเป็นปัญหาสองทางคือ ไม่มีคนงานไปทำงานโรงงาน ในอีกทางก็คือคนชั้นกลางรุ่นใหม่ตกงาน ไม่มีงานทำ

ด้วยระบบค่านิยมแบบจีน พ่อแม่ยุคใหม่ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ดังๆ เงินเหล่านี้อาจเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของรายได้ทั้งครอบครัว เมื่อเจอกับปัญหาเรียนสูงๆ เครียดๆ แพงๆ แล้วจบมาไม่มีงานทำ จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมตามมา

อีกประเด็นน่าสนใจที่ Jin พูดถึงคือ “ความเป็นคุณพ่อคุณแม่รู้ดี” (paternalism) ที่ฝังรากลึกยาวนานในวัฒนธรรมจีน เราจึงเห็นรัฐบาลจีนพยายามปกครอง สอดส่อง ควบคุมประชาชน กำหนดว่าต้องมีลูกกี่คน ใช้ชีวิตอย่างไร เล่นเกมออนไลน์ได้วันละกี่ชั่วโมง ฯลฯ (เธอใช้คำว่า paternalistic package) เช่นเดียวกับพ่อแม่คนจีน พยายามเลือกสิ่งดีๆ ให้กับลูกของตัวเอง

เมื่อมุมมองในภาพรวมของจีนคือ security over liberty เราจึงไม่เห็นโอกาสที่จีนจะใช้เศรษฐกิจระบบตลาด (market economy) อย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ และเป็นคำอธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นจีนไม่ได้เติบโตตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และเป็นตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนแย่ที่สุดในเอเชีย (ลงทุน 100 หยวนในตลาดปี 2000 จะยังเป็น 100 หยวนเท่าเดิมในปี 2020) สาเหตุมาจากการแทรกแซงของรัฐบาลในมิติต่างๆ นั่นเอง (ภายใต้ชื่อสโลแกนว่า “คุ้มครองนักลงทุนรายย่อย”)

หนังสือของ Keju Jin ให้มุมมองเชิงลึกว่า เศรษฐกิจจีนโตขึ้นมาได้อย่างไร และในด้านกลับเล่าว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร (เธอบอกว่า inefficient but stable) แต่ก็ยังไม่ได้ฉายภาพให้เห็นชัดนักว่าในอนาคตจีนจะก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไปด้วยวิธีไหน