in Economics

เงินเฟ้อเกิดจากการขาดความสามารถในการผลิต

อ่านบทความเรื่อง The Physical Capacity Shortage View of Inflation ที่เขียนโดย Alex Williams นักเศรษฐศาสตร์ของ Employ America หน่วยงานวิจัยด้านนโยบายแรงงานและการจ้างงาน

บทความนี้พูดถึงภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2022 แต่เน้นเฉพาะบริบทของอเมริกา โดยพยายามชี้ว่า สาเหตุของเงินเฟ้อในอเมริกา มักถูกมองว่ามาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ปัญหาซัพพลายเชน (เช่น โรงงานในจีนปิด ท่าเรือปิด สงครามยูเครน)
  • รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแรงเกินไปตอนปี 2020-2021
  • แรงงานอเมริกันไม่อยากทำงาน (The Great Resignation) ทำให้คนงานขาด

บทความนี้เสนออีกมุมมองว่า เงินเฟ้อในอเมริกาเกิดจากขีดความสามารถในการผลิตที่ไม่เพียงพอ (shortage of physical capacity) ซึ่งเกิดจากการสั่งสมของปัญหาในภาคอุตสาหกรรมสหรัฐมายาวนาน และหลักๆ แล้วมีสาเหตุมาจากทุน (capital) มากกว่าแรงงาน (labor)

บทความยกตัวอย่าง 3 อุตสาหกรรมที่เจอปัญหานี้ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์, การสร้างบ้าน และน้ำมัน

เซมิคอนดักเตอร์

ข่าวเรื่องชิปขาดแคลนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก บทความนี้ชี้ว่าปัญหาจริงๆ ต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงปี 2000 หลังธุรกิจดอทคอมพังทลายในปี 1999 ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐ เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็น offshoring ย้ายโรงงานการผลิตไปยังเอเชียแทน (The World is Flat) ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็เห็นดีเห็นงามกับการที่บริษัทชิปสัญชาติอเมริกันไม่ต้องลงทุนมหาศาลสร้างโรงงานชิปเอง ทำเฉพาะงานที่มีมูลค่าสูงๆ อย่าง R&D เพียงอย่างเดียว เปลี่ยนมาใช้โมเดลธุรกิจแบบ Fabless ไร้โรงงานแทน กำลังการผลิตชิปของโลกประมาณ 70-80% ตอนนี้อยู่ที่ไต้หวันและจีน

แต่เมื่อเจอกับปัญหา covid ทำให้อเมริกาต้องพึ่งพากำลังการผลิตของต่างชาติเกือบทั้งหมด (เจอจีนปิดโรงงาน!) ต้องพึ่งพาเรือในการขนส่งชิปข้ามทวีปมา (เจอจีนปิดท่าเรือ!) ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบกันหมดเพราะชิปไม่พอ ที่โดนหนักๆ คืออุตสาหกรรมไอที อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ชิปไฮเทคในปัจจุบันผลิตไต้หวัน ชิปโลว์เทคผลิตที่จีน สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่ากลับเป็นชิปโลว์เทค ที่ใช้ในวงกว้างกว่ามาก (เช่น รถยนต์) และส่งผลให้ราคารถยนต์ในอเมริกาพุ่งขึ้นสูงกว่าอุปกรณ์ไอทีซะอีก

ปัญหานี้แก้ยาก เพราะคนมักมองไม่ค่อยเห็นความสำคัญของชิปโลว์เทคมากนัก และการสร้างโรงงานผลิตชิปใหม่ๆ ขึ้นในอเมริกาก็ต้องใช้เวลาหลายปี

สร้างบ้าน

ธุรกิจสร้างบ้านและอสังหาริมทรัพย์ เจอปัญหาคล้ายๆ กับของวงการไอที ที่เคยเผชิญวิกฤตดอทคอมปี 1999 จนภาคธุรกิจต้องลดเงินลงทุนลง

ของอุตสาหกรรมบ้าน เจอวิกฤตปี 2008 ทำให้อุตสาหกรรมสร้างบ้านถดถอยลง โดยที่ไม่เคยมีใครเข้ามาช่วยเหลือ (รัฐอุ้มแบงค์ที่ออกสินเชื่อบ้านจนพัง แต่ไม่ได้อุ้มธุรกิจก่อสร้างบ้าน) ทำให้สต๊อกบ้านหลังปี 2008 มีจำนวนน้อยลงกว่าเดิมมาก

ความถดถอยของตลาดบ้านยุคหลังปี 2008 ยังทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องถดถอยตามไปด้วย เช่น ธุรกิจวัสดุไม้ ท่อประปา ประตูโรงรถ ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องปลดคนงาน ปิดโรงงานเพื่อให้อยู่รอดตามดีมานด์ที่ลดลง

แต่เมื่อตลาดบ้านกลับมาฟื้นตัว (กราฟสีฟ้าอ่อน) ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ไม่ได้กลับมาเปิดตามในระดับใกล้เคียงกับของเดิม (ก่อนปี 2008 ดูกราฟสีน้ำเงินเข้มประกอบ) ผลคือบ้านในอเมริกาจึงมีราคาพุ่งมาก เพราะวัสดุก่อสร้างขาดแคลนนั่นเอง ฝั่งผู้ประกอบการเองก็ไม่กล้าเข้ามาเต็มรูปแบบ เพราะเจ็บตัวหนักมาแล้วตอนปี 2008

ราคาบ้านพุ่งแรงมาก แต่คนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างบ้าน ไม่ได้โตตาม

ตรงนี้เกิดคำถามแบบเดียวกับอุตสาหกรรมชิป ว่าปัญหาวัสดุก่อสร้างขาดแคลน นั้นไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากแรงงานขาดแคลน แต่มาจากผู้ประกอบการนั้นไม่กล้าเพิ่มกำลังการผลิตมาก (lack of physical capacity) การจ้างงานเพิ่มก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากนัก

น้ำมัน

อเมริกาเคยมีอุตสาหกรรมน้ำมันที่ยิ่งใหญ่มาก่อน (ในยุค Standard Oil / Rockefeller) แต่พอน้ำมันหมดก็ร้างรากันไปนาน จนกระทั่งช่วงปี 2010 เป็นต้นมา สามารถพัฒนาเทคนิคการขุดน้ำมันแยกจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ทำให้การผลิตน้ำมันบนแผ่นดินอเมริกากลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันของอเมริกา ทำให้ซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกมีมากเกินความต้องการ และบีบให้กลุ่มประเทศ OPEC ต้องลดราคาน้ำมันลงในช่วงปี 2015 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐจึงหดตัวตามไปด้วย (เพราะต้นทุนค่าขุดแพงกว่าราคาขาย)

ในช่วงปี 2015-2020 เราเห็น OPEC ใช้ยุทธศาสตร์ลดราคาน้ำมันสู้หลายรอบ และราคาน้ำมันก็ตกแรงสุดช่วงปี 2020 ตอนที่ล็อคดาวน์หนักๆ

คลิปข่าวจากทีวี PBS อเมริกา พูดถึงความล่มสลายของธุรกิจน้ำมันใน Dakota ช่วงปี 2016

แต่พอปี 2021 เป็นต้นมา มาตรการล็อคดาวน์เริ่มคลี่คลาย อุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่อีกเหมือนกัน เพราะนักลงทุนยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้ากลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง

ทั้ง 3 กรณี แสดงให้เห็นว่าปัญหากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ 3 อย่าง (เซมิคอนดักเตอร์ บ้าน น้ำมัน) ไม่ได้เกิดจากแรงงานขาดแคลนเป็นปัจจัยหลัก (มีบ้างแหละแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก) แต่เกิดจากความระมัดระวังในการลงทุน (capital discipline) ของภาคเอกชน เพราะถ้าลงทุนเยอะ เจ็บหนักไปก็ไม่มีใครช่วย

แต่เมื่อนำปัจจัยสินค้าขาดแคลนมารวมๆ กันเข้า แถมเป็นสินค้าที่กระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย (เช่น เซมิคอนดักเตอร์กระทบราคารถยนต์ น้ำมันกระทบราคาตั๋วเครื่องบิน) จึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักไปทั่ว

ทางแก้ของปัญหาเหล่านี้คือ ภาครัฐต้องออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการผลิต (pro-investment policy) ให้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ง่ายในทางปฏิบัติ บทความเสนอว่าการออกนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (อย่างเรื่อง Fed ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบให้การลงทุนสร้างโรงงานน้อยลงไปอีก เนื่องจากเงินทุนมีราคาแพงขึ้น) นั้นไม่น่าจะได้ผลเท่ากับการออกนโยบายเจาะเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแตกต่างกัน

ภาพประกอบ: โรงงานผลิตชิปของ Intel ที่กำลังก่อสร้างใน Arizona และต้องใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะเสร็จ