in Knowledge

ฮิญาบ ใส่ก็การเมือง ถอดก็การเมือง

ภาพประกอบ Adam Sabljaković จาก Pexels

หนึ่งในเรื่องเล่าที่ได้ฟังแล้วสั่นคลอนความเชื่อเดิมๆ ของผมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว ในร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งที่กัวลาลัมเปอร์

เพื่อนชาวมาเลย์เชื้อจีนคนหนึ่งพาไปกินข้าวเย็นหลังเสร็จงาน ระหว่างมื้ออาหาร เขาทักขึ้นมาว่า คุณรู้ไหมว่า ชาวมุสลิมในมาเลเซียสมัยก่อนเปิดกว้างกว่าสมัยนี้ เขาเคยไปเยี่ยมบ้านเพื่อนคนหนึ่งในชุมชนห่างไกล และเจอกับญาติของเพื่อนเป็นสตรีสูงอายุที่เติบโตทันสมัยอาณานิคมของอังกฤษ พอรู้ว่าลูกหลานพาเพื่อนมาที่บ้านก็ออกมาต้อนรับ และยกมือมาให้จับเช็คแฮนด์

“ซึ่งในสมัยนี้ ผมทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว” เขากล่าว พร้อมเล่าว่าค่านิยมของมุสลิมในยุคหลังๆ ที่หันมาเคร่งศาสนามากขึ้น ผู้หญิงไม่สามารถออกมาพบคนแปลกหน้าได้ ไม่ต้องพูดถึงการจับมือเลย

เรื่องนี้สะเทือนความเชื่อของผมที่เคยคิด (แบบง่ายๆ) ว่าโลกก้าวหน้าและเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะมาพบความจริงว่า ค่านิยมทางสังคม (นับรวมศาสนา) นั้นลื่นไหล มีพลวัตร เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามบริบททางการเมืองและสังคมของแต่ละยุคสมัยต่างหาก

(หลังจากนั้นมา ผมก็พบเจอเรื่องแบบเดียวกันในอีกหลายประเทศ แต่ครั้งแรกก็สะท้านสะเทือนความคิดของตัวเองมากหน่อย)

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้อ่านบทความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามใน BBC ที่สะเทือนความคิดในลักษณะเดียวกัน นั่นคือเรื่องของผ้าคลุมผม (ฮิญาบ หรือ hijab) ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการแต่งกายของสตรีมุสลิม แต่ในมุมมองใหม่ที่พลิกวิธีคิดไปมาก

ผมเชื่อว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก เช่น ประเทศไทย หรือประเทศตะวันตกที่นับถือคริสต์เอง มักมีมุมมองคล้ายๆ กันจากข่าวที่ได้ยินได้เห็นเสมอมา ว่าคนมุสลิม (จำนวนหนึ่ง not all) ต้องการใส่เพราะเป็นความเชื่อทางศาสนาส่วนบุคคล ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ (รวมตัวเองด้วย) ก็ไม่มีปัญหาอะไร และมีเพื่อนหลายคนที่ใส่กัน (ที่น่าสนใจคือเคยมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนอิรัก 2 คน คนนึงใส่ อีกคนไม่ใส่)

แต่ ในบางประเทศ (เช่น ฝรั่งเศส) ที่มองว่าเป็นการแสดงออกเรื่องศาสนาในที่สาธารณะ แล้วออกกฎห้ามใส่ในสถานศึกษาหรือสถานที่ของรัฐ จนเป็นประเด็นขัดแย้งกันใหญ่โต ดังที่เราได้เห็นในข่าวกันบ่อยๆ

มุมมองของคนนอกแบบผม คงเป็นไปในเชิงว่า

“อยากใส่ส่วนตัวไม่มีปัญหา แต่ถ้าแบนห้ามใส่แล้วเป็นดราม่า” 

อย่างไรก็ตาม บทความ BBC ข้างต้นชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศมุสลิมบางประเทศนั้นกลับกัน นั่นคือ

“ไม่อยากใส่ส่วนตัวไม่มีปัญหา แต่ถ้าบังคับใส่แล้วเป็นดราม่า”

สถานการณ์แบบนี้เกิดในประเทศกลุ่มแอฟริกาเหนือ เช่น โมร็อกโค ตูนิเซีย ในช่วงหลังๆ ที่อัตราการสวมใส่ฮิญาบลดลงเรื่อยๆ แทน

เหตุผลมาจากบริบททางการเมืองของกลุ่มประเทศย่านนี้ ที่เดิมทีมักถูกปกครองโดย “ขุนศึก” นายทหารที่รัฐประหารแย่งอำนาจมาในยุคเป็นเอกราชจากประเทศตะวันตก (post-independence) แล้วปกครองประเทศมายาวนาน จนถูกโค่นล้มในช่วงอาหรับสปริงราวปี 2010-2012

ในความเคลื่อนไหวช่วงอาหรับสปริง ประชาชนหลายประเทศใช้ศาสนาเป็นธงรวมใจกันเพื่อต่อสู้กับเหล่าขุนศึก (Islamism) จึงเป็นเหตุว่ากลุ่มผู้นำศาสนาขึ้นมารุ่งเรืองหลังโค่นกลุ่มทหารได้ เช่น กรณีของกลุ่ม Muslim Brotherhood ในอียิปต์ที่ขึ้นมาปกครองประเทศได้สำเร็จ ส่งผลให้ฮิญาบกลับมาเยอะขึ้น หลังจากที่ห่างหายไปนานหลายสิบปี

Egyptian women began throwing off traditional face coverings nearly a century ago and by the mid-twentieth century the veil had almost completely disappeared.

But the hijab made its first re-emergence in the mid-seventies when then-President Anwar Sadat gave a green light to the Muslim Brotherhood to operate on university campuses to fight off political rivals from the secular left who had developed considerable influence over society in the previous decades.

The spread of the hijab continued almost unabated until 2013 when the Muslim Brotherhood President Mohammed Morsi was removed from power.

อย่างไรก็ตาม อำนาจของกลุ่มเคร่งศาสนาไม่ได้ยั่งยืนยาวนาน เพราะเมื่อขึ้นมาปกครองประเทศแล้วบริหารไม่ได้ ก็เกิดกระแสต้านในมุมกลับ

เมื่อภาพลักษณ์ของฮิญาบผูกกับกลุ่มเคร่งศาสนา พอความนิยมตกลง ก็พลอยทำให้คนไม่อยากใส่ฮิญาบตามไปด้วยนั่นเอง

Hostility to Islamist symbols – the hijab foremost amongst them – was palpable.

กระแสต่อต้านในประเทศเหล่านี้ มีทั้งการปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงที่ใส่ฮิญาบเข้าร้าน หรือปฏิเสธไม่ให้คนที่ใส่ชุดว่ายน้ำ (แบบมุสลิม) ลงสระ เพราะถือเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อกลุ่มเคร่งศาสนา

ในอียิปต์เพิ่งมีเคสแทงผู้หญิงตายเพราะไม่ยอมแต่งงานด้วย ซึ่งตัวคดีหลักก็ดราม่าแล้ว ดันมีผู้นำศาสนาชื่อดังออกมาบอกให้ผู้หญิงต้อง “ปกคลุมร่างกายให้มิดชิด” เพื่อป้องกันตัวจากอันตรายแบบนี้ ยิ่งทำให้ดราม่ากันไปอีก

กล่าวคือ การสวมใส่ฮิญาบนั้นเป็นดราม่าทั้งในประเทศที่ไม่ได้นับถืออิสลามเป็นหลัก และทั้งในประเทศที่นับถืออิสลามเป็นหลัก ซึ่งผมคงไม่มีความรู้ด้านนี้มากนักที่จะตัดสินว่าแบบไหนดี แต่ต้องบอกว่าการได้รู้เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหม่ที่เปิดหูเปิดตามากเช่นกัน