in Movies

Hamilton

Disclaimer: มีการสปอยล์เนื้อเรื่องอย่างมาก

หลังจากอ่านบทความเกี่ยวกับ Hamilton เรื่องการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับสีผิวในสหรัฐ เลยลองดู Hamilton เวอร์ชันภาพยนตร์อีกครั้ง (มีใน Disney+) หลังเคยลองพยายามมารอบหนึ่งแล้วไม่ค่อยอินเท่าไร ดูได้นิดเดียวก็เบื่อ แต่รอบนี้อินแล้ว

Hamilton เป็นละครเพลงบรอดเวย์ที่เริ่มแสดงในปี 2015 และยังแสดงมาจนถึงปัจจุบัน (แถมยังขยายไปยังโรงละครในเมืองอื่นๆ เช่น ชิคาโกและลอนดอน) ในช่วงที่เริ่มแสดงใหม่ๆ สร้างปรากฏการณ์ตั๋วขายดีถล่มทลาย ชนิดว่าต้องจองกันข้ามปี

เนื้อเรื่องของ Hamilton เป็นชีวประวัติของ Alexander Hamilton หนึ่งในกลุ่มผู้มีบทบาทก่อตั้งประเทศอเมริกา (ที่เรียกกันว่า Founding Fathers) ในช่วงทำสงครามปลดปล่อยตัวเองจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

George Washington (ซ้าย) Alexander Hamilton (ขวา)

นิยามของ Founding Fathers นั้นไม่ตายตัว เพราะมีคนจำนวนมากที่เข้าร่วมเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อย่างการประกาศอิสรภาพ การเขียนรัฐธรรมนูญ ฯลฯ แต่ที่เห็นชอบกันโดยทั่วไป กลุ่ม Founding Fathers ที่โดดเด่นและมีบทบาทสูง มีทั้งหมด 7 คน เรียงตามนามสกุลคือ

  • John Adams [2]
  • Benjamin Franklin
  • Alexander Hamilton
  • John Jay
  • Thomas Jefferson [3]
  • James Madison [4]
  • George Washington [1]

ในจำนวนนี้มี 4 คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (คนที่วงเล็บไว้ข้างหลังชื่อ ว่าเป็นประธานาธิบดีคนที่เท่าไร) ส่วน Benjamin Franklin ยังมีบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่เราคุ้นชื่อจากตำราเรียน คนที่ดังน้อยกว่าคนอื่นหน่อยเหลือแต่ Alexander Hamilton และ John Jay แค่สองคน

กลุ่มเพื่อนวัยหนุ่มของ Hamilton มีคนสำคัญคือ Marquis de Lafayette (ซ้ายสุด) ที่จะมีบทบาทอย่างสูงในการปฏิวัติฝรั่งเศส

คนในกลุ่ม Founding Fathers ส่วนใหญ่มักเป็นคนชั้นสูง เกิดในตระกูลใหญ่ร่ำรวยจากนิวยอร์กหรือเวอร์จิเนีย แต่ชีวิตของ Alexander Hamilton นั้นดราม่าสุดๆ เพราะเขาไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นเด็กกำพร้าในหมู่เกาะเล็กๆ กลางทะเลแคริบเบียน กว่าจะได้หอบเสื่อผืนหมอนใบรอนแรมมาถึงนิวยอร์กก็อายุ 17 แล้ว แต่ด้วยความสามารถของเขาก็กลายเป็นหนึ่งในทหารคนสนิท มือขวาของนายพล George Washington และภายหลังได้เป็นรัฐมนตรีคลังคนแรกของสหรัฐอเมริกา

ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันของ Alexander Hamilton ทำให้ Lin-Manuel Miranda นักแต่งเพลงชาวอเมริกันเชื้อสายเปอโตริโกประทับใจ ตัวเขาเองประสบความสำเร็จกับการสร้างละครเพลงวัยรุ่น In the Heights ในปี 2005 (ภายหลังถูกดัดแปลงเป็นหนังด้วย) เมื่ออ่านหนังสือชีวประวัติของ Alexander Hamilton เขาจึงเกิดไอเดียทำละครเพลงย้อนยุค ที่นำดนตรียุคใหม่ (hip-hop) เข้ามาผสมผสานกับประวัติศาสตร์ ชื่อแรกของโปรเจคนี้คือ The Hamilton Mixtape น่าจะสะท้อนถึงไอเดียการมิกซ์เพลงเข้ามาได้เป็นอย่างดี

Thomas Jefferson (ซ้าย) James Madison (ขวา)

คอนเซปต์อีกอย่างของ Hamilton คือการเล่าประวัติศาสตร์ของ “คนขาว” แต่ใช้นักแสดงที่เป็นคนผิวสีเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัว Lin-Manuel Miranda เองที่เป็นละติน นักแสดงผิวดำ รวมถึงเอเชีย เพื่อสะท้อนความเป็นอเมริกันยุคปัจจุบันที่เคารพเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้นกว่าในอดีต เป็นการ “ท้าทาย” มุมมองของคนดูว่าหากลองเปลี่ยนสีผิวคนแสดงแล้ว เรายังจินตนาการเห็นภาพประวัติศาสตร์แบบเดียวกันไหม

“America then, as told by America now.”

“We’re telling the story of old, dead white men but we’re using actors of color, and that makes the story more immediate and more accessible to a contemporary audience.”

ชีวิตจริงของ Alexander Hamilton เป็นคนขาวเชื้อสายสกอต ที่เกิดในเกาะกลางทะเลแคริบเบียน ชีวิตในวัยเด็กประสบปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่พ่อทิ้ง แม่ป่วยตาย เมื่อญาติรับมาดูแล ก็เจอเฮอริเคนถล่มเกาะซะอีก แต่ด้วยความสามารถ ความฉลาดเฉลียว ปัญญา ทำให้เขามีโอกาสได้ “เข้ากรุง” มายังนิวยอร์ก

แต่เมื่อเข้ามายังนิวยอร์ก มุมมองของเขาต่อแผ่นดินใหญ่ของอเมริกา ก็ยังเปรียบตัวเองเป็น “ผู้อพยพ” (immigrant) ดังเห็นได้จากหลายเพลงในเรื่อง ซึ่ง Miranda จับเอาแกนหลักตรงนี้มาขับเน้นให้ละครเพลง Hamilton มีธีมเรื่องผู้อพยพให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

ละครเพลง Hamilton เริ่มทดสอบแสดงครั้งแรกในปี 2013 ก่อนแสดงจริงในปี 2015 รูปแบบของละครเป็นการร้องเพลงแทบทั้งเรื่อง (sung-through) แทบไม่มีบทสนทนาที่เป็นเสียงปกติเลย (ในเรื่องมีเพลงทั้งหมดถึง 46 เพลง! ร้องกันได้เยอะขนาดนี้ น่าทึ่งมาก)

นอกจากการใช้เพลงสมัยใหม่เป็นวิธีการเล่าเรื่องแล้ว ความลุ่มลึกของ Hamilton ยังอยู่ที่เนื้อเพลงอันคมคาย มีสำบัดสำนวนมากมาย (ตัวอย่างเช่น เพลงเด่นของเรื่องคือ My Shot สามารถตีความได้หลายอย่าง ทั้งช็อตของเหล้าที่กิน, โอกาสทำตามความฝัน และกระสุนที่ยิงใส่ตัวเอก Alexander Hamilton ในตอนจบ)

คนที่รู้ประวัติศาสตร์อเมริกันแบบจริงจัง ยังบอกด้วยว่า Miranda ไปนั่งอ่านจดหมาย เอกสาร ของ Alexander Hamilton อย่างละเอียด แล้วนำประโยคจริงๆ ที่ Hamilton เขียนไว้มาใส่ไว้ในเพลงด้วย (อันนี้เกินความสามารถที่เราจะเข้าใจไปได้แล้ว) แสดงให้เห็นถึงความเก่งและจริงจังของ Miranda ได้เป็นอย่างดี

โครงเรื่องหลักของ Hamilton แบ่งออกเป็น 2 Act (ละครเวทีมีพักครึ่ง) ความยาวรวมประมาณ 2.5 ชั่วโมง ครึ่งแรกเป็นชีวิตของ Alexander Hamilton ที่เริ่มเข้ามาสร้างตัวในนิวยอร์ก แต่งงานสร้างครอบครัวกับลูกสาวตระกูลไฮโซนิวยอร์ก เป็นทหารร่วมรบในสงครามปฏิวัติอเมริกา และไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นทหารคนสนิท เป็นมือขวาของนายพล George Washington ที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพปฏิวัติ หลังชนะสงคราม Battle of Yorktown ที่ยุติศึกระหว่างอังกฤษกับอเมริกา เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคลัง Secretary of the Treasury ในคณะรัฐมนตรีของ Washington

ครึ่งหลังเป็นชีวิตทางการเมืองของ Alexander Hamilton ที่ประสบปัญหาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว (ชีวิตรักและการมีชู้) ในประเด็นการเมือง Hamilton เป็นแกนนำสำคัญของฝั่งพรรค Federalist ที่มองว่ารัฐบาลกลางควรมีอำนาจมากๆ มีธนาคารกลางของประเทศเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ในขณะที่คู่แข่งทางการเมืองของเขาคือ Thomas Jefferson และ James Madison เป็นฝ่ายพรรค Democratic–Republican (ชื่อแรกของพรรค Democrats ในปัจจุบัน) ที่เน้นการให้อำนาจของแต่ละรัฐจัดการตัวเอง รัฐบาลกลางมีอำนาจน้อยๆ ก็พอ (เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายหลัง ทำให้อเมริกาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน)

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้คือ Hamilton อยากผ่านกฎหมายธนาคารกลางแต่ไม่สำเร็จ มีเสียงโหวตไม่พอ จึงไปเจรจากับฝ่ายของ Jefferson และ Madison คุยกันสามคนที่บ้านของ Jefferson กลายเป็น “ซูเปอร์ดีล” ครั้งประวัติศาสตร์ นั่นคือ Hamilton ได้ตั้งธนาคารกลาง แลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะตั้งเมืองหลวงใหม่ Washington D.C. ทาง “ภาคใต้” (ณ เวลานั้นคือใต้กว่านิวยอร์ก-ฟิลาเดลเฟีย) คือ Virginia ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ Jefferson

เหตุการณ์ดีลลับครั้งนี้มีชื่อเรียกในภายหลังว่า Compromise of 1790 (เพลงในเรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์นี้จึงร้องว่า The Room Where It Happens)

Aaron Burr (ซ้าย) Alexander Hamilton (ขวา)

ตัวละครสำคัญอีกคนที่มีบทบาทสูงคือ Aaron Burr หนึ่งในสหายช่วงปฏิวัติอเมริกา และคู่แข่งทางการเมืองของ Alexander Hamilton ที่ไปเข้าพวกกับฝ่ายของ Jefferson เพื่อเอาชนะฝ่าย Federalist แต่เมื่อชนะ Federalist แล้วก็กลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับ Jefferson ในการเลือกตั้งปี 1800 (แม้อยู่พรรคเดียวกัน แต่ระบบการเลือกตั้งในสมัยนั้น คนพรรคเดียวกันแย่งกันเป็นประธานาธิบดีได้) สุดท้าย Hamilton เลือกอยู่ข้าง Jefferson ทำให้เขารวมเสียงได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐ และ Burr ที่แพ้ไปเฉียดฉิวจึงได้เป็นแค่รองประธานาธิบดี

ด้วยเหตุนี้ทำให้ Burr โกรธแค้น Hamilton และท้าดวลปืนกัน (วิธีชำระความแค้นในยุคนั้น) ซึ่ง Hamilton เลือกยิงขึ้นฟ้า และโดน Burr ยิงเสียชีวิต เป็นการปิดฉากตำนานชีวิตอันโลดโผนของ Hamilton

การดู Hamilton โดยเฉพาะครึ่งหลัง จำเป็นต้องเข้าใจระบบการเมืองสหรัฐยุคแรก (First Party System) พอสมควรจึงจะเข้าใจเนื้อเรื่องได้อย่างถ่องแท้ ต้องขอบคุณที่โลกนี้มีสตรีมมิ่ง ทำให้เราสามารถดูไป หยุดพักไปอ่านรายละเอียดใน Wikipedia จนเข้าใจแล้วค่อยดูต่อได้

สรุป timeline การเมืองสหรัฐแบบสั้นๆ เผื่อเป็นลายแทงให้คนอื่นๆ

  • 1789 – George Washington เป็นประธานาธิบดีคนแรก 2 สมัย ไม่สังกัดพรรค
    • John Adams เป็นรองประธานาธิบดี ฝ่าย Federalist แต่ก็ไม่ถูกกับ Hamilton (ไม่มีปรากฏตัวในเรื่อง แต่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง)
    • Alexander Hamilton เป็นรัฐมนตรีคลัง ฝ่าย Federalist
    • Thomas Jefferson เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่าย Democratic–Republican
  • 1796 – Washington วางมือ, Adams สืบทอด, Jefferson ลาออกจากคณะรัฐมนตรีเพื่อไปลงเลือกตั้ง
  • 1796 –  John Adams ชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สอง (และเป็นครั้งเดียวที่ Federalist ชนะเลือกตั้ง)
    • Jefferson ได้อันดับสอง ได้เป็นรองประธานาธิบดี
    • Adams ไม่ถูกกับ Hamilton จึงไม่ได้เชิญให้ร่วมคณะรัฐมนตรี
  • 1800 – John Adams ลงเลือกตั้งสมัยที่สอง สู้กับ Jefferson อีกรอบ
    • ผู้ชนะคือ Jefferson และ Burr ที่ได้คะแนนเท่ากัน ส่วน Adams มาเป็นอันดับสาม
    • ต้องตัดสินกันโดยให้สภาคองเกรสเลือก เลือกกัน 35 รอบไม่ได้ข้อยุติ จนสุดท้าย Hamilton ขอให้ฝ่าย Federalist ลงคะแนนให้ Jefferson
    • Jefferson ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สาม ส่วน Burr ได้เป็นรองประธานาธิบดี
  • 1808 – James Madison คู่หูของ Jefferson ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สี่

แน่นอนว่าการเป็นละครเวทีย่อมดัดแปลงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จริงไปบ้าง ขับเน้นให้เรื่องมันดราม่าขึ้น คิดว่าจุดที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องคือ

  • Aaron Burr ไม่ได้ท้ายิง Hamilton เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1800 (แต่คงไม่พอใจตั้งแต่ตอนนั้น) แต่เป็นเพราะ Burr ไปลงเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในปี 1804 แล้วโดน Hamilton ขวางอีก (ด้วยเหตุผลอื่น คือตอนนั้นฝ่ายนิวยอร์กอยากแยกประเทศ)
  • Angelica Schuyler พี่สาวของ Elizabeth ภรรยาของ Hamilton ที่แอบหลงรัก Hamilton แต่ยอมหลีกทางให้น้องสาวนั้น ในประวัติศาสตร์จริง ตอนที่เธอมาเจอ Hamilton ครั้งแรกนั้นเธอมีลูกแล้ว 2 คน แม้ว่าในจดหมายที่เขียนถึงกัน ก็มีความกุ๊กกิ๊กกันอยู่จริง

สามพี่น้อง Schuyler Sisters

การที่ Hamilton มีเพลงเยอะมาก หลายเพลงก็เพราะและมีความหมายดี ในมุมกลับก็เป็นข้อเสียว่ามันไม่มีเพลงที่เด่นแบบสุดๆ ทิ้งขาดเพลงอื่นๆ เท่าที่ไล่อ่านความเห็นแฟนๆ ดูก็หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ไม่มีเพลงเด่นๆ เหมือนละครเพลงดังเรื่องอื่น (เช่น The Music of the Night ของ Phantom of the Opera หรือ Defying Gravity ของ Wicked)

ส่วนตัวแล้ว เพลงที่ชอบในวิธีการนำเสนอคือ

  • Satisfied ที่ Angelica พูดถึง Hamilton ที่เธอแอบหลงรัก โดยใช้วิธีเล่าเรื่องแบบ rewind ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่เจอกัน (พร้อมกับน้องสาว Eliza) ซึ่งวิธีเล่าเรื่องแบบนี้เราพบบ่อยในภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่มี flashback แต่พอเป็นละครเวที นักแสดงต้อง rewind ตัวเองกลับไปยังฉากเดิมเพื่อเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องใหม่ด้วย เจ๋งมาก
  • Cabinet Battle ที่ดัดแปลงการประชุมคณะรัฐมนตรีสุดซีเรียส กลายมาเป็นสงครามแร็ปด่ากัน (มีไมโครโฟนให้ถือด้วยนะ 555) โดยตัวละครที่มาแร็ปแข่งกันคือ Thomas Jefferson กับ Alexander Hamilton และมี George Washington เป็นกรรมการตัดสิน อะไรเนี่ย 555

ฝั่งของนักแสดง ถ้าไม่นับตัวของ Miranda ที่เขียนเพลงเอง แต่งเรื่องเอง แสดงเป็นพระเอกเองแล้ว นักแสดงที่ผมชอบ (ในเวอร์ชันหนังปี 2020) คือ

  • Leslie Odom Jr. เล่นเป็น Arron Burr ได้ทรงพลังมาก
  • Renée Elise Goldsberry เล่นเป็น Angelica Schuyler ขโมยซีนน้องสาวไปหมด
  • Daveed Diggs เล่นเป็น Thomas Jefferson เวอร์ชันสุดเพี้ยน ไม่มีการตีความ Jefferson ที่พิสดารกว่านี้อีกแล้ว
  • Jonathan Groff เล่นเป็น King George III ของฝั่งอังกฤษ ทุกฉากเขาต้องเล่นคนเดียวล้วนๆ แต่ขโมยซีนสุดๆ เช่นกัน

King George III

ละครเพลง Hamilton เล่าเรื่องของ Alexander Hamilton ทั้งในแง่ความขัดแย้งส่วนตัว (เด็กกำพร้า ผู้อพยพ ที่มาทำภารกิจยิ่งใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงอเมริกา) ครอบครัว (ความเป็นสามี พ่อ การมีชู้) และโยงไปยังความขัดแย้งทางการเมือง กับตัวละครสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีทั้งเพื่อน พี่ชาย (George Washington ในฐานะพ่อที่ขาดหาย) และศัตรู (Burr & Jefferson) โดยมีฉากหลังเป็นสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อร่างสร้างชาติ ทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องออกแบบกันใหม่ทั้งหมด

บทสรุปของ Hamilton คงเป็นเหมือนที่ Marilyn Stasio นักวิจารณ์จาก Variety เขียนเอาไว้

In the end, Miranda’s impassioned narrative of one man’s story becomes the collective narrative of a nation, a nation built by immigrants who occasionally need to be reminded where they came from.”

ความดังของ Hamilton ยังทำให้นักเรียนในอเมริกาหันมาสนใจประวัติศาสตร์กันเยอะขึ้นมาก ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองด้วยที่ไม่ค่อยเคยรู้ประวัติศาสตร์สหรัฐช่วงก่อตั้งประเทศสักเท่าไรเลย ดูไปอ่านไปจนจบเรื่องก็ได้ความรู้เพิ่มมาอีกมากโข และถ้ามีโอกาสก็คงต้องไปดูละครจริงๆ สักครั้งหนึ่งให้ได้

เกร็ดอื่นๆ เกี่ยวกับ Alexander Hamilton ที่ไม่มีในละคร

  • Hamilton เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารหลายแห่ง ถ้าไม่นับธนาคารกลาง ก็มีธนาคารเอกชนคือ
    • Bank of North America ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของอเมริกา ก่อตั้งปี 1801 แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ถูกกลืนกิจการไปในปี 1929 โดยร่างปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Well Fargo
    • Bank of New York ก่อตั้งในปี 1804 ภายหลังไปควบรวมกับธนาคาร Mellon ในปี 2007 กลายเป็น BNY Mellon ในปัจจุบัน
  • Aaron Burr คู่แข่งของ Hamilton เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Manhattan Company ในปี 1799 ตอนแรกทำเรื่องน้ำในนิวยอร์ก แล้วผันตัวมาเป็นธนาคาร (เพื่อแข่งกับกิจการธนาคารของ Hamilton คือพวกพี่จะแข่งกันทุกเรื่องใช่ไหม) ไปควบรวมกับธนาคาร Chase National Bank ในปี 1955 กลายเป็น Chase Manhattan และปี 2000 ถูก JP Morgan ซื้อกิจการจนกลายเป็น JP Morgan Chase ในปัจจุบัน
  • Hamilton ยังเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ New York Post ในปี 1801 (แม้ไม่ได้เป็นบรรณาธิการเอง) และยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เจ้าของคือกลุ่ม News Corp ที่ซื้อมาในปี 1976