เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ผมเป็นแฟนคลับงานแถลงข่าวของ NVIDIA และจะหาเวลานั่งฟัง Keynote ของ Jensen Huang แบบเต็มๆ ทุกปี (ปีนึงแกพูดประมาณ 4-5 ครั้ง) เพื่อดูว่าแกจะพูดถึงอะไรบ้าง มีนัยอะไรที่ซ่อนอยู่ไหม
โชคดีว่า Keynote แรกของปีนี้ที่งาน CES 2025 มันตรงกับช่วงสายๆ ของบ้านเราพอดีเลยมีโอกาสฟังสดๆ เพิ่งว่างมานั่งสรุปประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจดังนี้
1. ขณะที่บ้านเรากำลังไฮป์คำว่า “Agentic AI” กัน ลูกพี่ Jensen เขาไปคำใหม่แล้วคือคำว่า “Physical AI” มันคืออะไรกันว้า
2. จริงๆ มันไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะ NVIDIA พูดเรื่อง Digital Twins มาหลายปีมากแล้ว (รายละเอียดอ่านได้ในโพสต์เก่าตามลิงก์) แนวคิดของมันคือสร้างโลก simulator จำลองโลกจริงให้เหมือนจริงมากที่สุด เอาการทดลองต่างๆ ไปทำในโลกเสมือนให้พอใจก่อน แล้วค่อยเอามาใส่ “หุ่นยนต์” ในโลกจริง นี่คิอความหมายของ Physical AI
3. พอพูดถึง “หุ่นยนต์” ของ NVIDIA มีด้วยกัน 3 แขนงใหญ่ๆ คือ
3.1 หุ่นยนต์อุตสาหกรรม แขนกล หุ่นยนต์อัจฉริยะแยกของแบกของใน warehouse
3.2 รถยนต์ รถยนต์ไร้คนขับ ปีนี้มาด้วยลูกค้าเบอร์ใหญ่ชื่อว่า Toyota ยอมสยบแล้ว
3.3 หุ่นยนต์แบบมนุษย์หรือ humanoid robots
ซึ่ง 3 แขนงนี่ไม่ใช่ของใหม่ พูดมาหลายปีแล้วเหมือนกัน
4. เดิมทีนั้น NVIDIA มีซอฟต์แวร์ที่ช่วยสร้างโลกเสมือนชื่อว่า Omniverse มันสามารถจำลองฟิสิกส์ได้สมจริง เช่น เราสามารถทดลองการชนของรถยนต์ใน Omniverse ได้
ปัญหาคือ Omniverse มันเอาไว้สร้างโมเดลฟิสิกส์ที่สมจริง แต่หน้าตาของโมเดลเป็นโพลีกอนง่อยๆ เหมือนหนัง Pixar ยุคโบราณ ข้อจำกัดคือพอสภาพแวดล้อมมันไม่เหมือนของจริง 100% ตัวซอฟต์แวร์ที่เราอยากเอาไปรันในโลกจริง (เช่น ซอฟต์แวร์รถยนต์ไร้คนขับ) มันทำงานได้ไม่เป๊ะไง
5. ของใหม่ของปีนี้คือ NVIDIA Cosmos ที่เรียกว่าเป็น “โมเดลจำลองโลก” (World Foundation Model) ที่เทรนด้วยภาพและวิดีโอจำนวนมาก รู้จักโลกจริงๆ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ตึกหน้าตาแบบนี้ ต้นไม้หน้าตาแบบนี้ ฟีลเดียวกับโมเดลสร้างภาพพวก Midjourney หรือโมเดลสร้างวิดีโอ Sora/Veo นั่นแหละ
โมเดลภาพแบบนี้มีข้อดีคือ มันใช้ง่ายไม่เปลืองแรง ไม่ต้องปั้นสิ่งก่อสร้าง 3D อยากได้ตึกก็พิมพ์สั่งเอา แต่ข้อเสียคือมันมองเห็นเป็นภาพ มันไม่มี logic มันไม่มีฟิสิกส์ เป็นตึกปลอมๆ ต้นไม้ปลอมๆ ที่โมเดลลอกเลียนแบบมาจากข้อมูลที่ใช้เทรน
6. NVIDIA เลยแก้ปัญหาด้วยการเอา Omniverse มารวมกับ Cosmos จบปิ้ง ได้โลกจำลองที่สภาพแวดล้อมเหมือนของจริงมากๆ เป็นเส้นทางสู่ความฝัน “Physical AI” ตามที่ลูกพี่ Jensen เขาจั่วหัวไว้
ถ้าใครนึกภาพตามไม่ออก ลองดูคลิปตัวอย่างที่เขาสร้าง “โลกจำลอง” สำหรับเทรนซอฟต์แวร์รถยนต์ไร้คนขับ ได้ออกมาเป็นโลกสมจริงยิ่งกว่าเกม GTA ที่ฟิสิกส์ถูกต้องทั้งหมด และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมได้ตามใจ จะฝนตก แดดออก หิมะตก กลางวัน กลางคืน มีคนเดิน จักรยานขี่ผ่าน หมีตัดหน้ารถ ฯลฯ ทำได้หมด
7. โมเดลลักษณะนี้มันไม่ใช่ของใหม่ เพราะรถยนต์ Waymo มันก็เทรนด้วยวิธีนี้มานาน แต่ในยุคก่อนหน้านี้มันมีไม่แค่กี่บริษัทเท่านั้นที่ทำได้ (เช่น Google, Tesla) ตอนนี้ NVIDIA กำลังจะแผ้วถางเส้นทางใหม่ให้มันเป็นเครื่องมือที่ใครๆ ก็ใช้งานได้ (ขอแค่มีเงินซื้อการ์ดจอรุ่นแพงๆ หน่อย)
ผมว่ามาถึงตอนนี้ เครื่องมือสร้างโลก Physical AI มันใกล้จะพร้อมแล้ว (อีก 1-2 ปีข้างหน้าน่าจะสมบูรณ์ละ) ที่เหลือคือพลังจินตนาการของพวกเราเท่านั้น ว่าถ้าเราสามารถสร้างโลกเสมือนที่เหมือนจริงมากๆ ขึ้นมาได้ มันจะไปเปลี่ยนแปลงการทำงาน (โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม) ได้ขนาดไหนกัน ซึ่งก็สารภาพตามตรงว่าตอนนี้คิดไม่ออกเหมือนกัน