in Thoughts

Fifty Shades of Fear

บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ COVID-2021 ตอนที่ 1

จากสถานการณ์ COVID ช่วงต้นปี 2021 เห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายอย่าง จะทยอยเขียนเป็นซีรีส์

ช่วงปีใหม่มีโอกาสคุยกับเพื่อนฝูงนักธุรกิจหลายคน ให้ช่วยกันประเมินสถานการณ์ของการระบาดระลอกใหม่ช่วงปลายปี 2020 ต่อเนื่องมายังต้นปี 2021

ผมคิดว่าในภาพรวมสุดๆ แล้วการระบาดระลอก 2 (หรือที่รัฐห้ามใช้เลข 2) ถือเป็นสถานการณ์ “ปกติใหม่” (new normal) ที่มาช้ากว่าที่ควรจะเป็นในประเทศไทย

ด้วยเหตุผลเรื่องการปิดเมืองแบบเข้มงวดตลอดปี 2020 โดยแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ (แต่สุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้ผล เพราะปิดยังไงก็ไม่มิด) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการระบาดอย่างต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว พูดง่ายๆ ว่าคนอื่นเขาเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนเราจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ส่วนการระบาดระลอกแรกช่วงต้นปี 2020 ที่สามารถคุมอยู่ได้ไม่ยาก นั้นถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ (irregularity) หรือถ้าจะเรียกว่าเป็น black swan ก็พอได้เช่นกัน (ประเทศไทยถือเป็นเคสพิเศษมากๆ ในโลกปี 2020)

พูดง่ายๆ คือเราอยู่กับความไม่ปกติ (ปิดเมืองเข้มงวดจนไม่มีคนติดไวรัส) มาจนชิน จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่พอมาเจอกับ “ของจริง” ที่คนประเทศอื่นเขาเจอกันจนกลายเป็นปกติ เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ปกติ (งงมั้ย)

คำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้คือ ทำไมสถานการณ์ของเราจึงกลับกันกับประเทศอื่นๆ

ผมเจอคำตอบนี้ในบทความของ “หนุ่มเมืองจันท์” ซึ่งเป็นนักเขียนที่เก่งฉกาจในเรื่องการสังเกตอารมณ์ของคน

เนื่องจากบทความไม่ยาว เลยขอยกมาทั้งก้อนเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง (บทความนี้มีหลายประเด็นที่ดีมาก คงได้ใช้อ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง)

คำอธิบายของหนุ่มเมืองจันท์คือ COVID ระลอกแรกเป็นภัยคุกคามใหม่ที่คนทั่วโลกไม่เคยเจอมาก่อน เราจึงกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นนี้ (unknown threat)

กลัวแล้วทำอะไร? ปฏิกิริยาที่ตามมาขึ้นกับพื้นเพนิสัยใจคอ วัฒนธรรมของแต่ละชาติแต่ละกลุ่มแล้ว อย่างในอเมริกาที่มีวัฒนธรรมเรื่อง “เสรีภาพของปัจเจกชน” แข็งแกร่งมาก เราจึงเห็นการปฏิเสธการสวมหน้ากากกันอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นประเด็นเรื่องการแสดงออกทางการเมือง (ที่มาบวกกับ very partisan politics)

ถ้าตามข่าวการเมืองอเมริกาอยู่บ้าง ฝั่งของ Biden จะพยายามชูนโยบายเรื่องใส่หน้ากาก โดยใช้เหตุผลว่า according to science อิงตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพื่อตอบโต้กับเหตุผลเรื่อง free speech ที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกันนั่นเอง

แต่ในบริบทของไทย (และเอเชียด้วยในภาพรวม) ที่ประชากรมีลักษณะ obedient มากกว่าสังคมตะวันตก การขอความร่วมมือจึงทำได้ง่ายกว่ามาก และเมื่อเจอกับภัยคุกคามระลอกแรกที่มีลักษณะ “ไม่รู้จัก” แนวคิดเรื่องปลอดภัยไว้ก่อนจึงกลายเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนยอมทำตาม

พอการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น สิ่งที่ต่างไปจากเดิมคือ ไวรัสเป็นภัยคุกคามที่คนในสังคม “รู้จักมัน” ดีกว่าเดิมมากแล้ว ปฏิกิริยาตอบโต้จึงแตกต่างไปจากครั้งแรก

เท่าที่สังเกตด้วยตัวเอง ผมคิดว่าปฏิกิริยารับมือของคนนั้นแตกต่างหลากหลายมาก ขึ้นกับความเชื่อ คุณค่า ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนหรือครอบครัว

เราจึงเห็นแนวทางที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ตั้งแต่กลุ่มที่ paranoid จัดๆ ไม่ออกไปไหนเลย ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อทุกพื้นที่สัมผัส ไปจนถึงกลุ่มที่ไม่แคร์อะไรเลย ออกไปปาร์ตี้ ใช้ชีวิตนอกบ้านกันตามปกติ ใส่แมสก์เฉพาะในพื้นที่สาธารณะที่โดนบังคับทำเท่านั้น และถอดเสมอเมื่อมีโอกาส

รอบนี้ (และรอบต่อๆ ไป) ความกลัวของคนเป็นสเปกตรัมแล้ว

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อบล็อกว่า Fifty Shades of Fear (ลอกชื่อมาจากหนัง และหนังสือ โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกัน) เพื่อให้เห็นภาพในเชิง conceptual

ความกลัวมีหลายเฉดมาก คำถามต่อมาที่น่าสนใจคือ เราจะรับมืออย่างไร ในเมื่อคนไม่ได้ให้ความร่วมมือไปในทางเดียวกันแบบครั้งก่อน

คำตอบคือวิธีการรับมือนั้นยากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะเราไม่มีโซลูชันที่เป็น one-size-fit-all มาตรฐานเดียวกันใช้ได้ครอบจักรวาลอีกแล้ว

สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นคือ สถานการณ์ on and off คือระบาดเป็นพักๆ คุมอยู่แล้วกลับมาระบาดใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆ เจอกันเป็นปกติ (แต่ประเทศไทยยังไม่เคยเจอ)

มิตรสหายท่านหนึ่งบอกว่า รอบนี้ต่างจากรอบที่แล้วตรงที่มี “เส้นชัย” คือวัคซีนเริ่มปรากฏตัวให้เห็นริมขอบฟ้า

ใช่ครับ แต่กว่าวัคซีนจะมาครบสมบูรณ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเหมือนกัน ถ้าเราอยากกลับมาใช้ชีวิตแบบ “เกือบปกติ” เหมือนเดิม ผมประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2023 ด้วยซ้ำ (แต่สเกลจะไม่ขึ้นเป็น linear ดังนั้นปลายปี 2021 อาจดีขึ้นในบางอย่างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด)

ถ้าตีหยาบๆ ว่าวันปีใหม่ 2023 ทุกอย่างจะดีขึ้น เราต้องอยู่กับความไม่แน่นอนไปอีก 2 ปีเต็ม เราจะรับมือกับช่วงเวลานี้อย่างไร ที่จะเกิดสภาวะระบาดแบบ on and off และปฏิกิริยาของคนคือ มีความกลัวแตกต่างกันไปแบบสุดขั้ว

  • ในทางธุรกิจ เราต้องเปลี่ยนความไม่แน่นอนเป็นความแน่นอน (ขึ้นมาบ้าง) จะเขียนถึงในตอน Business Resilience
  • ในทางภาครัฐ เราต้องหานโยบาย baseline ขั้นต่ำที่ทุกคนยอมรับได้ (ซึ่งดีกรีความหนักแน่นจะลดลงจากรอบแรก) แต่จะมีอีกปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องคือ ความน่าเชื่อถือของภาครัฐ (ตามที่หนุ่มเมืองจันท์เขียนไว้) จะเขียนถึงในตอน Trustworthy