in Politics

ม็อบจะจบอย่างไร

โพสต์นี้ง้างจะเขียนมาตั้งแต่ตอน 19 กันยา แต่ก็เขียนไม่ออกเพราะความคิดยังไม่ตกผลึกดีพอ เวลาผ่านมาเกือบเดือน ข้ามมาจนถึงม็อบ 14-15 ตุลาคม ก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่ควรต้องเขียนมันออกมา อย่างน้อยบางส่วนก็ยังดี

มีคนมาถามผมเป็นการส่วนตัวเยอะมากว่า ม็อบนี้จะจบอย่างไร

คำตอบแบบสั้นๆ ก็คือ “ไม่รู้เหมือนกัน”

ส่วนคำอธิบายแบบยาวๆ ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต้องบอกว่า “ม็อบไม่สามารถจบได้ด้วยตัวมันเอง” ไม่ว่าจะเป็นม็อบฝ่ายไหน ม็อบเป็น “ตัวเปิดเกม” เพื่อเปิดทางจะมี “ตัวปิดเกม” ซึ่งก็ออกได้หลายท่า เช่น

  • ทหาร
    • ม็อบพันธมิตรปี 48 นำมาสู่รัฐประหาร 49
    • ม็อบ กปปส. ปี 56-57 นำมาสู่รัฐประหารปี 57
  • ศาล ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ
    • ม็อบพันธมิตรปี 51 นำมาสู่การตัดสินคดีทำกับข้าวของสมัคร สุนทรเวช และตามด้วยคดียุบพรรคพลังประชาชนในปี 51
    • ก่อนหน้านั้น ม็อบพันธมิตรปี 48 นำมาสู่การยุบสภา แล้วมีการตัดสินว่าเลือกตั้งใหม่ช่วงต้นปี 49 เป็นโมฆะเพราะหันคูหาผิดทาง (แต่ก็จบไม่ลงจนต้องมี รปห. 49 ซ้ำอีกที)
  • การแทรกแซงโดยกษัตริย์ (royal intervention)
    • เคสพฤษภา 35 นั้นต้องบอกว่าในทางเทคนิคแล้ว ม็อบเองก็จบไม่ลง และต้องปิดด้วย ร.9 เรียกผู้นำ 2 ฝ่ายเข้าพบ จนฝ่ายของ พล.อ.สุจินดา ยอมลาออกจากตำแหน่ง
    • หรืออย่างกรณีตุลา 16 ที่พลังของม็อบสั่นสะเทือนรัฐบาลได้มากที่สุด ก็ยังมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ ฝ่ายของจอมพลถนอม เป็นฝ่ายยอมลาออกและเดินทางไปต่างประเทศ

ในทางกลับกัน ม็อบที่ไม่มี “ตัวปิด” เป็นอำนาจนอกสภาแบบเดียวกัน ก็จะจบท้ายด้วยการถูกปราบปราม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ม็อบเสื้อแดงทั้งปี 52 และ 53

ม็อบสามนิ้วปี 63 มีลักษณะคล้ายกันคือไม่มี “ตัวปิด” มาอยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่สถานการณ์ต่างออกไปเพราะการปราบปรามทำได้ยากขึ้นมาก (ถึงแม้จะยังไม่มีโอกาส 0%) ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างที่คงไม่เขียนถึงในที่นี้ เพราะคงเขียนได้อีกยาวมาก

เมื่อม็อบสามนิ้วไม่มีพลังพิเศษมาช่วยปิดเกม แต่ตัวโครงสร้างของม็อบเองก็ไม่ถูกปราบได้ง่ายๆ มันจึงนำไปสู่พรมแดนใหม่ของการเมืองไทย (new frontier) ที่ไม่มีต้นแบบให้เห็นมาก่อนว่าจะจบลงอย่างไร

  • ทางเลือกในอุดมคติที่สุด เท่าที่เห็นคนเสนอคือใช้กลไกของสภา เปิดประชุมวิสามัญ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อคเงื่อนไขบางข้อ (เช่น ส.ว.) นำไปสู่เลือกตั้งใหม่ และ transition ไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตย แต่ด้วยสถานการณ์เรื่องเสียงในสภา ที่ต้องใช้เสียงบางส่วนของ ส.ว. ด้วยก็ทำให้โอกาสต่ำมาก
  • อีกทางหนึ่งคือ การรัฐประหารซ้ำหรือรัฐประหารซ้อน (ขึ้นกับว่าดำเนินการโดยกลุ่มใด) เพื่อกระชับอำนาจ (ในทางกฎหมายก็คือ อำนาจกลับไปเป็นเหมือนยุคปี 57-62 ที่ คสช. มีอำนาจเต็มมือ ต่างจากหลังเลือกตั้ง 62 ที่เป็นเผด็จการครึ่งใบ) แต่ต้นทุนการรัฐประหารในยุคนี้แพงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสก็ไม่เยอะนักเหมือนแต่ก่อน
  • ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ (และสูงด้วย) คือ ภาวะชะงักชะงัน (struggle) กันไปเรื่อยๆ แบบนี้จนกว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ (ซึ่งอาจจะต้องรอจนสภาชุดปัจจุบันครบเทอมก็ได้ หรือจะเร็วกว่านั้นก็ได้) แต่ก็จะไปโดนล็อคอีกชั้นด้วยมาตราเรื่อง ส.ว. ในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เปิดให้เกิดการเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นธรรม (fair) ทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาอีก

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าต่อให้ม็อบจบลงได้ (ไม่ว่าจะจบด้วยท่าไหนก็ตาม) ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยังไม่จบอยู่ดีนะครับ ตรงนี้จะเขียนต่อไปในบทความเรื่อง “หนึ่งความฝัน” ที่ยังเขียนไม่ค่อยออกนั่นแหละ

ขอบคุณภาพจากมิตรสหายท่านหนึ่ง