รีวิวหนังสือ เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Economics: The User’s Guide ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Bookscape
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Ha-Joon Chang อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากเคมบริดจ์ (จากชื่อก็รู้ว่าเป็นเกาหลี แต่สอนอยู่ที่เคมบริดจ์) และแปลเป็นไทยโดย อ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ปริญญาเอกของ Ha-Joon Chang จากที่เคมบริดจ์นั่นแหละ (ปัจจุบัน อ.วีระยุทธ สอนอยู่ที่สถาบัน GRIPS ในโตเกียว)
ต้องออกตัวก่อนว่า ผมรู้จักกับผู้แปลคือ อ.วีระยุทธ เป็นการส่วนตัว และเลือกอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุผลนี้ ซึ่งทำให้เข้าใจจุดอ่อนประการสำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ “ชื่อหนังสือ” ที่ไม่ค่อยสื่อเท่าไรนักว่าเป็นหนังสืออะไร (ทั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ทำให้หลายคนอาจมองข้ามหนังสือเล่มนี้ไป (ทั้งที่มีประโยชน์มาก)
ถ้าให้กล่าวโดยสรุปในภาษาผมเอง หนังสือเล่มนี้คือ คู่มือศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ สำหรับคนที่สนใจแต่อาจไม่ได้เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง หรือจะเป็นนักเรียนที่สนใจเรียนต่อคณะเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถซื้อมาอ่านก่อนได้เพื่อดูว่าเขาเรียนเรื่องอะไรกัน
อธิบายให้ง่ายเข้าไปอีก มันเหมือนชีทสรุปว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาเรียนอะไรกัน อ่านหลักการพื้นฐานให้เข้าใจจบภายในหนังสือ 1 เล่ม (เหมือนมีเพื่อนเก่งๆ มาเขียนสรุปให้อ่านกัน เผอิญเพื่อนคนนี้เก่งระดับอาจารย์เคมบริดจ์)
การอ่านสารบัญในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ค่อยช่วยให้เราทำความเข้าใจหนังสือได้ง่ายสักเท่าไรนัก เพราะผู้เขียนใช้สำนวนเปรียบเทียบอยู่ประมาณนึง (พอเปิดสารบัญดูคร่าวๆ เลยไม่เก็ตว่าแต่ละบทเกี่ยวกับอะไรบ้าง) ถ้าให้สรุปสั้นๆ หนังสือแบ่งออกเป็น 2 ภาค
- ภาคแรก เป็นการสรุปทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดในโลกหล้า ว่ามีสำนักอะไรบ้าง (เช่น คลาสสิค มาร์กซ์ นีโอคลาสสิค ชุมปีเตอร์ ฯลฯ) และหลักการทางเศรษฐศาสตร์วิวัฒนาการมาได้อย่างไร (นับตั้งแต่ยุคอดัม สมิธ เป็นต้นมา)
- ภาคสอง เป็นการประยุกต์ใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ (จากภาคแรก) กับปัญหาต่างๆ ในโลกที่เราคุ้นชื่อกัน เช่น การผลิต GDP ความเหลื่อมล้ำ การเงิน บทบาทของรัฐ ซึ่งแต่ละสำนักมีมุมมองที่ต่างกันไป
ส่วนที่ผมอ่านแล้วได้ประโยชน์มากๆ คือภาคแรก ที่ช่วยให้คนที่สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่ได้เรียนมาโดยตรง (แบบผม) เข้าใจหลักการทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นมาก บทเรียนสำคัญที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ (และผู้เขียนตั้งใจให้เป็น) คือ
- วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ความจริงแท้แบบวิทยาศาสตร์
- ทฤษฎีของแต่ละสำนักมีข้อดีข้อเสีย มีข้อถกเถียงกันที่ไม่ได้ข้อยุติอยู่มากมาย จงอย่าไปยึดมั่นในทฤษฎีอันหนึ่งอันใด
- การเรียนรู้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใดก็ตาม จำเป็นต้องรู้บริบทว่าทฤษฎีนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไรด้วย ในยุคสมัยที่อดัม สมิธ คิดทฤษฎีเรื่องตลาด ระบบเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีความซับซ้อนอย่างในปัจจุบันเลย ทำให้แทบทุกอย่างที่อดัม สมิธคิด ถือว่าล้าสมัยไปแล้ว (แต่เรายังเรียนอดัม สมิธกันอยู่ และยึดถือว่ามันยังเป็นทฤษฎีที่ใช้งานได้อยู่)
ผู้เขียนคือ Ha-Joon Chang เป็นนักทฤษฎีสายเศรษฐศาสตร์พัฒนา (development economics) ปกติแล้วเราจะเห็นนักทฤษฎีออกมาเขียนหนังสืออวยเชิดชูสายงานของตัวเอง แต่กรณีของหนังสือเล่มนี้ เหมือนเราอ่าน Ha-Joon Chang “บ่น” หรือวิพากษ์หลักการเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ (โดยเฉพาะนีโอคลาสสิค 555) ให้คนที่อยู่นอกวงการฟัง (ถ้าให้ตั้งชื่อหนังสือใหม่ได้ จะตั้งชื่อว่า “แฉวงการนักเศรษฐศาสตร์”)
ผมไม่เคยเรียนไม่เคยฟัง Ha-Joon Chang มาก่อนเลย แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนได้ยินเขาบ่นประมาณว่า “นักเศรษฐศาสตร์ในโลกล้วนแต่ขี้โม้ อย่าไปเชื่อพวกเขาเยอะ” และเชื่อแล้วว่าตัวของ Ha-Joon Chang นั้นคมคายแค่ไหน
นอกจากเรื่องชื่อหนังสือที่ไม่ค่อยสื่อแล้ว ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้คงเป็นบางบทที่ค่อนข้างวิชาการไปนิด เหมือนอ่านตำราเรียนเล็กน้อย (บท GDP ผมอ่านแล้วหลับ) แต่ข้อดีนอกเหนือจากการวิพากษ์หลักวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างผู้รู้จริงแล้ว ก็มีเรื่องการแปลเป็นภาษาไทยของ อ.วีระยุทธ ที่ใช้คำได้ดีเยี่ยม เห็นภาพ และดูไม่โอเวอร์เกินไปอย่างผู้แปลบางคน
กล่าวโดยสรุปคือ หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้สนใจด้านเศรษฐศาสตร์ อยากอ่านไว้ประดับความรู้ จะได้ตามนักเศรษฐศาสตร์ทัน กับคนที่อยากเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ควรอ่านกันก่อนเพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเรียนอะไรกันบ้าง (ควรซื้อแจกเด็ก ม.6 ที่สนใจเรียนต่อด้านนี้)
ซื้อได้จากเว็บไซต์สำนักพิมพ์ Bookscape