in Technology

Dull, Dirty and Dangerous

ภาพประกอบโดย Shardar Tarikul Islam จาก Pexels

ฟังรายการพ็อดแคสต์ของ Kara Swisher สัมภาษณ์ Trae Stephens หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Anduril Industries ซึ่งเป็นบริษัทด้านผลิตอาวุธยุคใหม่ (จะเขียนถึง Anduril ต่อไป)

สินค้าของ Anduril เป็นอาวุธยุคใหม่ที่มีความอัตโนมัติสูง เช่น โดรนทั้งบนอากาศและใต้น้ำ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติเหล่านี้จะมาแทนคนหรือไม่

คำตอบของ Trae Stephens (ประมาณนาทีที่ 14 ในรายการ) คือหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติจะมาทำงานแทนมนุษย์ในส่วนที่มนุษย์ทำงานได้ไม่ดี เพื่อเอามนุษย์ไปทำงานอื่นที่ถนัดมากกว่า

ตรงนี้เลยได้รู้จักคำว่า Dull, Dirty and Dangerous ซึ่งเป็นคำนิยามของงานที่ไม่เหมาะกับมนุษย์ (น่าเบื่อซ้ำซาก สกปรก อันตราย)

หลังจากนั้นไปค้นต่อว่า ศัพท์คำนี้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคแรงงาน blue collar โดยใช้คำต่างไปเล็กน้อยคือ Dirty, dangerous and demeaning (สกปรก อันตราย ชั้นต่ำ)

ต้นฉบับมาจริงๆ จากภาษาญี่ปุ่นว่า 3K: kitanai, kiken, kitsui[1] (respectively 汚い “dirty”, 危険 “dangerous”, きつい “demanding”) หมายถึงงานชั้นต่ำที่ทำโดยแรงงานอพยพ ซึ่งไม่สามารถเลือกงานได้เท่าไรนัก

จากนั้น วงการหุ่นยนต์เองก็สมาธานศัพท์ชุดนี้มาใช้งาน เพื่ออธิบายว่าเราควรใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติมาทำงานลักษณะเหล่านี้แทนคน โดยมี variation ใหม่ๆ แตกแขนงกันออกไปตามการตีความ เช่น

  • Dull, Dirty, Dangerous and Difficult ที่มองว่าหุ่นยนต์ยุคใหม่พลัง AI ฉลาดขึ้น สามารถทำงานยากๆ ได้แล้ว
  • Dull, Dirty, Dangerous and Dear มองว่าหุ่นยนต์ควรนำมาช่วยทำงานที่เป็นบวกได้ด้วย เช่น ช่วยประหยัดเงินหรือประหยัดเวลา

เมื่อเรามาพูดถึงเรื่องนี้กันในยุค AI ครองเมือง (ตื่นทอง ChatGPT) เรามักพูดกันในแง่ว่า AI จะมาแทนคน แต่ก็เน้นไปที่งานกลุ่ม Dull ที่เป็นงานน่าเบื่อ ทำซ้ำๆ และโฟกัสไปที่งานกลุ่ม whitecollar ซะมาก

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูว่า AI กับหุ่นยนต์มันคือเรื่อง automation เหมือนกัน (ต่างกันแค่ว่ามีตัวตนในเชิงกายภาพหรือไม่) เราก็ควรมองให้ครอบคลุมงานกลุ่ม Dirty & Dangerous ด้วย

พอพูดถึงงาน Dirty & Dangerous ตัวอย่างการใช้งานมักเป็นอะไรที่ไกลตัว เช่น หุ่นยนต์กู้ระเบิด หุ่นยนต์ไปดาวอังคาร หุ่นยนต์ขุดเหมือง หุ่นยนต์สำรวจท่อก๊าซรั่ว ฯลฯ ดูเป็น exotic projects ที่มีแค่คนบางกลุ่ม หน่วยงานบางแห่งเท่านั้นที่ต้องใช้งาน

แต่เอาจริงๆ เรามีงานลักษณะนี้อยู่รอบตัว โดยเฉพาะในเมือง เช่น งานขุดลอกท่อระบายน้ำ งานก่อสร้าง งานเก็บขยะ ที่มักไม่ค่อยถูกพูดถึงในมิติ automation แต่เป็นงานที่มี impact สูง กระทบกับผู้คนจำนวนมาก ก็เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อไปว่าจะสามารถนำเทคโนโลยี automation (ทั้ง AI/หุ่นยนต์) มาใช้แก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง

บทความเก่าที่เกี่ยวข้อง: Hi-Fi and Lo-Fi AI