อ่านบทความของ Bill Gates เขียนถึง Digital Public Infrastructure (มีตัวต่อด้วยคือ DPI ที่ไม่ใช่ความละเอียดหน้าจอ) คิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจดี โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา
Gates บอกว่าเดินทางไปทั่วโลกแล้วเห็นความสำคัญของ DPI ที่กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับภาครัฐในการบริการประชาชน ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจ
DPI ในความหมายของ Gates ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก (core components) ได้แก่
- Digital ID ที่ใช้พิสูจน์ตัวตน
- ระบบการจ่ายเงินดิจิทัล
- แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูล
There are a few core components that constitute DPI: digital ID systems that securely prove who you are, payment systems that move money instantly and cheaply, and data exchange platforms that allow different services to work together seamlessly.
ตัวอย่างที่ Gates ยกขึ้นมาให้ดูคือ อินเดีย ที่เข้มแข็งเรื่อง DPI โดยเฉพาะ 2 ส่วนแรกคือ ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลคือ Aadhaar (เลขประจำตัวประชาชนของอินเดีย 12 หลัก เริ่มทำในปี 2009) และระบบชำระเงินผ่านมือถือ Unified Payments Interface (UPI) เริ่มทำปี 2016 ทั้งสองส่วนช่วยทำให้ประชาชนอินเดียมีบัญชีธนาคารใช้เพิ่มขึ้น 2 เท่า (แตะ 78%) ภายใน 10 ปี เข้าถึงกลุ่ม unbanked อย่างผู้หญิงอินเดีย มีบัญชีธนาคารเพิ่มขึ้น 3 เท่า แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ (เช่น ต้องพึ่งพาบัญชีของสามี แม้ทะเลาะกัน) ไปได้มาก
ส่วนข้อ 3 เรื่องแพลตฟอร์มข้อมูล Gates ยกตัวอย่างของเคนยา ที่มีระบบของภาครัฐแจ้งเตือนข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร และสภาพอากาศแบบ geo-tagging ไปยังเกษตรกร 6 ล้านคน และตัวอย่างของ Côte D’Ivoire (ไอวอรี่โคสต์) ที่มีระบบติดตามการฉีดวัคซีนโปลิโอ และจ่ายเงินให้ผู้ฉีดผ่านระบบดิจิทัล ช่วยให้จ่ายเงินค่าตอบแทนได้เร็วขึ้นมาก (2 ชม. vs 3 สัปดาห์) คนทำงานมีกำลังใจเดินสายออกฉีดวัคซีนให้เด็กๆ มากขึ้น
Gates ยังแนะนำเครื่องมือโอเพนซอร์สที่ช่วยสร้างระบบ DPI เช่น MOSIP (ทำ digital ID ใน 7 ประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์) และ Mojaloop (ทำระบบ e-payment) เป็นต้น
คิดว่าการมีกรอบ (framework) เรื่อง DPI แบบของ Gates ช่วยให้เรามีโครงสร้างในการวิเคราะห์ที่ดี เมื่ออ่านแล้วจึงเกิดคำถามว่า แล้ว DPI ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าประเทศไทยทำได้ดีมากๆ เรื่อง (2) คือระบบจ่ายเงินที่เป็น unified platform (แม้มีคำถามเรื่อง “ความเป็นเจ้าของ” ระบบ PromptPay และการเปิดให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้งาน ส่วน (1) เรื่อง ID นั้นระบบยืนยันตัวตนของไทยค่อนข้างเข้มแข็งมานาน และการมาถึงของ “บัตรประชาชนดิจิทัล” อย่าง ThaiD ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ต้องขยายผลการใช้งาน ThaiD ให้กว้างขวางขึ้นไปอีก
ส่วน (3) น่าจะเป็นจุดอ่อนของไทยคือตัวแพลตฟอร์มข้อมูล ยังมาเป็นกระหย่อมๆ คือ หน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งพยายามสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัล เช่น ระบบพาสปอร์ต ใบขับขี่ จ่ายเงินชดเชยสวัสดิการด้านต่างๆ ฯลฯ แต่ยังไม่เชื่อมต่อกันเท่าไรนัก เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขและผลักดันกันต่อไป (DGA พยายามแก้เรื่องนี้อยู่ แต่แก้ได้ไม่เร็วนัก เพราะความเป็น silo ของระบบราชการไทย)
อีกประเด็นที่รัฐไทยยังทำได้ไม่ค่อยดีนักคือ การเปิดแพลตฟอร์ม DPI เหล่านี้ให้กับภาคเอกชนใช้งาน เพื่อสร้าง digital economy โดยไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ mobile banking ของไทยต้องลงทุนทำระบบยืนยันตัวตนกันเอง ทำสแกนหน้า dip chip กันเอง ฯลฯ เป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และมีแต่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถลงทุนสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ ปิดโอกาสของบริษัทเอกชนขนาดเล็กไปโดยปริยาย
By providing a common digital framework, they allow smaller companies and start-ups to build services without requiring them to create the underlying systems from scratch.