ภาพประกอบ: จากซ้าย เติ้งเสี่ยวผิง, เติ้งอิ่งเชา, ซ่งชิงหลิง
พรรคเพื่อไทยเริ่มทำ podcast (แบบวิดีโอเห็นหน้า) ใช้ชื่อรายการว่า What Happened to the 5th Tiger? เสือ (เศรษฐกิจ) ตัวที่ 5 หายไปไหน
ตอนแรกของรายการที่ออนแอร์ในวันที่ 7 ก.พ. 2021 มีแขกคนแรกคือ อ.พันศักดิ์ วิญญรัตน์
ตัวผมเองเคยไปสัมภาษณ์ อ.พันศักดิ์ เมื่อหลายปีก่อนและก็ยังคุ้นเคยกันอยู่ เคยฟังหลายเรื่องที่พูดในรายการนี้มาก่อนแล้ว
แต่อันที่เป็นของใหม่เพิ่งเคยฟัง คือ เบื้องหลังการเจรจายุติสงครามเขมร 4 ฝ่าย จากนั้นเข้าสู่นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ในสมัยรัฐบาลชาติชาย (2531-2534)
ปัจจัยสำคัญของการเจรจาสันติภาพคือจีน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเขมรแดงอยู่ ดังนั้นต้องไปคุยให้ฝ่ายจีนเห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพก่อน
ทีมของฝ่ายไทยที่ไปเจรจากับจีน มี อ.พันศักดิ์ กับ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกชายของ พล.อ.ชาติชาย ซึ่งทั้งสองคนอยู่ในคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก (ณ ตอนนั้น) สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อไปถึงจีนแล้ว คนแรกที่เข้าพบคือ เติ้งอิ่งเชา (Deng Yingchao) ภรรยาของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล (ที่ตายไปก่อนแล้วในปี 1976 ซึ่งเป็นช่วงก่อนนั้นหลายปี)
ตัวโจวเอินไหลถือเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของจีน ซึ่งมีคนเขียนถึงไปเยอะมากแล้ว คงไม่ต้องเขียนถึงซ้ำอีก (ประวัติย่อในเว็บ 101)
อ.พันศักดิ์เล่าในคลิปนี้ว่า ไปพบกับเติ้งอิ่งเชาตอนตี 2 ที่เธอกำลังผัดก๋วยเตี๋ยวอยู่ (ฟังแล้วก็งงๆ ว่าทำไมต้องผัดก๋วยเตี๋ยวตอนตี 2) โดย พล.อ.ชาติชาย ฝากรังนกมาให้เป็นของขวัญ จากนั้นวันถัดไป ก็ค่อยไปเจรจากับคณะผู้บริหารของรัฐบาลจีนต่อ
เนื่องจากไม่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนมากนัก ฟังแล้วก็งงๆ ว่าทำไมต้องไปเจอเติ้งอิ่งเช่าก่อน เลยไปค้นประวัติดู
พบคำตอบว่า เติ้งอิ่งเชานี้คือผู้หญิงที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลยก็ว่าได้
เติ้งอิ่งเชา อยู่กับวงการการเมืองของจีนมาตั้งแต่สมัยสาวๆ เพราะเธอเป็นหนึ่งใน “ขบวนการ 4 พฤษภา” ที่เปรียบเป็น “ต้นธาร” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลยก็ว่าได้ (ผู้นำขบวนการคืออาจารย์มหาวิทยาลัยยุคนั้น ซึ่งเป็นอาจารย์ของเหมาเจ๋อตง และคนอื่นๆ) และเธอก็ได้พบกับสามีในอนาคตคือ โจวเอินไหล ในขบวนการนี้เช่นกัน
เติ้งอิ่งเชา เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1925 และมีประสบการณ์ในการเดินทางไกล (Long March) แถมยังรอดมาได้ ในช่วงก่อตั้งประเทศ เธอมีบทบาทในการไปเชิญ ซ่ง ชิ่งหลิง (Song Ching Ling) ภรรยาม่ายของซุนยัตเซ็น ผู้ก่อตั้งประเทศจีนยุคสาธารณรัฐ มาที่ปักกิ่งเพื่อเตรียมก่อตั้งรัฐบาลใหม่
หลังจากนั้น เติ้งอิ่งเชา ก็ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายอย่างของพรรค และสภาประชาชน (แต่ไม่เคยอยู่ในตำแหน่งของรัฐบาล)
ครอบครัวของโจวเอินไหลยังมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางเชื่อมคือครอบครัวของสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาของจอมพล ป. ที่ส่งลูกชายและลูกสาวไปอยู่กับครอบครัวโจวเอินไหลนานหลายปี ซึ่งในภายหลังครอบครัวพัธโนทัยก็มีบทบาทใน “การทูตปิงปอง” อันลือลั่นด้วย
ช่วงที่ทีมของ อ.พันศักดิ์ กับ อ.ไกรศักดิ์ ไปเยือนเติ้งอิ่งเชา (น่าจะราวปี 2531-2532 หรือปี 1988-1989) ถือเป็นช่วงบั้นปลายของเธอแล้ว เพราะเธอลาออกจากตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในช่วงนี้ (1985 เป็นต้นมา) ป่วยหนักในปี 1990 และเสียชีวิตในปี 1992
แต่อิทธิพลของเติ้งอิ่งเชาในพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ช่วงแรก ก็ไม่น่าแปลกใจว่าในทางการทูตแล้ว เราต้องไปเยือนเธอก่อน เพื่อเปิดช่องทางให้ทุกอย่างง่ายขึ้นนั่นเอง
หมายเหตุ: เคยมีหนังสือเขียนถึงเติ้งอิ่งเชาเป็นภาษาไทยด้วย แต่เก่ามากแล้ว (พิมพ์ปี 2532)