in Economics, Thoughts

Climate Strike – First World Problem

โลกตะวันตก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว กำลังตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม (ซึ่งจุดขึ้นมาโดย Greta Thunberg สาวน้อยวัย 16 ปีจากสวีเดน) ที่รวมตัวกันออกมาเดินประท้วง Climate Strike เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศของตัวเอง สนใจปัญหาเหล่านี้

หลายประเทศมีคนออกมาเดิน Climate Strike เป็นจำนวนมากเป็นหลักหมื่นหลักแสนคน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี การตื่นตัวในปัญหาแบบนี้ดีเสมอแหละ

แต่ย้อนกลับมามองประเทศไทยวันที่ 20 กันยายน เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องชีวิตความเป็นอยู่จากเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานได้เลย เรายังทะเลาะกันอยู่ว่านายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ไป ทำไม ส.ส. พรรคฝ่ายค้านไม่มาต้อนรับ

วันก่อนไปงานแถลงข่าวของ SCB เรื่อง SME สถานการณ์เศรษฐกิจในไทยกำลังมีปัญหาหนัก เจอข่าวส่งออกติดลบกันมา 8 เดือนติดต่อกัน อ่านข่าวร้านอาหารหลายร้านกำลังจะปิดตัว เพราะมีคนกินน้อยลง ไม่สามารถต่อสู้กับค่าเช่าได้อีกแล้ว

ตอนเย็นผมขับรถกลับบ้าน ฝนตกพรำๆ เส้นทางออกนอกเมืองบางเส้นมีสภาพจราจรในระดับหยุดนิ่ง พอมาถึงใกล้หน้าบ้าน ผมไม่สามารถยูเทิร์นเข้าบ้านได้เพราะรถติดไม่ขยับ ต้องจอดรถไว้ฝั่งตรงข้ามแล้วเดินเข้าบ้านเอา รอ 4-5 ทุ่มรถหายติดแล้วค่อยกลับไปเอารถ

ว่าแล้วก็สะท้อนใจ นึกถึงคนที่นั่งอยู่บนรถเมล์บนถนนที่รถติดแบบหยุดนิ่งเหล่านี้ ว่าพวกเขาจะกลับถึงบ้านกันตอนไหน เส้นทางยังอีกยาวไกล การเดินทาง 1 เที่ยวอาจต้องใช้เวลานานถึง 3-4 ชั่วโมงสำหรับเย็นเมื่อวานนี้

แล้วคนเหล่านี้จะมีเวลามาสนใจ Climate Strike กันหรือ? ชวนให้คิดเหลือเกินว่ามันเป็น first world problem จริงๆ

อย่างที่เขียนไปว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้า resource เรามีจำกัดจริงๆ เราจะเลือกทุ่มเททรัพยากรไปแก้ปัญหาไหนก่อน ผมคิดว่าไม่ใช่การออกมาเดิน Climate Strike แน่ๆ

คนที่ใส่ใจกับ Climate Strike เองก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ที่คนอื่นเขา “ไม่อิน” แบบเดียวกับเรา เพราะเขามีปัญหาอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นในชีวิตให้ต้องโฟกัสอยู่

เอาเรื่องนี้ไปโพสต์ในทวิตเตอร์

มีคนส่งลิงก์โพสต์ Facebook มาให้ ก็ดีใจที่มีคนคิดเหมือนกัน (เขียนได้ดีกว่าเราอีก)

หมายเหตุ: ภาพเปิดตอนเอามาจาก Twitter ของโอบามา