in Technology

ศาสนจักรและ AI

มีโอกาสได้ฟังสัมภาษณ์บาทหลวง Paolo Benanti ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้าน AI ให้กับพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน (Pope Francis)

ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิด โป๊ปมีตำแหน่งที่ปรึกษา AI ด้วย

หลวงพ่อ Benanti เป็นชาวอิตาลี เกิดในกรุงโรม ครอบครัวเป็นวิศวกร เติบโตมาแบบคนอิตาลีทั่วไป เป็นแฟนบอลทีมโรม่า สนใจด้านเทคโนโลยี  เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์สาขาเครื่องกล แต่ก็เกิดคำถามในใจตลอดเวลาว่า แค่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ มนุษย์มีอะไรที่ลึกไปกว่านั้น

พอได้มาเจอกับศาสนา (นิกายฟรานซิสกัน) ตอนอายุ 25 ปี เขาจึงคิดว่านี่คือสิ่งที่ตามหามานาน และเข้ามาสู่เส้นทางบาทหลวงอย่างเต็มตัว ปัจจุบันหลวงพ่อทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Pontifical Gregorian University ของวาติกัน งานธีสิสปริญญาเอกทำเรื่อง The Cyborgs. Body and corporality in the posthuman era

สิ่งที่หลวงพ่อ Benanti สนใจเป็นเรื่องเทคโนโลยีกับจริยธรรม (ethics) โดยเฉพาะแง่มุมของชีวิต สิ่งที่เกี่ยวพันกับมานุษยวิทยา (anthropology)

อาจารย์คนหนึ่งของหลวงพ่อ Benanti ที่รู้จักกันมาแต่เด็กคือ Vincenzo Paglia ปัจจุบันขึ้นเป็นอาร์คบิชอปแห่งวาติกัน เป็นประธานสถาบัน Pontifical Academy for Life ที่ศึกษาวิจัยเรื่องมุมมองต่อ “ชีวิต” ในแง่มุมต่างๆ รวมถึง AI ด้วย

Paglia เป็นหนึ่งในคนสนิทของโป๊ป มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวาติกัน ทำให้ Benanti ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคคู่ใจของ Paglia มีบทบาทอย่างสูงตามไปด้วย

หลวงพ่อ Benanti จึงเป็นคนที่มีส่วนผสมอันหาได้ยาก ทั้งเทคโนโลยี จริยธรรม ศาสนา พูดได้ทั้งอังกฤษและอิตาเลียน มีหัวสมัยใหม่มากพอ (ใส่ยีนส์ สะพายเป้ ไปสอนหนังสือ ภายใต้เสื้อคลุมบาทหลวง) และมีคอนเนคชั่นระดับสูงมากพอในวาติกัน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกทั้งสอง (ศาสนจักร โลกฆราวาส) ได้ดีเยี่ยม

ตัวของโป๊ปฟรานซิสเอง เป็นโป๊ปยุคใหม่ แถมมาจากภูมิภาคที่แตกต่าง (มาจากอาร์เจนตินา ต่างจากโป๊ปองค์ก่อนๆ ที่เป็นยุโรปล้วน) ทำให้โป๊ปมีมุมมองทันสมัย ต้องการให้คริสตจักรหัวก้าวหน้ามากขึ้น ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และสนใจผลกระทบของเทคโนโลยี (ทุกอย่างในภาพรวม)

ความร่วมมือของโป๊ปฟรานซิส, อาร์คบิชอป Paglia, และหลวงพ่อ Benanti ทำให้คริสตจักรมีโครงการชื่อ Rome Call for AI Ethics ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Microsoft, IBM  มาตั้งแต่ปี 2020 (ก่อน GPT บูม) เป้าหมายเพื่อร่วมกันศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการ AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ตัว Rome Call for AI Ethics อาจเป็นแค่กรอบกว้างๆ ว่าเทคโนโลยี AI ต้องมีความโปร่งใส (transparency) ต้องตรวจสอบได้ (accountability) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusion) คงไม่ไปถึงขั้นคำถามใหญ่ๆ ว่า AI จะมาแทนพระเจ้าได้หรือไม่

“AI has the power to produce another technological revolution . . . [and] it can usurp not only the power of workers, but also the decision-making power of human beings,”

โครงการ Rome Call ยังไปไกลถึงขั้นข้ามศาสนาด้วย เพราะมุมมองของวาติกัน (ยุคนี้) มองว่าผลกระทบของ AI เกิดขึ้นกับชาวโลกทุกคน จึงเข้าไปพูดคุยกับผู้นำศาสนากลุ่ม Abrahamic ด้วยกันคือ ยูดายและอิสลาม แถมเชิญมาลงชื่อเข้าร่วมโครงการ Rome Call ได้อีกต่างหาก

หลวงพ่อ Benanti บอกว่าน่าจะเป็นครั้งแรกที่คริสต์ ยูดาย และอิสลาม เห็นด้วยตรงกันในเรื่องเดียวกัน (for the first time, we are agreeing on something) ว่า AI มีทั้งประโยชน์และโทษ ควรต้องมาคิดหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับมันดี

นอกจากยูดายและอิสลามแล้ว โครงการ Rome Call ยังมีแผนมาพูดคุยกับศาสนาฝั่งตะวันออกในเอเชีย เช่น พุทธ ฮินดู ชินโต โดยจะมีประชุมกันที่ฮิโรชิมาในเร็วๆ นี้ (เลือกสถานที่เชิงสัญลักษณ์ เพราะฮิโรชิมาคือเมืองที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์)

เรียกได้ว่า วาติกันยุคนี้มีความทันสมัยมาก และกล้าลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเชิงรุกในการถกเถียง สนทนา หาความร่วมมือ ในหัวข้อใหม่ๆ ที่เกิดผลกระทบสูงต่อชาวโลก

อย่างที่เขียนไปว่า Rome Call คงไม่ได้ไปไกลถึงขั้นเปรียบเทียบ AI กับพระเจ้า แต่มีมุมมองระดับ AI ต่อมนุษย์ เช่น ความกังวลว่า อัลกอริทึมจะมองมนุษย์เป็นแค่ตัวเลข ไม่ใช่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้ออีกต่อไป

“Algorithms make us quantifiable. The idea that if we transform human beings into data, they can be processed or discarded, that is something that really touches the sensibility of the Pope,”

“If you look at what happened to children and the elderly in the first industrial revolution, they were either overused or excluded by the changes in society. The way AI could reshape the way in which wealth and power is distributed could be really unmerciful for the most fragile ones.”

ประเด็นสำคัญอีกข้อที่ Rome Call ให้ความสำคัญคือความหลากหลายของการกำกับดูแล AI ให้ครอบคลุมทุกวัฒนธรรม ไม่ใช่ให้อำนาจไปอยู่ใต้วิธีคิดแบบ “วิศวกรคนขาวซิลิคอนวัลเลย์” เพียงมุมมองเดียว

Perhaps more importantly, AI used in most of the world is designed by California-based engineers who bake their own perspectives into the code.

มุมมองแบบชาวเทคในแคลิฟอร์เนีย มักเอนเอียงไปทางคนที่ไม่มีศาสนา (atheist) และมีความเป็นปัจเจกนิยมสูง มีความคิดการเมืองแบบ libertarian สูง อาจส่งผลให้อัลกอริทึมที่สร้างออกมาโน้มเอียงไปทางนั้น ซึ่งมันไม่เหมาะกับทุกวัฒนธรรม

“I would call Silicon Valley’s ethos almost libertarian and very strongly atheist, but usually replacing that atheism with a religion of their own, usually transhumanism or posthumanism,” says Kanta Dihal, a researcher of science and society at the University of Cambridge. “[It’s] a ‘man becoming god’ kind of narrative, which is strongly influenced by a privileged white male perspective shaping what the future might look like.”

งานวิจัยของ Swiss Federal Institute of Technology พบว่าเอกสารด้าน AI ethics ส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นโดยบริษัทเทคโนโลยี หรือรัฐบาลโลกตะวันตก ซึ่ง “raises concerns about neglecting local knowledge, cultural pluralism and the demands of global fairness”.

การที่บริษัทเทคและรัฐบาลโลกตะวันตกมีจุดอ่อนด้านความเข้าอกเข้าใจความเป็นมนุษย์ (กับทุกเรื่อง) จึงน่าสนใจว่าช่องว่างอันนี้ถูกเข้ามาเติมโดยศาสนจักรยุคใหม่ ที่เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความเข้าอกเข้าใจมนุษย์ที่สั่งสมมาเป็นพันปี และการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยแล้วเป็นอย่างดี (พูดเรื่องชีวิตมากขึ้น พูดเรื่องพระเจ้าน้อยลง)

การวิจารณ์เรื่อง AI Ethics ของวาติกันจึงออกมาดูดีกว่าบริษัทเทคที่เราคุ้นเคยกันอย่างมาก ตรงนี้อาจพอพูดได้ว่า ยิ่งเครื่องจักรมีความเหมือนมนุษย์มากขึ้นเท่าไร เรายิ่งต้องศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์มากขึ้นไปด้วย