in Politics, Thoughts

Children of Tomorrow

ภาพประกอบ Jonathan Petersson / Pexels

เมื่อพูดถึงกระแสความเปลี่ยนแปลง คนจำนวนไม่น้อยมักนึกถึงเพลง Wind of Changes ของวง Scorpions

บริบทของเพลงนี้คือแต่งในปี 1991 ช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย ในเนื้อเพลงเลยมีพูดถึงมอสควา (Moskva) หรือมอสโก และสวนสาธารณะ Gorky Park (ตั้งชื่อตามนักเขียน Maxim Gorky)

ท่อนฮุกของเพลงนี้ พูดถึงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ในจุดที่ “เด็กๆ แห่งอนาคต” วาดฝันของพวกเขากัน

Take me to the magic of the moment
On a glory night
Where the children of tomorrow share their dreams

ช่วงนี้ได้อ่านบทความหลายชิ้นที่พูดถึงเรื่องนี้ เลยอยากมาบันทึกไว้เป็นหลักเป็นแหล่งสักหน่อย

ชิ้นแรกมาจาก อ.นิธิ อีกแล้ว พูดถึง “ฐานความคิดของการเปลี่ยนแปลง” โดยชี้ประเด็นว่า ถึงแม้การเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่มาดันคนรุ่นก่อนหน้านั้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมานับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์

แต่การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มันยิ่งใหญ่กว่าครั้งก่อนๆ มาก

ผมและอีกหลายคนกำลัง “รู้สึก” ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดในเมืองไทยเวลานี้ จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ อย่างน้อยก็เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิมรองรับ อันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ได้สั่งสมเงื่อนไขมานานและกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น คนชั้นกลางขยายจำนวนเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว แต่ไม่ใช่คนชั้นกลางที่อาจโผล่พ้นความอัตคัดขาดแคลนได้เต็มที่เหมือนเดิม หากเป็นคนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่ได้มีวุฒิบัตรการศึกษาสูงนัก แต่เข้ามาผลิตและบริโภคในตลาดของคนชั้นกลางเต็มตัว ฯลฯ

นอกจากในแง่จำนวนและปริมาณแล้ว อ.นิธิ ยังพูดถึง “ฐานความคิด” ของการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ด้วยว่า มันไม่ใช่แค่การขับไล่ผู้นำ แต่เป็นการจินตนาการถึงสังคมที่ดีอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ผมหมายความแต่เพียงความคิดทางการเมืองที่มากกว่าการขับไล่ผู้นำซึ่งตนไม่พอใจเท่านั้น หากมีจินตนาการถึงสังคมที่ดี หรือการเมืองที่ดี ว่าอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการจัดองค์กรทางสังคมและการเมืองอย่างไร

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ แม้ว่าส่วนใหญ่ของมวลชนอาจไม่มีจินตนาการเช่นนั้นชัดเจนนัก แต่จำนวนของคนที่มีจินตนาการดังกล่าวมีมากกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย บางคนอาจเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว แต่อีกหลายคนเป็นแต่เพียงผู้สนับสนุน ทั้งในถนนและนอกถนน ส่งเสียงให้ได้ยินผ่านสื่อโซเชียลซึ่งทำให้ประชาชนมีเสียงดังอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ลองเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2475 แม้ว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้นำอาจมีความคิดทางสังคมและการเมืองที่ชัดเจน แต่คณะราษฎรเองก็มีจำนวนของผู้เข้าร่วมน้อยมาก ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเพียงไม่พอใจต่อการบริหารงานของระบอบเก่าเท่านั้น

อ.นิธิ วิเคราะห์ปัจจัยว่าเกิดจากการเสพสื่อตะวันตกที่กว้างขวางขึ้นมาก (ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วในตอน Global Village แต่เน้นไปที่สื่อบันเทิงเป็นหลัก) ตัวอย่างสื่อที่ อ.นิธิ เอ่ยถึงคือ สามัญสำนึก (Common Sense) ของ Thomas Paine ที่สำนักพิมพ์ Bookscape นำมาแปลจำหน่าย (คนที่สนใจเรื่องนี้ แนะนำให้อ่านโพสต์เล่าเบื้องหลังการออกหนังสือ Common Sense โดย อ.ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์)

การที่คนเข้าถึงความคิดจากโลกตะวันตกเหล่านี้ ทำให้คนไทยจินตนาการถึงเมืองไทยในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบัน (Imagined Communities)

อีกบทความคือ บทสัมภาษณ์ทนายอานนท์ นำภา โดยคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่สัมภาษณ์อานนท์ในเชิงลึกหลายประเด็น

คนรุ่นใหม่เป็นเจเนอเรชั่นที่ประหลาด เขาไม่รู้สึกกลัวเหมือนเราเคยกลัว ผมจะพูดเสมอว่าการที่ผมไปปราศรัย ผมต้องใช้ความกล้ามากที่จะพูดแต่ละครั้ง แต่กับคนรุ่นใหม่ เด็กมัธยมฯ เขาไม่ได้ใช้ความกล้า เขาใช้สามัญสำนึก คือไม่รู้สึกกลัวในสิ่งที่พูด เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผมกลัว กังวล เราอยู่ในการหล่อหลอมที่ต้องกลัว ระมัดระวัง ต้องใช้คำพูดที่ไม่ผิดกฎหมาย

ทำไมผมพูดแล้วคนจำนวนมากรับฟังได้ เพราะผมมีความกลัวไง ผมต้องบิดคำ พลิ้ว ดัด แต่น้องๆ ขึ้นเวที เขาไม่มีความกลัวแบบเรา มันไม่ใช่ความกล้าด้วยนะ เขาพูดซื่อๆ แบบปกติ มือไม้ไม่สั่น แต่เราสั่น นี่คือความต่างของผมกับน้อง

ประเด็นของอานนท์ชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดของคนรุ่นใหม่แตกต่างไปจากเดิมมาก มีคนมาพูดให้ผมฟังหลายครั้งเหมือนกัน (ต่างกรรมต่างวาระ) ว่าคนรุ่นใหม่จะคิดว่าตัวเองเป็นประชากรของโลก และมีแนวคิดเรื่องประเทศต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ นี่คงเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่บ่งบอกถึงทิศทางเดียวกันนี้