ดูคลิปของ Financial Times พยายามหาทางออกให้ปัญหา ปี 2024 เป็นปีที่ CEO พ้นจากตำแหน่งเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ แล้วมีประเด็นน่าสนใจเรื่อง succession plan ของตำแหน่ง CEO
เหตุผลที่ FT อธิบายว่าปี 2024 มีการเปลี่ยนตำแหน่ง CEO กันเยอะ มาจากปัจจัยว่าช่วง Covid มีการเปลี่ยนตัว CEO น้อยกว่าที่ควรจะเป็น มันเลยอั้นการเปลี่ยนแปลงมานาน และปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง หลังรัสเซียบุกยูเครน อัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ต้นทุนเพิ่ม เงินเฟ้อสูง การบริหารธุรกิจยากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำองค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำอย่างไรมันถึงจะสมูธ?
คลิปนี้ไปสัมภาษณ์ Valerie Mocker ซีอีโอของบริษัท Wingwomen ซึ่งทำงานด้าน coaching และตัวเธอเองรับบทบาทเป็นทั้ง CEO และบอร์ดของบริษัทอื่นด้วย ให้มุมมองว่าในฐานะบอร์ด ควรทำอย่างไรเพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนตัวผู้นำ
Valerie เปรียบเทียบเรื่องแผน succession plan ของบริษัท ว่าเหมือนการเตรียมแผนเกษียณของบุคคล ไม่ได้แปลว่าเราจะมีเงินมากพอสำหรับการเกษียณ แต่มีแผนเตรียมไว้ย่อมดีกว่าเสมอ ดังนั้น บอร์ดควรเตรียมเรื่อง succession plan ของ CEO ไว้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การพูดเรื่อง succession plan กับตัว CEO นั้นไม่ง่าย เพราะอาจทำให้ CEO รู้สึกว่าบอร์ดไม่พอใจผลงาน เตรียมไล่ออกได้ง่ายมาก
ดังนั้น กระบวนการที่ถูกต้องคือ ควรพูดเรื่อง succession plan กับ CEO คนนั้นไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งเลย เป็นการบริหารความคาดหวัง (set the expectations) เพื่อที่ว่า CEO จะตระหนักรู้อยู่เสมอว่า ตำแหน่ง CEO นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงสักวัน
Valerie บอกว่าในฐานะบอร์ด เธอจะถามคำถามเรื่อง succession ตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ CEO เลย ว่าคุณอยากอยู่ในตำแหน่งนี้นานเท่าไร เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วต้องการไปทำอะไรต่อ และระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ จะมีกระบวนการทำงานอย่างไรเพื่อฝึกฝนให้ลูกน้องทำตามแนวทางของตัวเองได้ แม้ลงจากตำแหน่งไปแล้ว
ประเด็นเรื่องนี้ พี่โจ้ ธนา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ดีมาก “มืออาชีพต้องคิดถึงจุดจบ” แปะคลิปสักหน่อย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ นอกจากมี “แผน” (succession plan) แล้ว ควรมี “กระบวนการฝึกฝน” (succession practice) ให้คนในองค์กรลองมาทำงานที่มีความรับผิดชอบแบบเดียวกับ CEO ด้วย เพื่อว่าหากมีวิกฤตฉับพลันฉุกเฉิน เช่น CEO ป่วย, CEO มีเรื่องฉาว จะได้มีคนที่สามารถเข้ามาทำงานแทนได้ทันที แม้เป็นแค่การรักษาการช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม
บทความเก่าที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
หมายเหตุ: ยืมภาพประกอบจากซีรีส์ Succession ของ HBO มาใช้งานเพราะเท่ดี แต่เนื้อหาไม่เกี่ยวกันเท่าไรนัก เพราะในซีรีส์เป็นเรื่อง “ทายาท” ของธุรกิจครอบครัว ต่างจากโพสต์นี้ที่เป็นเรื่อง CEO มืออาชีพ