in Business

Business of Fake Meat

อ่านบทความใน Bloomberg Businessweek ว่าด้วยธุรกิจ “เนื้อเทียม” (fake meat) จำพวก Beyond Meat, Impossible Food ว่าธุรกิจนี้ไม่ปัง ไม่บูมอย่างที่วาดฝันกันไว้

ส่วนตัวไม่ได้เป็นลูกค้าเนื้อกลุ่มนี้อยู่แล้ว (เคยลองกินเล่นๆ 1-2 ครั้งให้รู้ว่าเป็นอย่างไร) พบว่าน่าสนใจดี ควรมาจดประเด็นเก็บไว้หน่อย

  • เนื้อเทียมเหล่านี้เป็น ultra-processed food ที่เกิดจากการสังเคราะห์พืชตระกูลถั่ว และน้ำมันต่างๆ (เลียนแบบไขมันในเนื้อสัตว์) ใส่โซเดียมเยอะ ดังนั้นไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ (healthy food) แน่นอน แม้ภาพลักษณ์ในการโฆษณาจะชี้นำไปในทิศทางแบบนั้น (อาจช่วยได้ในกรณีคนที่กินเนื้อไม่ได้เพราะมีโรคบางอย่าง แต่ก็มีสัดส่วนที่น้อยมาก)
    • ตัวอย่างของ Burger King อ้างอิงจากสถิติบนหน้าเว็บ ถ้าเลือก Whopper เนื้อวัว มีโซเดียม 1,173.9 mg แต่ถ้าเป็น Impossible Burger มีโซเดียม 1,408.8 mg
  • เชนอาหารแนวสุขภาพหลายแห่ง เช่น Chipotle หรือ Whole Food ปฏิเสธการขายเนื้อปลอมแบบนี้ เพราะมองว่าไม่ได้ช่วยเรื่องสุขภาพ
  • ข้อดีหลักๆ เพียงอย่างเดียวของเนื้อเทียมคือลดการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งจะมองในแง่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (การปล่อยคาร์บอนจากสัตว์) หรือจะในแง่สงสารสัตว์ก็แล้วแต่บุคคล
  • ปัญหาอีกอย่างของเนื้อเทียมคือ ราคายังแพงกว่าเนื้อสัตว์จริงๆ ด้วยซ้ำ เมื่อเจอปัญหาเงินเฟ้อในปี 2022 ยิ่งทำให้มันแพงขึ้นไปอีก คนจำนวนหนึ่งเลยกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุน
  • ธุรกิจเนื้อเทียมเติบโตอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่โตต่อแล้ว และเริ่มหดตัวลง แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดหลายแบรนด์เริ่มถอดออกจากเมนู (6% of all burgers and sandwiches in 2021 to 4% in 2022) พูดง่ายๆ คือจะไม่โตต่อจนกลายเป็น mainstream แต่จะกลายเป็น niche ไปแทน
  • คนที่สนับสนุนธุรกิจเนื้อเทียม มักเทียบกรณีกับ “นมพืช” (alt-milk) ที่จุดติดพอสมควร จุดต่างสำคัญคือ 1) นมพืช มีคนต้องกินเพราะกินนมวัวไม่ได้อยู่เยอะ (แพ้แลกโตสในนม) กับ 2) นมใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารอื่นๆ เยอะกว่าเนื้อ ที่ใช้กินเป็นอาหารหลัก จึงทำให้ธุรกิจนมพืชนั้นเติบโตได้กว้างขวางกว่ามาก