ดูคลิปของ Robert Reich อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสหรัฐ ยุคคลินตัน ที่ตอนหลังกลายเป็นอาจารย์สอนวิชา public policy ที่ U.C. Berkley ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เรื่อง The Great Resignation แล้วมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง
ที่น่าสนใจที่สุดคือคำว่า “brutal capitalism” ซึ่งหมายถึง “ทุนนิยมที่โหดร้าย”
เรื่องปัญหาของระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้ว ตัวของ Reich ถือเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้าย จะวิจารณ์ระบบทุนนิยมอเมริกันก็คงไม่แปลกนัก สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการวิจารณ์ของ Reich มากกว่า
จดประเด็นสำคัญจากในคลิป (10 นาทีแรกดีมาก แนะนำ)
- งานสายใดที่ได้รับผลกระทบจาก The Great Resignation ที่สุด
- งานสาย hospitality (ร้านอาหาร โรงแรม) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา งานสายนี้ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก และผลตอบแทนไม่ดีนัก
- งานสาย healthcare จะเพิ่มขึ้นมากจากสังคมสูงวัย
- งานสายเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว งานสายนี้ต้องใช้ทักษะขั้นสูง จ่ายดี
- งานสายการเงิน อาจไม่เฟื่องฟูเท่ากับ 20-30 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังเป็นงานที่จ่ายดี
- ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “labour shortage” หรอก กลับกันคือ คนทำงานขาดแคลนปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนที่ดี สวัสดิการต่างๆ
- คนทำงานค้นพบว่าตัวเองทำงานหนัก แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี ไม่ได้รับความเคารพจากนายจ้าง ไม่รู้ว่าชีวิตการทำงานจะไปจบที่ตรงไหน ปรากฏการณ์ Great Resignation คือคนจำนวนมากบอกว่า “ไม่เอาแล้ว”
- การลาออกจำนวนมากครั้งนี้ เทียบได้กับการประท้วงหยุดงาน (general strike)
- สิ่งที่น่าติดตามคือ สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมมี demand ที่อั้นมาจากช่วงโควิดมาก พอเศรษฐกิจเติบโต แต่คนไม่พอทำงาน ทำให้คนทำงานมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเดิมมาก และสภาพเศรษฐกิจก็น่าจะมี demand สูงไปอีกพักใหญ่
- สถานการณ์นี้ทำให้นายจ้างอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก เพราะตลาดเติบโต นายจ้างจำเป็นต้องจ้างคนทำงานเยอะ ถึงสามารถตอบสนองกำลังซื้อได้
- แต่ฝั่งลูกจ้าง ก็ค้นพบว่าตัวเองไม่สามารถยอมรับการทำงานแบบเดิม ค่าตอบแทนแบบเดิม สวัสดิการแบบเดิม สภาพการทำงานแบบเดิม ได้อีกแล้ว
- การทำงานแบบ remote กลายเป็นมาตรฐานใหม่ พอคนจำนวนมากต้องหยุดไปออฟฟิศ เปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้าน นายจ้างยอมให้เกิดขึ้นได้ คนจำนวนหนึ่งก็มองว่า ถ้าคนอื่นทำงาน remote ได้ เราก็ควรทำได้ ถ้านายจ้างไม่ยอม เราก็หานายจ้างใหม่ที่ยอม
- คนเจน Z ยิ่งมีพฤติกรรมเหล่านี้ชัดขึ้น เพราะคนเจนนี้มองดูคนเจนก่อน แล้วบอกกับตัวเองว่าไม่อยากมีชีวิตแบบนี้อีกแล้ว ไม่อยากมีชีวิตเพื่อทำงาน (live to work) อยากทำงานเพื่อใช้ชีวิต ซึ่งเป็นคุณค่าคนละอย่างกับคนรุ่นก่อน
- บริษัทส่วนใหญ่ต้องการคนทำงาน ที่เชื่อถือได้ (reliable) ที่เก่ง (talented) บริษัทพวกนี้เรียนรู้แล้วว่า ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งคนแบบที่ต้องการ
- คนที่ทำงานจ้างรายชั่วโมง ค่าจ้างต่ำกว่า มีอำนาจต่อรองต่ำกว่า ถ้าเศรษฐกิจกลับมาปกติ อำนาจต่อรองจะยิ่งหายไป แต่ถ้าคนทำงานจ้างรายชั่วโมงเหล่านี้จำนวนมากพอ ปฏิเสธว่าไม่เอาชีวิตแบบเดิมอีกแล้ว นายจ้างก็ไม่มีทางอื่นนอกจากปรับตัว
- ปัญหาขาดแคลนคนทำงาน จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐหรือไม่
- Reich มองว่าไม่ และมองว่าถ้าคนทำงานมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ได้ทำงานจากที่บ้าน เดินทางน้อยลง ไม่ทนทุกข์เหมือนก่อน ผลคือ productivity ดีขึ้นเอง เศรษฐกิจจะดีขึ้นในภาพรวม
- Reich ยังถามกลับว่า ตกลงแล้วอะไรสำคัญกว่ากัน คุณภาพชีวิตของคนทำงาน หรือ GDP
- เปรียบเทียบสหรัฐ กับประเทศอย่างเดนมาร์กหรือฟินแลนด์ โดยบอกว่าทุกประเทศก็เป็นทุนนิยม แต่ทุนนิยมมีหลายระดับ ตั้งแต่ soft capitalism ไปจนถึง very brutal capitalism ซึ่งสหรัฐอยู่ในกลุ่มหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนทำงานจ้างรายชั่วโมง ก็จะเจอความโหดร้ายของทุนนิยมหนักที่สุด แต่ต่อให้เป็นพนักงานเงินเดือน ก็ยังเจอความโหดร้ายอยู่ดี
เรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาของทุนนิยมนี่เป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีความเห็นหรือไอเดียมากนัก ขอจดเก็บไว้อ่านอย่างเดียวก่อน