Quartz เป็นเว็บข่าวธุรกิจอันหนึ่งที่ผมชอบอ่านมานาน และเคยเขียนถึงไว้เมื่อปี 2019 ตอนที่ Quartz เปลี่ยนเจ้าของ และเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็น subscription
เส้นทางชีวิตของ Quartz หลังจากนั้นคือไปได้ไม่สวยนัก จนสุดท้ายกลุ่มบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง รวมตัวซื้อหุ้นมาจากบริษัทญี่ปุ่น Uzabase ที่เป็นเจ้าของรายก่อน
ล่าสุด หลังผ่านมา 3 ปี Quartz บอกว่าเลิกระบบ paywall แล้ว เปิดเนื้อหาในอ่านฟรีทั้งหมด แต่ยังหารายได้จาก subscription อยู่ต่อไป โดยผู้ที่จ่ายเงินเป็นสมาชิก (มีราว 25,000 ราย) จะได้เข้าถึงฟีเจอร์จดหมายข่าวทางอีเมล สรุปข่าวรายสัปดาห์ และเนื้อหาพิเศษอื่นๆ
เหตุผลของ Quartz บอกว่าฐานสมาชิก 25,000 คนนั้น จ่ายเงินเพื่อฟีเจอร์อีเมลเป็นเหตุผลหลัก และสนับสนุนเว็บไซต์เป็นเหตุผลรอง แต่ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเนื้อหาแบบ exclusive
วิธีการหารายได้ของ Quartz จะเป็นการผสมผสานระหว่างโฆษณา กับรายได้จากค่าสมาชิกต่อไป
กรณีของ Quartz ถือว่าน่าสนใจ เพราะสวนทางกับสื่อยุคหลังที่หันมาเก็บค่าอ่านผ่าน paywall กันหมด อย่างไรก็ตาม โมเดลการมี paywall อาจไม่ง่ายนักกับสื่อขนาดเล็ก-กลาง ที่ไม่ใช่สื่อแบบบิ๊กเนมเหมือน The New York Times หรือสื่อใหญ่ระดับรองๆ ลงมา
Zach Seward ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Quartz พูดถึงเรื่องการสร้างความแตกต่างจาก subscription ของสื่ออื่นๆ เอาไว้ใน Financial Times (paywalled)
“As we have this proliferation of subscription offerings from every news organisation under the sun . . . it’s becoming increasingly important to be clear and differentiated in the motivations for paying for one thing versus another,”
“It’s an easier proposition for the FT starting with a larger brand recognition and base of subscribers to have that influence and not feel like it’s limited by the paywall. For us, [it’s] totally different,” Seward said.
ตอนนี้ Quartz ยังมีเนื้อหาพรีเมียมเฉพาะภูมิภาค เช่น Quartz Africa หรือ Quartz Japan ที่ยังเก็บเงินค่าอ่านอยู่ ถือเป็นอีกโมเดล subscription ที่น่าสนใจดี
Seward ยังเทียบโมเดลของ Quartz กับ The Guardian ของอังกฤษ ที่เน้นรายได้จากการบริจาคเงินโดยผู้อ่าน ซึ่งการเก็บค่าสมาชิกจาก “แฟนคลับเหนียวแน่น” ของ Quartz ก็คล้ายกัน (ดูตรง help make Quartz accessible to everyone)
ในอีกด้านคือ Quartz ยุคใหม่ภายใต้ Seward เป็นเจ้าของเองคือ ลดค่าใช้จ่ายจากยุคของ Uzabase ลง ปลดพนักงานออกเกือบครึ่ง ปัจจุบันมีพนักงานสายคอนเทนต์อยู่ราว 50 คน
ภาพประกอบจาก Pexels