ระบบประกันสุขภาพของไทย หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นหนึ่งสิ่งที่คนไทยภูมิใจ แต่มันถูกสร้างขึ้นมาแล้วเกือบ 30 ปี เวลาผ่าน สังคมเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ย่อมมีปัญหามากมาย ทั้งปัญหาเก่าที่ยังแก้ไขไม่ได้ (การจัดการ บริหารงบประมาณ) และปัญหาใหม่ (สังคมชราภาพ คนป่วยเยอะขึ้น ต้นทุนค่ารักษาแพงขึ้น)
ความซับซ้อนของระบบสุขภาพไทย (ที่ไม่ใช่แค่ 30 บาท) นั้นสูงมาก มันไม่มี silver bullet ที่แก้ปัญหาโชะเดียวจบ แต่การจะแก้ได้เราต้องเห็นภาพใหญ่ก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้น
คลิปสัมภาษณ์อันนี้ของ รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อันนี้ดีมาก ละเอียดมาก ให้ภาพองค์รวมได้ดีมาก สำหรับชาวบ้านธรรมดาๆ แบบเราที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงสาธารณสุข ได้เข้าใจว่าทุกวันนี้มันเกิดอะไรอยู่
ประเด็นที่คุยในคลิปมีเยอะมาก แต่ที่ผมว่าสำคัญ และเป็นเรื่องภาพใหญ่ big picture จริงๆ มีอยู่ 2 เรื่องคือ
1. ระบบกองทุนสุขภาพไทย
ที่ตอนนี้มี 3 กองทุนใหญ่คือ
- กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. หรือ 30 บาท) เป็นองค์กรมหาชน อยู่กับ รมว. สาธารณสุข แต่ไม่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข
- กองทุนประกันสังคม อยู่กับกระทรวงแรงงาน
- สวัสดิการข้าราชการ อยู่กับกรมบัญชีกลาง
แต่เพิ่งรู้ว่ามันมีระบบสวัสดิการยิบๆ ย่อยๆ เช่น สวัสดิการข้าราชการท้องถิ่น, สวัสดิการข้าราชการยุติธรรม ฯลฯ แทรกตัวอยู่ด้วยเช่นกัน
ระบบเหล่านี้แยกกันอยู่เพราะมีที่มา มีเจ้าของ ผู้ดูแล ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ตามหลักคิดเรื่องการประกันสุขภาพ (เอาเงินคนไม่ป่วย ไปอุดหนุนคนป่วย) จำเป็นต้องมี economy of scale ที่ใหญ่มากพอ จึงจะบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างหมอบวรศม ยกขึ้นมาคือ ปัญหา ageing society ตอนนี้มันไปหนักอยู่ที่ สปสช. กับข้าราชการ ในขณะที่ประกันสังคม เก็บเงินสมทบจากคนทำงาน ก็จะเจอปัญหานี้น้อยกว่า (แต่มีปัญหาอื่นๆ แทน) ดังนั้นถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไป การ “เฉลี่ยทุกข์” มันจะยิ่งยากขึ้นหากอายุของคนที่มีสิทธิรักษามันเทไปข้างใดข้างหนึ่งจนเกินไป
ไอเดียเรื่องการรวม 3 กองทุนประกันสุขภาพนั้นพูดกันมานาน แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงได้สักที ตอนนี้อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมในการกลับมาทำเรื่องนี้
2. บทบาทของกระทรวงสาธารณสุข
เรื่องนี้ผมเคยคุยกับหมอบวรศมอยู่บ้าง และเพิ่งมาฟังเข้าใจแบบเต็มๆ จากคลิปสัมภาษณ์อันนี้
หลังการแยก สปสช. ในฐานะ “เจ้าของเงินอุดหนุนสุขภาพ” ออกไปเมื่อ 30 ปีก่อน บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบันทำอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ
- เรื่องนโยบายสาธารณสุข (policy) เช่น การควบคุมโรคระบาด การวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- การเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) บทบาทที่ชัดเจนคือ อย. ที่ออกใบอนุญาต ตรวจจับปรับยาหรืออาหารที่ไม่ได้คุณภาพ
- การให้บริการทางสาธารณสุข (operator) ผ่านโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงที่มีอยู่ทั่วประเทศ
บทบาทเหล่านี้มันทับซ้อนกัน นั่นคือฝั่ง policy/regulator vs operator มันไม่ควรจะอยู่ด้วยกันเพราะมี conflict of interest แต่พอจับมาอยู่ด้วยกัน (ซึ่งเป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์) มันก็เลยมีปัญหาตามมามากมาย
ดังนั้นในเชิงโครงสร้าง เราควรแยกงาน 2 ส่วนนี้ออกจากกันเพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
ในความเห็นของผม คิดว่ากระทรวงสาธารณสุขควรทำเฉพาะ policy/regulator แล้วแยกส่วน operator คือโรงพยาบาลต่างๆ ออกมา (ควรต้องเอาไปสังกัดท้องถิ่น เหมือนกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แต่ถ้าเป็น รพ.ศูนย์ขนาดใหญ่ๆ ควรไปอยู่กับ อบจ? อันนี้คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติม)
ดังนั้น The Big Issue ที่เราน่าจะต้องคิดและตัดสินใจขยับกันในเร็วๆ นี้คงมี 2 ข้อ (งานช้างทั้งคู่เลยนะ) คือ
- ยุบรวม 3 กองทุน เพื่อ economy of scale
- แยกส่วนกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บทบาทไม่ตีกัน
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
