ข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ SCB มาเป็น SCBX สร้างความน่าตื่นเต้นให้วงการธุรกิจไทย และมีคนหลังไมค์มาคุยกับผมหลายคนว่าคิดเห็นอย่างไร
เนื่องจากงานการปัจจุบันเป็นธุรกิจที่แข่งขันกับ SCB โดยตรง ตามมารยาทแล้วก็คงไม่สามารถให้ความเห็นตรงๆ ต่อแผนการของ SCB ได้
แต่คิดว่าสามารถให้ความเห็นรวมๆ ต่อการปรับโครงสร้างของบริษัทอื่นๆ ในต่างประเทศที่มีลักษณะคล้ายๆ กันได้ คือเป็นบริษัทแม่ที่มีบริษัทลูกในหลากหลายธุรกิจ แต่แกนหลักอยู่ที่เทคโนโลยี
ผมคิดว่ามีสองบริษัทที่น่ากล่าวถึงคือ Alphabet และ Sony
Alphabet
Alphabet เป็นบริษัทแม่ของ Google ที่มีประกาศนี้ในปี 2015 ด้วยเหตุผลแบบเดียวกันว่า เพื่อให้ธุรกิจใหม่ๆ มีความคล่องตัวมากขึ้น มีการแยกบัญชีอย่างชัดเจนระหว่างธุรกิจของ Google เดิมที่เป็น cash cow ทำกำไรมหาศาลและค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว กับธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกว่า “Other Bets “เป็นการเดิมพันเพื่ออนาคต ไม่มีรายได้ในอนาคตอันใกล้ และยอมรับการขาดทุนได้
Other Bets ประกอบด้วยธุรกิจที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีตั้งแต่บริษัทหุ่นยนต์ AI IoT โดรน บอลลูน คอนแทคเลนส์วัดเบาหวาน สมาร์ทโฟนถอดประกอบได้ รถยนต์ไร้คนขับ บริษัทชีวภาพ ฯลฯ เท่ซะไม่มี เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติระดับ moonshot mission
ผมจำได้ว่าตอนที่ตั้ง Alphabet ใหม่ๆ คนตื่นเต้นกันมาก ถึงขั้นมีสื่อฝรั่งบางรายเปรียบเทียบว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของ New East India Company บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอีกรอบเลยทีเดียว ถือเป็นการเปรียบเทียบที่อหังการมาก (ลองหาลิงก์ย้อนหลังก็หาไม่เจอแล้ว)
นับจากการตั้ง Alphabet ในปี 2015 ตอนนี้ผ่านมา 6 ปีแล้ว ถ้าให้ประเมินผลกันแบบตรงไปตรงมา ก็คงต้องบอกว่า “ยังไม่เข้าเป้า” จากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไป
เราเห็นบริษัทดังๆ ในเครือต้องถูกยุบกลับไปรวมกับ Google เช่น Nest ไปจนถึงโครงการถูกยุบอย่าง Titan / Loon ต้องปลดพนักงานอย่าง Google Fiber หรือขายทิ้งไปเลยอย่าง Boston Dynamics (ไม่ว่าหุ่นจะเท่ขนาดไหนก็ตาม เสียดาย)
ในอีกด้าน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัท AI อย่าง DeepMind สร้างนวัตกรรมทะลุโลกได้จริงๆ (รายได้อีกเรื่อง) บริษัทรถยนต์ไร้คนขับ Waymo ก็ทำผลงานได้ดี แม้รถยนต์ไร้คนขับ Level 5 จะมาถึงช้ากว่าที่คาด
และยังมีกลุ่มบริษัทที่เปิดตัวมาแล้วเงียบหายไปเลย ไม่ปรากฏโฉมต่อโลกอีกเช่น Calico บริษัทไบโอเทคที่ตั้งมานาน 8 ปีแล้วยังไม่มีผลงานอะไรออกมาเลย
ความล้มเหลวของบริษัทในเครือ Alphabet คงเป็นเรื่องปกติที่คาดเดาได้ (เพราะมันคือ “bet”) แต่เวลาผ่านมา 6 ปีแล้วมีใครกาชื่อ Alphabet ทิ้งไปไหม ก็คงไม่มีใครทำอะไรแบบนั้น ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดคือการแสดงให้เห็นว่าต่อให้ยุทธศาสตร์เท่ขนาดไหน ผลลัพธ์จริงๆ มันไม่ง่ายขนาดนั้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ Google สร้างรายได้มหาศาล แต่ก็ไม่สามารถ “ถมเงิน” ไปกับโครงการของเล่นไฮเทคกลุ่ม Other Bets ได้ตลอดไป เพราะที่สุดแล้ว Alphabet หรือ GOOG ก็มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน ที่ต้องตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นเรื่องกำไรอยู่ดี
จากตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของ Alphabet (Q2/2021) จะเห็นว่า Other Bets ยังขาดทุนไตรมาสละเป็นพันล้านดอลลาร์ (แม้ Google มีกำไรเยอะกว่ามากกว่านั้นมากๆ ก็ตาม)
ในทางการเงิน CFO ย่อมถูกกดดันให้ต้องลดการขาดทุนตรงนี้ลง ซึ่งในปี 2016 Bloomberg ก็เคยมีบทความพูดถึง Ruth Porat ซึ่งเป็น CFO ของ Alphabet (ก่อนหน้านั้นเป็น CFO Morgan Stanley มาก่อน) ที่บีบมาตรการลดค่าใช้จ่ายอย่างหนัก จนคนข้างในเรียกกันว่า “Ruthless Ruth” เลยทีเดียว
within the Other Bets, Porat’s tenure has been controversial, earning her an unflattering nickname: Ruthless Ruth. “She’s a hatchet man,” says a former senior Alphabet executive. “If Larry isn’t excited about something,” the executive continues, referring to CEO Page, “Ruth kills it.”
หมายเหตุ: เคยเห็นคอมเมนต์บางท่านยกกรณี Microsoft มาอ้างอิง แต่จริงๆ แล้ว Microsoft ไม่เคยแยกกิจการเลย แม้ข้างในจัดเป็น BU ที่ค่อนข้างเอกเทศก็ตาม แต่ในเชิงโครงสร้างทางการ ไม่เคยใช้ท่าบริษัทแม่-บริษัทลูกเลย เพิ่งมาทำกับกิจการที่ซื้อมาในช่วงหลังๆ บางตัวอย่าง LinkedIn เท่านั้น
Sony
ถ้าเราย้อนไปไกลกว่านั้น การตั้งบริษัท conglomerate ที่ทำธุรกิจหลายๆ อย่างไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทญี่ปุ่นทำกันมานานตั้งแต่ยุค 70s 80s 90s แล้ว
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดหนีไม่พ้น Sony
ถ้าเล่าเรื่องยาวให้สั้น Sony สร้างตัวมาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นขยายตัวไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจบันเทิง (Sony Music และ Sony Pictures) ซึ่งเกิดจากมุมมองของผู้บริหารในยุคนั้นที่มองว่ามีฮาร์ดแวร์แล้วต้องมีซอฟต์แวร์ด้วย ไปจนถึงธุรกิจการเงิน (Sony Financial Services) ที่มีทั้งธนาคารและประกันชีวิต แต่ก็อยู่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น
ในยุคสมัยที่ Sony เกรียงไกรที่สุด ธุรกิจเหล่านี้ถือเป็น “ธุรกิจข้างเคียง” มีไว้ประดับประดา รายล้อมอาณาจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ในทศวรรษ 2000s เป็นต้นมา ที่ Sony โดนตีเข้าตรงกลางใจ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่ยิ่งใหญ่กลับแข่งขันไม่ได้อีก เพราะบริษัทเกาหลี ไต้หวัน (ภายหลังคือจีน) สามารถทำผลิตภัณฑ์ทัดเทียมกันได้ ในราคาที่ถูกกว่ามาก
ยุทธศาสตร์มีไข่หลายใบในหลายตะกร้า กลับช่วยพยุงให้ Sony อยู่รอดได้ ยามที่ธุรกิจหลักขาดทุนมหาศาล ก็มีเงินจากธุรกิจหนังเพลง-การเงินนี่ล่ะมาช่วยเอาไว้ (โดยเฉพาะธุรกิจการเงินที่เป็นโรงงานผลิตเงิน เคยมีคนพูดกันว่า ถ้าไม่มี Sony Financial นี่ Sony คงเจ๊งไปนานแล้ว) ช่วยซื้อเวลา ก่อนที่ Sony จะคัมแบ็คกลับมาได้จากโครงสร้างใหม่ที่มี PlayStation และธุรกิจเซ็นเซอร์กล้องเป็นแกนกลางแทนทีวี (ผมเคยเขียนเรื่องการคัมแบ็คของโซนี่ไว้หลายรอบ แปะลิงก์ไว้เผื่อใครอยากอ่าน 2016, 2017, 2018)
หมายเหตุ: บริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ ก็มีแนวทางคล้ายกัน เช่น Panasonic ที่โครงสร้างคล้าย Sony มาก เคยเป็นเจ้าของค่ายหนัง Universal ด้วยแต่สุดท้ายก็ต้องขายออกไป รายละเอียดเรื่องนี้แนะนำให้อ่านในการ์ตูนเรื่อง ชิมะ โคซาคุ ที่เขียนไว้ละเอียดมาก สนุกมาก
บทเรียนสำคัญจาก Sony คงเป็นว่า การกระจายความเสี่ยงช่วยให้อยู่รอดได้ในระยะยาว และธุรกิจไหนจะรุ่งจะดับ มีขึ้นมีลง ย่อมขึ้นกับบริบทของยุคสมัยด้วยเช่นกัน