ภาพประกอบจากสารคดี ก่อนฟ้าสาง
บันทึกไว้ในโอกาสวันที่ 6 ตุลาคม ครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519
งาน 6 ตุลาฯ ปีนี้มีความน่าสนใจกว่าปกติ ตรงที่มีแคมเปญที่นำเสนอโดยคนรุ่นใหม่คือ #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง ซึ่งเป็นการตีความ 6 ตุลาใหม่ ในแง่มุมที่ว่าย้อนเวลาไปก่อนช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ คืนนั้น (คืนวันที่ 5 ตุลาคม) เป็นอย่างไร คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนั้นคิดอะไร และ “ถ้าหากว่า” มีปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์จะยังเกิดขึ้นเหมือนเดิมหรือไม่
ผมคิดว่านี่เป็นการตั้งคำถามที่แหลมคม และเป็นการพลิกมุมมองการตีความ (reinterpret) ในเชิง “ถ้าหากว่า” (what if) ที่น่าสนใจมาก
ปกติแล้วเรามักพูดถึง 6 ตุลาคมในเชิงประวัติศาสตร์ที่ตามหาหรือ “สะสาง” ข้อเท็จจริง (fact) ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเพราะเหตุใดหรือปัจจัยใดที่นำไปสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ดูได้ในเว็บ บันทึก 6 ตุลา) ซึ่งเป็นวิธีการพูดถึงที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ก็มีข้อเสียตรงที่อิงกับหลักฐาน (หรือความไม่มีของหลักฐาน) ไม่มีที่ว่างให้พลิกแพลงหรือตีความในมุมอื่นๆ มากนัก
การมาถึงของ #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง จึงเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ เพราะเป็นการมองแบบ what if ชวนให้ตั้งคำถาม ชวนคิดถึงสถานการณ์ในฉากทัศน์ที่ต่างไป (alternate history “ถ้าหากว่า”) ทำให้เกิดเรื่องเล่าหรือการถกเถียงที่ต่างไปจากของเดิม
พอได้คอนเซปต์ของการตีความแบบใหม่แล้ว ตัวชิ้นงานที่ถูกผลิตออกมาภายใต้ธีมนี้จึงน่าสนใจ เราเห็นศิลปินหลากหลายแขนงผลิตผลงานการตีความ 6 ตุลาแบบใหม่ที่แตกต่างกันไปมากมาย (ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเสรีภาพในการตีความและการแสดงออก)
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กล่องฟ้าสาง ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องออกมาโดยอิงกับวัตถุ แล้วนำไปชนกับ “ความทรงจำ” ของกลุ่ม “คนเดือนตุลา” อย่างหมอเลี้ยบ หมอมิ้ง ภูมิธรรม ธงชัย ฯลฯ ออกมาเป็นเรื่องเล่า
หมอเลี้ยบ สุรพงษ์ สืบวงลี หนึ่งในคนตุลาที่ผ่านเหตุการณ์มา ได้เขียนรำลึกถึงเหตุการณ์ได้น่าประทับใจมาก
นอกจากนี้ยังมีเพลงจากศิลปินหลายวง ที่มาร่วมทั้งแต่งเพลงใหม่ และ cover เพลงเก่า
ที่ผมชอบคือเพลง 5ตุลาฯ ของวง Cocktail ที่ตีความเรื่องค่ำคืนวันที่ 5 ตุลาคม ได้น่าสนใจและคมคายมาก คือเป็นเรื่องของกลางคืน นอนหลับ และตื่นขึ้น เป็นการส่งต่อความฝันจากรุ่นสู่รุ่น ฝันที่คนรุ่นเก่ายังไปไม่ถึงให้มาสู่คนรุ่นใหม่ (เบื้องหลังการแต่งเพลงอยู่ในหน้าเพจ YouTube)
อยากจะถามเธอเป็นอย่างไรในคืนอย่างนี้
อยากจะรู้เธอยังอยู่ดี สบายดีอยู่หรือไร
ในคืนอ้างว้างคืนไร้แสงไฟ ในคืนที่มองไปไม่เห็นดาว
ในคืนเหน็บหนาว เธอหลับฝันเรื่องเดิมอยู่ไหม
อยากจะถาม เธอนอนหลับตาลงได้หรือเปล่า
ความปวดร้าวที่เธอเผชิญ ยังคงอยู่ไหม
ตื่นจากฝันที่มันเลื่อนลอย ที่ยังเฝ้าคอยหลอกหลอนดวงใจ
จะข่มตานอน ก็นอนไม่ไหว เหมือนคนบ้า
และวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรใครเลยจะรู้
แต่ในคืนนี้ฉันลืมตาอยู่ และฉันไม่รู้จะหลับไหม
เพราะฉันยังหวังจุดหมายในใจ จะเดินมาถึงในแสงวันใหม่
ให้ตื่นคราวนี้มันมีความหมาย ไม่เหมือนดังเดิม
อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้วิจารณ์เพลงนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ขอคัดลอกมาเก็บไว้
มาวันนี้สิ่งที่ชัดเจนขึ้นเรื่องๆก็คือการเกิดขึ้นของ “สำนึกประวัติศาสตร์” และเมื่อพูดถึงสำนึกประวัติศาสตร์เราจะพบการย้อนกลับไปมาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต และพลังในการตั้งคำถาม และ ความมุ่งมั่นที่จะ “ตื่น” และ เปลี่ยนแปลง
หมายความว่ามันไม่ใช่แค่การเห็นข้อมูลแล้วเกิดความเข้าใจ แต่เรื่องบางเรื่องที่เป็นความจริงในสังคมมันผ่านการต่อสู้ ผ่านการปกปิดกดทับ ผ่านความใฝ่ฝัน ผ่านความผิดหวัง สูญเสีย ผ่านโศกนาฎกรรมมาอย่างยาวนาน กว่า “สำนึก” จะเกิดขึ้นได้ และ สำนึกอาจไม่ได้ซ้อนทับกับความจริงและข้อเทม็จจริงไปเสียทั้งหมด
ขณะที่เขียนอยู่นี้ ยังไม่จบวันที่ 6 ตุลาคม 2021 และยังมีศิลปิน สารคดี สัมภาษณ์ ทยอยปล่อยงานออกมาอย่างต่อเนื่อง คิดว่าแหล่งที่ใช้ติดตามได้ดีที่สุดคือ เพจบันทึก 6 ตุลา ที่เป็นแกนกลางของแคมเปญนี้
แต่การตีความใหม่ก็ต้องฟังความเห็นและข้อถกเถียงจากคนรุ่นใหม่ด้วย จากในแท็ก YouTube #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง หรือจะเป็นใน Twitter #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง