เมื่อวานนี่มีโอกาสได้ฟังการบรรยายของ Prof. Yasheng Huang อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนจาก MIT Sloan Business School ที่มาเมืองไทย
ต้องขอบคุณพี่วิว Will Smittinet ที่เชิญไปร่วมงานนี้ที่จัดโดยสมาคม MIT Alumni ในไทย ซึ่งในงาน น่าจะมีผมคนเดียวที่ไม่ใช่ศิษย์เก่า MIT แต่ได้รับการต้อนรับอบอุ่นมาก
อ. Huang (ต่อไปขอเรียกสั้นๆ แบบนี้) เขียนหนังสือเกี่ยวกับจีนหลายเล่ม ผลงานเล่มล่าสุดคือ The Rise and the Fall of the EAST และ Capitalism with Chinese Characteristics
หัวข้อการบรรยายคือ China’s economic challenges in the age of Trump 2.0 กล่าวเรื่องภาวะเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน และความท้าทายที่ต้องมาเผชิญหน้ากับรัฐบาล Trump 2.0
ประเด็นสำคัญที่ อ. Huang พูดถึงคือ โลกภายนอกมักมองจีนว่ายิ่งใหญ่ท้าทายทุกคน บริษัทเทคโนโลยีจีนไม่ว่าจะเป็น AI, EV, solar panel กำลังยึดครองโลก แต่จริงๆ แล้วจีนก็มีด้านที่เป็นปัญหาควบคู่กันไปด้วย แกจึงเรียกว่าเป็นภาวะ The duality of the Chinese economy
ปัญหาของจีนคือ
- เศรษฐกิจเติบโตช้า ตัวเลขทางการคือ 5% แต่ตัวเลขที่นักวิเคราะห์นอกจีนคำนวณกันจากข้อมูลอื่นๆ คือโตแค่ 1.5-2% เท่านั้น
- หนี้เยอะ โดยเฉพาะหนี้จากภาคอสังหา แบบที่เราเห็นกันในข่าวเรื่อยๆ ตัวเลขหนี้ที่ไม่ใช่ของภาคการเงิน (non-financial debt) สูงราว 300% ต่อ GDP แล้ว เห็นอเมริกาหนี้เยอะๆ ตัวเลขยังน้อยกว่าคือ 249% ต่อ GDP
- เงินลงทุนจากนอกประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ลดลงหนักมาก คือจาก 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ลงมาเหลือ 4,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 คือเทียบเท่าปี 1993 เลย
- การบริโภคในประเทศน้อย คิดเป็น 38-39% ของ GDP เท่านั้น (เทียบกับอเมริกา 68%)
- ภาคการผลิตล้นเกิน สินค้าที่จีนผลิตได้บางตัว ไม่ใช่แค่เกินความต้องการบริโภคของคนจีน แต่เกินความต้องการของคนทั้งโลกไปไกลแล้ว (ดูกราฟแล้วน่ากลัวมาก) ของพวกนี้ที่ผลิตมาแล้วจะเอาไปไว้ไหน
ประเด็นใหม่ที่น่าสนใจและเพิ่งเคยฟังคือ ผลิตภาพ (productivity) ของจีนกลับลดลง เขาวัดเป็น Total factor productivity หรือ TFP คือใส่เงินและแรงงานเข้าไปเป็นอินพุตในระบบเศรษฐกิจแล้วดูว่าเอาท์พุตมันออกมาเท่าไร ซึ่งค่า TFP ตัวนี้มันลดลงเรื่อยๆ
ดูจากกราฟจะเห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อทรัพย์สินของภาคเอกชน (เส้นสีฟ้า) ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขของภาครัฐบาล (สีเหลือง) เท่าๆ เดิม สาเหตุก็ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร
กราฟอีกภาพที่น่าสนใจมากคือในช่วงปี 2016 เป็นต้นมา ค่ากำลังการผลิตของจีนเพิ่มสูงมาก (เส้นสีเหลือง) ในขณะที่การจ้างงานลดลงอย่างชัดเจน (เส้นสีน้ำเงิน) ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันพอๆ กันมาโดยตลอด ตรงนี้ อ. Huang บอกว่ายังไม่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ในทางวิชาการยังเถียงกันอยู่ แต่เขาคาดเดาว่าน่าจะมาจากการปรับตัวรับมือรัฐบาล Trump 1.0 ที่ขึ้นมาในช่วงนั้นพอดี และเริ่มสงครามการค้ากับจีน
ผลกระทบจากรัฐบาล Trump 2.0 ย่อมเกิดขึ้นกับจีนแน่นอน ซึ่ง อ. Huang ชี้ว่ามีประเทศที่ได้ประโยชน์จริง โดยเฉพาะอาเซียน แต่ประเทศที่ได้ประโยชน์มี 2 สุดปลาย (two extremes) ได้แก่
- สิงคโปร์ ที่เจริญแล้ว รายได้ต่อหัวเยอะมาก ได้ประโยชน์จากธุรกิจจีนย้ายไปตั้งสำนักงาน เพื่ออาศัยความเป็นสิงคโปร์ไปทำตลาดที่อื่นรวมถึงอเมริกา อ. Huang บอกว่าตอนนี้มีบริษัท biotech เยอะมากที่ทำแบบนี้
- เวียดนาม รายได้ต่อหัวต่ำ แต่ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เยอะ ค่าคะแนนสอบเฉลี่ยดี ก็จะได้โรงงานจีนย้ายฐานการผลิตไปลงเวียดนาม
ส่วนประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างสิงคโปร์กับเวียดนาม ควรทำอย่างไรดี ข้อเสนอของ อ.Huang คือ
- วางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งของจีนกับอเมริกา
- อาศัยจังหวะนี้ รีบไปลงทุนในบริษัทหน้าใหม่ๆ ทั้งในจีนและในอเมริกา
- การปิดกั้นสินค้าจีน สร้างกำแพงการค้าไม่ช่วยอะไร เพราะกำลังการผลิตจีนมันเยอะเกินในระดับที่ทั้งโลกก็ต้านทานไม่ไหว เราหันมาดันเรื่อง globalization ดีกว่า
คำถามคำตอบช่วง Q&A
Q: บริษัทเทคโนโลยีจีนจะไปต่อได้ไหม
A: ไปต่อได้ เพราะคนฉลาด ทำงานหนัก คนจีนผลิตนักศึกษาปีละ 10 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นสาย STEM ถ้าเทียบกันอเมริกาผลิตได้ปีละ 2 ล้าน มี STEM แค่ 17%
บริษัทเทคโนโลยีจีนนั้นมีความเป็น global มากกว่าที่เราคิด ตัวอย่างคือ DeepSeek นั้นไม่ได้คิดทุกอย่างในจีนหมด เพราะใช้โอเพนซอร์ส มีความเป็น global สูงมาตั้งแต่แรก
Q: อีก 5 ปีจีนจะเป็นยังไงต่อ
A: สภาวะปัจจุบันมันไปต่อไม่ได้ จีนต้องเลือกเสียบางอย่างไป สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดคือสินค้าที่ผลิตมาเกินเยอะๆ จะดูดซับอย่างไร
- ให้คนจีนบริโภค –> พิสูจน์แล้วว่าทำไม่ได้ บริโภคน้อย
- ให้โลกบริโภค –> เจอสงครามการค้าอยู่ และจะยิ่งหนัก
- write down ตีค่าศูนย์ทางบัญชี –> recession
อ. Huang บอกว่าหนี้จีนเยอะแต่เป็นหนี้ในประเทศ สกุลหยวนเหมือนกัน จะไม่ซ้ำรอยวิกฤตไทยปี 1997 ที่ปัญหาเกิดจากค่าเงิน
วิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากการเติบโตเร็วเกินไป (fast growth & financial crisis) แบบไทยหรือเกาหลีตอนปี 97 ถ้าวิกฤตฉับพลันไม่เกิด ก็จะเป็นภาวะ slow growth แทนแบบที่ญี่ปุ่นเคยเจอ
Q: อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลจีนทำได้ดี
A:
- จีนทำ cluster อุตสาหกรรมได้ดี พอจับอุตสาหกรรมเดียวกันไปอยู่รวมกัน มันเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันแบบทวีคูณ ผลรวมไม่ใช่เอาตัวเลขของทุกคนมาบวกกันแต่ดีกว่านั้นมาก
- คนจีนมีความเป็น “ผู้ประกอบการ” สูงมาก อย่างในอเมริกา คนจบ Stanford, MIT ออกมาเปิดบริษัท สร้างกิจการขับเคลื่อนประเทศกัน แต่ญี่ปุ่นยุครุ่งเรืองไม่มีภาวะแบบนี้ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมีคุณภาพ แต่ผลิตคนมาป้อนระบบ ไม่ได้สร้างคนเป็นผู้ประกอบการ
- คนจีนต่างจากญี่ปุ่น เพราะมีค่านิยมการเป็นผู้ประกอบการ, ระบบเงินทุนผ่าน venture capital แข็งแกร่ง, มีความเชื่อมโยงกับ Silicon Valley สูงมาก นักวิจัยจีนในอเมริกามาเปิดบริษัทที่อื่นก็ดึงเงินลงทุนจาก Silicon Valley ได้ง่าย
- สิ่งที่จีนทำไม่ดีคือ รัฐบาลจีนรวบอำนาจ ไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจาณ์ใดๆ ทำให้เดินนโยบายผิดพลาดได้ง่าย ถ้าพลาดแล้วมันจะเจ็บหนัก เหมือนที่เคยทำมาแล้วตอน Zero COVID Control
ป.ล. มีโอกาสได้ฟังคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ศิษย์เก่า MIT ยุคบุกเบิกของประเทศไทยด้วย ตอนนี้อายุ 97 ปีแล้วยังแข็งแรงมากๆ ยังไปทำงานที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัยทุกวัน
โพสต์ครั้งแรกใน Facebook