in Politics

Why Bernie Sanders Lost

ข่าวสำคัญในแวดวงการเมืองสหรัฐอเมริการอบสัปดาห์ คือ Bernie Sanders ประกาศถอนตัวจากการชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต

คนที่ติดตามการเมืองสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา คงพอคาดเดากันได้ว่ายังไง Sanders ก็ต้องแพ้ (โดยเฉพาะหลังการหยั่งเสียง Super Tuesday) สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ การวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไม Sanders ถึงแพ้ ทั้งที่สร้างโมเมนตัมได้ดีมาก ในการชิงชัยตัวแทนพรรค 2 ครั้งหลังสุด (2016 และ 2020) แต่ก็ยังแพ้อยู่ดี

ออกตัวก่อนว่า ผมเชียร์ Elizabeth Warren ด้วยเหตุผลเรื่องนโยบาย progressive แต่ผลกลับเป็นว่าแย่กว่า Sanders ซะอีก แย่กว่ามากๆ ด้วย (ฮา) ตอนแรกคิดว่าถ้าเป็น Joe Biden น่าจะไปแพ้ Trump อยู่ดี แต่ด้วยปัจจัย COVID-19 ที่ Trump รับมือได้แย่มาก ก็ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะมาก (ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ต้องว่ากันอีกที)

หลังการถอนตัวของ Sanders มีสื่อหลายเจ้าวิเคราะห์เรื่องนี้ในเชิงลึก ที่ให้มุมมองน่าสนใจ มาจดบันทึกไว้

ฐานเสียงที่อาจไม่มีจริง

ชิ้นแรกที่เขียนไว้ละเอียดมาจาก Vox ที่อธิบายว่า Sanders แพ้เพราะยุทธศาสตร์หลักของเขา มันพิสูจน์แล้วว่ามันผิด ดังนั้นต่อให้ในรายละเอียดมีเรื่องที่ทำได้ดี ในภาพรวมก็แพ้อยู่ดี เพราะแกนหลักมันผิด

The Sanders campaign and his supporters bet on a theory of class politics that turned out to be wrong.

ยุทธศาสตร์หลักที่ว่าคือ ทฤษฎีของแคมเปญ Sanders ที่มองว่าจะปลุกพลัง “ชนชั้น” (class ตามภาษาฝ่ายซ้าย) กลับขึ้นมาเป็นฐานเสียงให้ Sanders ชนะเป็นตัวแทนพรรค และชนะเลือกตั้งใหญ่ได้สำเร็จ

แกนหลักฐานเสียงของ Sanders ที่ตั้งใจไว้มี 2 กลุ่มคือ ชนชั้นแรงงาน (working class) และคนรุ่นใหม่ (young people)

เบื้องหลังของแนวคิดนี้ เกิดจากฐานเสียงของ Sanders ตอนปี 2016 ที่ทำให้เขาแข่งกับ Hillary ได้อย่างสูสี (คนรุ่นใหม่สนับสนุน Sanders เยอะมากเกินคาด) เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2020 ทำให้ทีมงาน Sanders หวังต่อยอดจากฐานเสียงเดิม

ปรากฏว่ามันเป็นสมมติฐานที่ผิด

Vox อธิบายว่า

  • การมอง “ชนชั้นแรงงาน” เป็นก้อนเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะในโลกความจริง มีความซับซ้อนสูง ตั้งแต่แนวคิดเรื่องชนชั้น (class ตามฝ่ายซ้าย) มันด้อยพลังลงไปมาก และกลายเป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (identity politics เช่น คนดำ ละติน ผู้หญิง เกย์) ที่มีอิทธิพลเหนือกว่ามาก
    • Sanders ประสบความสำเร็จในปี 2016 เพราะชนชั้นแรงงานกลุ่มนี้ไม่พอใจ Hillary เลยเทเสียงมาที่เขา แต่พอคู่แข่งกลายเป็น Biden เสียงเลยเปลี่ยน
    • Sanders ไม่เคยได้คะแนนเสียงจากคนดำ (ซึ่งเป็นฐานสำคัญของ working class) ยิ่งมาเจอ Biden ที่ได้ฐานเสียงคนดำจาก Obama หนุนหลัง ยิ่งจบข่าว
  • กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีตัวตนเยอะในโลกโซเชียลจริง แต่พอต้องออกไปเลือกตั้งจริงๆ กลับไม่ไปเลือกตั้ง ทำให้คะแนนของ Sanders หายไปมาก (อันนี้น่าจะเป็นปัญหาร่วมทั้งโลก)

Obama-factor

อีกบทความที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Politico วิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Sanders แพ้ คือ บุคคลที่อยู่เงียบเฉยที่สุดในรอบปีนี้ Barack Obama

www.politico.com

หน้าฉากเราเห็น Obama ไปทำอะไรกุ๊กกิ๊กๆ อย่างจัด podcast หรือไปทำรายการ Netflix แต่ในทางการเมือง เขายังมีอิทธิพลอย่างสูงในพรรคเดโมแครต

เรารู้อยู่แล้วว่า Obama สนับสนุนใครในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หน้าฉาก Obama ก็ต้องทำตัวเป็นกลาง และสนับสนุน “คนที่พรรคเลือก” เท่านั้น เมื่อตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าคนที่พรรคเลือกคนนั้นคือ Biden อีกสักพักก็จะได้เวลาที่ Obama ออกมาแสดงตัวหนุน Biden แบบสุดตัว

ถึงแม้ Obama ไม่ได้ออกมาทำอะไรหน้าฉากมากนัก แต่ฐานเสียงของ Obama เดิมคือ คนดำ (ที่ Sanders ไม่มี) และคนรุ่นใหม่ (ที่อาจทับซ้อนกับ Sanders อยู่บ้าง) ก็ช่วยมาสนับสนุน Biden ไปโดยปริยายอยู่แล้ว

ระบบพรรคของอเมริกา

อีกปัจจัยที่ส่วนตัววิเคราะห์ไว้ และเห็นสื่อต่างประเทศมีพูดถึงอยู่เรื่อยๆ คือ ประเด็นเรื่องระบบสองพรรคใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่ระบบพรรคแข็งแกร่งจนไม่มีพรรคอื่นสอดแทรกเข้ามาได้ (ในรอบประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา)

Trump ในฐานะคนนอก ประสบความสำเร็จในการ “ขี่กระแส” ของรีพับลิกัน จนได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งตรงนี้มีคำอธิบายมากมาย (เช่น เรื่องการเมืองชาตินิยมใหม่ Alt-Right) รวมถึงตัวอุปนิสัยของ Trump เองที่โดดเด่นมากๆ ด้วย (แต่ในมุมกลับ การที่ Trump ไม่ได้อยู่ในพรรคมาตั้งแต่ต้น ก็มีปัญหาชัดเจนในการบริหารแผ่นดิน)

แต่ Sanders ในฐานะคนนอกเช่นกัน กลับไม่สามารถ “ขี่กระแส” ของเดโมแครตได้แบบเดียวกัน คำอธิบายมีทั้งเรื่องข้อเสนอของฝ่ายซ้าย (ชนชั้น-รัฐสวัสดิการ) มันไม่ทรงพลังเท่ากับชาตินิยมของฝ่ายขวา

หากอเมริกามีพรรคการเมือง 3 พรรคที่สะท้อน ideology ชัดเจนกว่านี้ เช่น ฝ่ายซ้าย (Sanders) ตรงกลาง (Biden) ฝ่ายขวา (Trump) ก็อาจเปิดโอกาสให้กับ Sanders มากกว่านี้ แต่พอ Sanders ต้องมาเข้าระบบของเดโมแครต ที่มีโครงสร้างชัดเจน (Establishment!) ก็ย่อมเสียเปรียบ Biden ที่อยู่ในพรรคมานานกว่า และเคยบริหารประเทศมานาน 8 ปี (ถ้าภาษาของ Trump ก็ต้องบอกว่า Biden มี Deep State เป็นตัวช่วย)

ในภาพรวมก็ต้องบอกว่า เสียดายโมเมนตัมของ Sanders และนโยบายเชิงฝ่ายซ้ายที่ดีๆ หลายอัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ “ทุนนิยม” สาย Neoliberal อ่อนแออย่างมาก) แต่ความจริงก็คือสิ่งที่ต้องยอมรับ

ถึงแม้ Sanders ชนะในเชิงอุดมการณ์ (air war) แต่สุดท้ายสงครามก็ต้องวัดกันที่สนามรบภาคพื้น (ground war) อยู่ดี