in Thoughts

อะไรสำคัญกว่า

เคยเชิญพี่โจ้ ธนา มาพูดที่บริษัท (อ่านรายละเอียดในบล็อก ความลับของฟ้า ของคุณ Anontawong) จึงเคยได้ฟังเรื่องเพลง “อะไรสำคัญกว่า” ของศุ บุญเลี้ยง มาแล้วครั้งหนึ่ง

พี่โจ้เขียนเรื่องนี้ไว้อีกครั้งในเพจ “เขียนไว้ให้เธอ” ตามไปอ่านฉบับเต็มกันเอง

ประโยคสำคัญมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ ศุ บุญเลี้ยง มาร้องเพลงในรายการของ ThaiPBS ชื่อเพลง “อะไรสำคัญกว่า” ตั้งคำถามว่าเมื่อเราเจอวิกฤต (ในบริบทตอนนั้นคือ น้ำท่วม) เราต้องเลือกว่าจะนำอะไรติดตัวไป ทิ้งอะไร ซึ่งก็ขึ้นกับการให้คุณค่าของแต่ละคนว่าจะให้ค่ากับสิ่งไหนกว่ากัน

ในช่วงน้ำท่วมหนักๆตอนนั้น ผมมีโอกาสได้ฟังเพลงของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยงที่พี่จุ้ยร้องในรายการของไทยพีบีเอส โดยบังเอิญ พี่จุ้ยแต่งเพลงชื่อ “อะไรที่สำคัญกว่า” โดยเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่าเราต้องลำดับความสำคัญของชีวิต อะไรที่สำคัญเราก็จะเอาไว้สูงที่น้ำท่วมยาก อะไรที่สำคัญน้อยก็อยู่ข้างล่าง อะไรที่สำคัญกว่า หรือสำคัญมากๆเราก็จะเอาติดรถไปด้วยตอนอพยพ ผมนึกตามก็เห็นจริง ของที่แต่ละบ้านแต่ละคนเอาใส่รถไปด้วยมีความแตกต่างกัน บางบ้านห่วงสัตว์เลี้ยง บางบ้านขนสมบัติหนี บางคนก็เอารูปถ่ายอัลบั้มครอบครัว และบางคนโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ไม่หนีไปไหน ยอมลำบากน้ำท่วมอยู่บ้าน เพราะบ้านคือสิ่งสำคัญที่สุดก็มี

ฟัง-อ่านเรื่องนี้มาหลายรอบ ยังไม่เคยมีโอกาสตามไปฟังเพลง เมื่อวานนี้เลยลองหาดู

พบว่าเวอร์ชันของ ThaiPBS อันนี้เสียงแย่มาก 55 ฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่โชคดีว่ามีเวอร์ชันอื่น

นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะวิกฤต COVID-19 ร้ายแรงกว่านั้นมาก เนื่องจากมันตีเข้าใจกลางพื้นฐานสังคมมนุษย์ นั่นคือ สายสัมพันธ์ของคนต่อคนแบบพบเจอหน้า (physical interaction) เมื่อคนไม่สามารถเข้ามาใกล้กันได้อีก (อย่างน้อยก็ในช่วงนี้) และถูกบีบคั้นทางทรัพยากร ทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจ ทำให้ชีวิตแบบเดิมๆ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ชีวิตแบบใหม่ที่เป็น new normal จึงต้องยอมลดระดับลงมา คำถามที่สำคัญคือ ลดอะไรดี ซึ่งกลับไปที่คำถามของศุ บุญเลี้ยงว่า “อะไรสำคัญกว่า”

ในแง่การทำงาน หลายบริษัทหลายองค์กรที่ไม่เคย Work from Home เลยก็ต้องพบกับความท้าทายสำคัญว่า “ออฟฟิศยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม”

ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบหนัก ก็เจอกับคำถามพื้นฐานว่า “เราจำเป็นต้องไปกินข้าวที่ร้านอยู่หรือเปล่า”

ชีวิตส่วนบุคคล เราก็เจอคำถามลักษณะนี้เต็มไปหมด “ยังจำเป็นต้องไปเดินห้างไหม” “ยังจำเป็นต้องออกไปทำงานไหม” “ยังจำเป็นต้องไปเที่ยวไหม”

ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม ต้องถูก readjust และ reprioritize กันใหม่หมด บางเรื่องมันเป็นการตั้งคำถามระดับ fundamental ในเชิงปรัชญาเลยด้วยซ้ำ มันยาก มันมาเร็ว มันบีบให้เราต้องคิดและปรับตัว

แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะถ้าไม่จัดความสำคัญใหม่หมด ด้วยทรัพยากรที่จำกัดลงมาก ชีวิตก็ไม่สามารถอยู่ต่อได้แบบเดิม

ภาพประกอบ: น้ำท่วม BTS จตุจักร ถ่ายไว้ตอนปี 2554