in Economics

Two China

อ่านบทความเรื่อง เศรษฐกิจจีนถดถอย ยิ่งดีกับธุรกิจไทย ของ คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ผมรู้จักและนับถือ

ประเด็นที่คุณมานพ ยกขึ้นมาคือ เวลาเราพูดถึงคำว่า “เศรษฐกิจจีน” ควรต้องถามเจาะลงไปในรายละเอียดว่า “จีนไหน” เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจจีน มีเศรษฐกิจ 2 ส่วนที่ซ้อนทับกันอยู่ในนั้น

เศรษฐกิจ 2 ขั้วของจีน-ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่กำลังถดถอยอย่างรุนแรงและภาคธุรกิจบริการรวมถึงอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ยังเติบโตในอัตราที่สูงอยู่ ทำให้การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจแบบรวมๆ ไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทยมากนัก จะขอยกตัวอย่างตัวเลขบางชุดเพื่อให้เห็นภาพของความเป็น 2 ขั้วนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ภาคอุตสาหกรรมของจีน (นับบริษัทที่มียอดขายเกินกว่า 20 ล้านหยวนต่อปี) มีกำไรรวมตกลง 1.7% ปีต่อปี แต่ภาคธุรกิจบริการกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น 9.5% ปีต่อปี โดยภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ของจีดีพี จึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนอยู่ในภาวะถดถอย ตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่ขอนำเสนอคือยอดค้าปลีกในช่วง 9 เดือนแรก มีอัตราเพิ่ม 8.2% ปีต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยอดขายสินค้าออนไลน์มีอัตราเพิ่มขึ้น 20.5% ปีต่อปี โดยยอดขายออนไลน์คิดเป็น 19.5% ของการค้าปลีก และถ้าเจาะลงไปในแต่ละภูมิภาคพบว่าการซื้อขายออนไลน์กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออก (บริเวณเซี่ยงไฮ้และมณฑลโดยรอบ) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 83% ภูมิภาคอื่นของจีนจึงมีสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ไม่เกิน 10% เท่านั้น

ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่ากำลังทำธุรกิจกับจีนในส่วนไหน หากมุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมของจีนที่ไม่มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ก็จะประสบปัญหาอย่างหนักแบบไม่มีวันฟื้นตัว รัฐบาลจีนเองก็กำลังเร่งกดดันให้อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีมูลค่าเพิ่มตํ่าปิดตัวลงด้วยภาคบริการและการบริโภคภายในของจีนมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไทยมากกว่า

ทำไมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบติดปีก ธุรกิจไทยที่ไปประสบความสำเร็จในจีนอย่างจริงจังมีจำนวนนับมือได้ไม่เกินสิบ และที่ส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มมากขึ้นยังคงกระจุกตัวในสินค้าต้นนํ้า ขาดการสร้างแบรนด์ ส่วนหนึ่งคงเป็นเหตุผลของธุรกิจไทยเอง แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจเติบโตด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ ความเกี่ยวเนื่องของเศรษฐกิจจีนต่อธุรกิจไทยมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือเงินทุน การไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีนในช่วงนั้น มักมองไปที่แถบแอฟริกาเพื่อการแลกกับทรัพยากรธรรมชาติ หรืออเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาเทคโนโลยี

เรื่องนี้น่าจะคล้ายๆ กันหมดในทุกประเทศ ว่าเวลาพูดถึง “เศรษฐกิจ” มันมีหลายเซกเตอร์ที่ซ้อนทับกันอยู่ และแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

Photo credit: Philip Larson, Wikipedia