in Thoughts

ปีแห่งการทิ้ง

อยากเขียนบล็อกแรกของปีใหม่ พ่วงด้วยตำแหน่งทศวรรษใหม่ ด้วยอะไรที่ดูแกรนด์ๆ แต่ก็คิดไม่ค่อยออกนักว่าจะเขียนอะไร

ย้อนกลับไปช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ หลายบทความที่ชวนให้คิดถึงเรื่องเดียวกัน

เริ่มจากบทความ มืออาชีพต้องคิดถึงจุดจบ ของพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ที่ชวนให้เราฝึก “วิชาตัวเบา” ไม่ยึดติดกับหัวโขน ตำแหน่ง เครื่องทรง ในหน้าที่การงาน

จากนั้นได้อ่านหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ของพี่รุตม์ อานนทวงศ์ ที่พูดเรื่องการหาช้างไม้ของตัวเองให้เจอ ด้วยการ “กะเทาะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป”

ในหนังสือเล่มนี้ยังสรุปประเด็นจากหนังสือของ Marie Kondo เจ้าแม่แห่งการจัดบ้านของญี่ปุ่น ผู้เขียนหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up

ผมไม่เคยอ่าน KonMari แบบจริงๆ จังๆ มาก่อน แต่พออ่านบทสรุปของพี่รุตม์ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ และมันมีปรัชญา หลักคิดอยู่ในนั้นเยอะกว่าที่คิด เดี๋ยวจะลองเอาเล่มต้นฉบับมาอ่านดูบ้าง

ช่วงนี้ยังมีหนัง “ฮาวทูทิ้ง” ของเต๋อ นวพล ออกฉายพอดีด้วย ส่วนตัวแล้วไม่เคยดูหนังของนวพลเลยสักเรื่อง แต่พอมาเจอคอนเซปต์เรื่องนี้แล้วพบว่า น่าสนใจดีมาก บวกกับหนังฉายแล้วมีรีวิวเชิงลบๆ ดราม่าๆ ออกมา เลยยิ่งอยากดู (ซึ่งก็ต้องไปหาเวลาดู)

เรื่องราวเหล่านี้เลยชวนให้คิดถึง ทฤษฎี Dunbar’s Number ที่บอกว่าเราสามารถมีเพื่อนในชีวิตได้จำกัดประมาณ 150 คน หากต้องการมีเพื่อนเยอะกว่านั้น เราต้องห่างไกลหรือปรับลดความสัมพันธ์กับเพื่อนบางคนลงไป

ตัวเลขว่าเพื่อนมีได้กี่คน คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ไม่จบ แต่ทฤษฎีนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าเรามีทรัพยากร (เวลา+สมอง) จำกัด เราสามารถรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดได้กับคนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ชีวิตของเราก็ขึ้นกับว่าเราจะเลือกใครเข้ามาเป็นคนสำคัญเหล่านี้ (ทั้งการเลือกโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว)

ทุกเรื่องที่เขียนถึงข้างต้น เป็นเรื่องของการทิ้ง การตัด การลืม การคัดออกจากชีวิต

ที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงการพัฒนาตัวเอง การเติบโต เรามักพูดถึงการอ่านหนังสือใหม่ๆ เดินทางออกไปท่องโลกกว้าง พบเจอผู้คนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เป็นการเติมของ (addition) เข้าตัว

แต่ในยุคสมัยที่ทุกอย่างมันล้นเกินไปหมด การเติมของเข้าตัวเยอะๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการ overwhelming ทุกอย่างมันเยอะไปหมดได้

ทางออกของมนุษย์ผู้สับสนแห่งปี 2020 อาจต้องโฟกัสไปที่การละทิ้ง การตัดออก การลืม การปลดปล่อยตัวตนในอดีตบางส่วนของเราออกไป (ทั้งในเชิงกายภาพ เช่น ทิ้งของ และเชิงจิตใจ เช่น ความสัมพันธ์) เพื่อเปิดที่ว่างให้ตัวเราได้สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ต่อไป

กูรูท่านหนึ่งเคยบอกกับผมว่าเราต้องเรียนรู้การ re-interpret อดีต ซึ่งในแง่นี้ก็หมายถึงการตัดบางอย่างออก รักษาบางอย่างไว้ และสร้างสิ่งใหม่ๆ เสริมเข้าไปเช่นกัน

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักบวชศาสนาต่างๆ นักปรัชญา นักคิด พยายามทำเรื่องนี้กันมาแล้วเป็นพันๆ ปี เพียงแต่เราไม่เคยโฟกัสกับมันจริงจังสักเท่าไรนัก

โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนพยายามไม่เพิ่มของ และทิ้งของอยู่เสมอ เพราะเคยใช้ชีวิตย้ายไปย้ายมาอยู่พักหนึ่ง และพบว่าการมีสมบัติเยอะๆ มันทำให้เราไม่คล่องตัว

แต่เมื่อชีวิตเริ่มลงตัว อยู่ติดที่เป็นเวลานานๆ ก็เผลอเพิ่มของเข้ามาในบ้านโดยไม่ตั้งใจอยู่เสมอ นี่ยังไม่รวมภาระ-ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นตามอายุด้วย พอแก่สักระดับหนึ่งแล้วก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมหัวโขนมันถึงได้หนักนัก นี่ขนาดพยายามออกแบบให้มันเบาแล้วก็ยังหนักอยู่ดี

สิ่งที่อยากทำในปีนี้คงเป็นการโฟกัสไปที่การทิ้งให้มากขึ้น ส่วนจะทิ้งอะไร ทิ้งอย่างไร ทำตัวอย่างไร ปรับวิธีคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันต่อไปตลอดทั้งปี

Photo credit: Finn Terman Frederiksen / Flickr