in Books

ช้างกูอยู่ไหน หนังสือสำหรับคนทำงานวัย 30+ ที่กำลังสับสนชีวิต

ได้รับหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” จาก คุณรุตม์ อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings อ่านจบแล้วเลยมาเขียนถึงไว้สักหน่อย

“พี่รุตม์” เป็นพี่ที่บริษัท แถมยังมีหน้าที่สำคัญคือ Head of People ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานทั้งหมด 400 กว่าคนได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะมีน้องๆ ในทีม People ช่วยสนับสนุนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น (ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนแผนก HR ขององค์กรทั่วไป แถมงานของ People ยังมากกว่างาน HR ทั่วไปด้วย เพราะรวมงาน IT service, ดูแลออฟฟิศ, ฯลฯ ด้วย)

สิ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับพี่รุตม์คือเข้าใจหน้าที่ของตัวเองว่าต้องทำอะไรบ้าง เคยขึ้นลิฟต์พร้อมกันแล้วพี่รุตม์หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูรูปพนักงานแล้วท่องชื่อ ผมถามว่าทำอะไร คำตอบคือเป็น Head of People ต้องจำชื่อและหน้าของพนักงานทุกคนได้ o_O!! เลยใช้แอพ flash card มาช่วยให้จำได้เร็วขึ้น

ต้องบอกว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมกลับมาเขียนบล็อกอย่างจริงจังอีกครั้ง (นอกเหนือจาก Offloading Facebook) คือบล็อกของพี่รุตม์นี่แหละ ผมเห็นแกเขียนได้สม่ำเสมอทุกวันอย่างน่าอัศจรรย์ เลยคิดจะทำให้ได้บ้าง (ซึ่งก็ไม่ค่อยสำเร็จ บางวันมันเหนื่อยๆ หมดแรงก็นอน)

นอกจากเรื่องหน้าที่การงานและงานเขียนแล้ว ผมคิดว่าต้องนิยามพี่รุตม์ว่าเป็นเหมือน “ศาสดา” ในโลกที่เต็มไปด้วย lifecoach ผลักดันคนให้ลาออกจากงานประจำ พี่รุตม์เป็น role model ของ “มนุษย์เงินเดือน” ในด้านกลับ เพราะมองว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนก็มีข้อดีเหมือนกัน แถมพยายามผลักดันวิถีของการเป็นมนุษย์เงินเดือนยุคใหม่ (ในด้านดี) ต่อสาธารณะ

พี่รุตม์เคยมีหนังสือออกมาแล้วเล่มหนึ่งคือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ซึ่งพูดถึงเรื่องนี้โดยตรง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ธ.ค.) พี่รุตม์วิ่งมาเรียกและยื่นหนังสือให้ เป็นหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อว่า “ช้างกูอยู่ไหน” (Elephant in the Room) ซึ่งเปรียบเสมือนภาคต่อของหนังสือเล่มแรก แต่อัพเกรดกลุ่มคนอ่านจากวัยเริ่มทำงาน มาเป็นวัยกลางคน

ในบทนำของหนังสือ เขียนไว้ชัดเจนว่า

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อคนวัยสามสิบต้นๆ ถึงสี่สิบกลางๆ

วัยที่กำลังสร้างครอบครัว มีการงานที่มั่นคง หลายคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร มีลูกน้องต้องดูแล หลายคนมีเงินเก็บหลายแสนหรือแม้กระทั่งหลายล้านบาท อะไรๆ กำลังไปได้ด้วย

แต่ถึงกระนั้นกลับรู้สึกไม่ค่อยมีความสุข

อาจเป็นเพราะมีเงิน แต่ไม่มีเวลาใช้เงิน มีงานที่ดี แต่งานก็ดึงพลังชีวิตไปมากมายเสียจนกระทบความสัมพันธ์และสุขภาพ

ถ้าวัยยี่สิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเพิ่มพูนและเติมเต็ม ผมคิดว่าวัยสามสิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเรียนรู้ที่จะลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต

ส่วนชื่อหนังสือนั้นมาจากนิทานเรื่องการแกะสลักช้างไม้ที่งดงาม ว่าขั้นตอนมีเพียงแค่การหาไม้ที่ดี และหาช้างให้เจอด้วยการกะเทาะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป

แน่นอนช้างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป้าหมายและบริบทของชีวิตย่อมแตกต่าง คนทำงานวัยสามสิบกว่าๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะกะเทาะสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปจากชีวิต เพื่อหาช้างของตัวเองให้เจอนั่นเอง

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความจากบล็อกของพี่รุตม์ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ (บางชิ้นผมก็เคยอ่านมาก่อนหน้าแล้ว) แบ่งออกเป็น 4 ภาคตาม 4 ด้านของชีวิตคือ Work, Relationships, Society, Self

ในฐานะที่อยู่ในวัยสามสิบกลางๆ ตรงกลุ่มเป้าหมายของหนังสือแบบเป๊ะๆ ก็ต้องบอกว่าอ่านแล้วโดนมากครับ

และก็ต้องบอกว่า ไม่ต้องกังวลว่าโทนของหนังสือเล่มนี้จะมา “สั่งสอน” เรา ถ้าใครรู้จักพี่รุตม์เป็นการส่วนตัวจะพบว่าแก humble มาก การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกับเรานั่งฟังรุ่นพี่สักคนมาแชร์ประสบการณ์ชีวิตในวงเหล้า (หรือเดี๋ยวนี้อาจจะเป็นวงกาแฟ ชาจีน หรือบิงซูก็ได้) เรื่องที่เล่าเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วทั้งสิ้น เพียงแต่พอเป็นเรื่องของคนอื่น หรือมีแง่มุมที่แตกต่างออกไป เราก็ได้แต่คิดในใจว่า “อืมนะ จริงด้วย คนอื่นก็มีปัญหาเหมือนกัน” อะไรประมาณนั้นมากกว่า

ประโยคที่ผมอ่านแล้วคลิกทันทีในหนังสือนี้คือ

เมื่ออายุขึ้นเลขสามจะมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในสองมิติ มิติแรกคือการแต่งงานและสร้างครอบครัว มิติที่สองคือได้ขึ้นเป็นหัวหน้า มีลูกน้อง

จากที่เคยตัวคนเดียวสบายๆ กลายเป็นต้องดูแลคนเพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ ความรับผิดชอบที่ถาโถมอาจทำให้เราวุ่นวายกับชีวิตว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราตื่นมาทุกเช้า

ถ้าอ่านก่อนหน้านี้สัก 5 ปี ก็อาจไม่เก็ตสักเท่าไรเหมือนกัน แต่หลังจากชีวิตเปลี่ยนไปตามที่หนังสือบอกไว้ ทั้งในแง่ครอบครัวและหน้าที่การงาน สิ่งที่ต้องประสบพบเจอทันทีคือการจัดการเวลาของตัวเองครั้งใหญ่ ถึงขั้นต้อง reset ชีวิตกันใหม่หมด เพราะถ้ายังใช้จังหวะเวลาแบบเดิมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ไม่มีทางเอาตัวรอดไปได้

ทางแก้มีเพียงหนึ่งคือ ต้องลดภาระในชีวิตลง ต้องจัด priority ชีวิตใหม่ว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ เพื่อนำ work-life balance กลับคืนมาสู่ชีวิต

ผมเลิกทำงานอดิเรกหลายอย่างที่เคยทำ เช่น ดูหนัง-ดูซีรีส์ เล่นเกมยาวๆ และพยายามหาตัวช่วยทุกอย่างที่ช่วยลดภาระหรือเวลาไปทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือมีคนอื่นทำแทนได้ออกไป สิ่งล่าสุดที่ทำเมื่อไม่นานมานี้คือ เปลี่ยนมาสั่งอาหารปิ่นโตเพื่อลดเวลา-ภาระในการซื้อข้าวเย็น ซึ่งช่วยให้ชีวิตดีขึ้นมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเบื่อจากอาหารที่รสมือจำเจเหมือนกันทุกวัน

ถ้าลดอะไรไม่ได้สักอย่าง ไอ้โน่นก็สำคัญ ไอ้นี่ก็สำคัญไปหมด นั่นแปลว่าสิ่งที่เราต้องทำคือลดความ “เยอะ” ของตัวเองลง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็มีพูดถึง

เพียงแต่การปรับพฤติกรรมชีวิตที่เคยทำซ้ำๆ มาประมาณ 20 ปีนับตั้งแต่ช่วงเป็นวัยรุ่น มันไม่ง่ายเลย ต้องใช้พลังใจในการควบคุมตัวเองไม่น้อย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมค้นพบว่า เออ คนอื่นเขาก็มีปัญหาแบบเดียวกับเรานี่หว่า 555

หนังสือเล่มนี้เป็นการแชร์ประสบการณ์ชีวิตของพี่รุตม์ ซึ่งเปรียบเสมือน typical character ของพี่คนหนึ่งในที่ทำงาน (ที่ดันขยันเขียนและมีมุมมองที่แตกต่าง) อ่านแล้วได้ reflect ตัวเองมากกว่าเป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ข้อเสียถ้าให้วิจารณ์คือต้นกำเนิดมาจากการรวมเล่มบทความในบล็อก ทำให้หัวข้ออาจจะกระจัดกระจายและไม่ต่อเนื่องกันเท่าที่ควร หัวข้อหลากหลายเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย มีตั้งแต่เรื่องความสัมพันธ์กับแฟน ไปถึงสรุปวิธีการจัดบ้านแบบมาริคอนโดะ (ผมเพิ่งเคยมาอ่านจริงๆ ก็จากในนี้!)

ถ้าให้สรุปคือ ถ้าคุณคือกลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ วัยสามสิบขึ้นไป เริ่มมีลูกมีครอบครัว หน้าที่การงานกำลังรุ่ง แต่เวลาในชีวิตก็หายไปจนทำให้เครียดไม่รู้จะระบายกับใคร หนังสือเล่มนี้บอกให้เรารู้ว่า #เราคือเพื่อนกัน

อ่านบล็อกที่เขียนถึงหนังสือของผู้เขียนเอง

5 เรื่องที่อ่านแล้วชอบที่สุด

  1. เหตุผลที่เรานอนดึก เป็นเพราะตอนดึกเป็นช่วงเวลาแห่งอิสรภาพ ที่เราเป็นนายของตัวเอง หลังจากเป็นบ่าวของคนอื่นมาทั้งวัน เราจึงอยากยืดเวลาแห่งอิสรภาพนี้ให้นานที่สุด
  2. คานธีเป็นมหาบุรุษแห่งอินเดีย แต่กลับมีปัญหากับลูกชายคนโตมาก ถึงขนาดลูกบอกว่าไม่อยากเกิดมามีพ่อชื่อคานธี เป็นที่รักของคนทั้งประเทศ แต่ลูกตัวเองกลับไม่รัก ชีวิตคือการ compromise
  3. อดีตเป็นสิ่งที่ผูกมัดเรา ถ้าเป็นอดีตที่ดี เรามักฟูมฟายอยากให้มันกลับมาอีก ถ้าเป็นอดีตที่เลวร้าย เราจะโทษว่ามันเป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน เราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เปลี่ยนความหมายหรือวิธีมองมันได้
  4. หน้าที่ของโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 คือสร้างคนที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง (develop strong personalities) ทักษะสำคัญที่โรงเรียนมอบให้เด็กคือความสามารถในการกระตุ้นและพัฒนาตัวเอง (ability to motivate themselves)
  5. ผ่านไปนานๆ แล้วเราจำไม่ได้หรอกว่าไปเที่ยวทริปนั้นใช้เงินเท่าไร ปลายทางชีวิตเราไม่มาสนใจหรอกว่ามีรายรับรายจ่ายเท่าไร สิ่งที่เราจำได้มีแค่ moment ดีๆ ประสบการณ์ดีๆ กับคนที่เรารักเท่านั้น