in Politics

The Second Coming of Donald Trump

ชัยชนะของ Donald Trump ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2024 (ถือเป็นการลงเลือกตั้งครั้งที่สามของ Trump ด้วย) สร้างบทสนทนาขึ้นมากมาย แต่น่าจะพอแยกคำถามได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ

  1. ทำไม Trump ถึงชนะ (ค้นหาสาเหตุในอดีต)
  2. รัฐบาล Trump จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลก (มองถึงอนาคต)

ตอนนี้เดือนพฤศจิกายน 2024 เพิ่งเลือกตั้งเสร็จหมาดๆ ยังห่างไกลกับวันรับตำแหน่ง (inauguration day) ในเดือนมกราคมอยู่พอสมควร ดังนั้นเรามาสนใจเรื่องสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ Trump ชนะกันก่อน

ในฐานะผู้สนใจการเมืองสหรัฐ ช่วงเดือนก่อนเลือกตั้งนั้นผมกลับยุ่งมากไม่มีเวลาตามข่าวเลือกตั้งสักเท่าไรนัก ดังนั้นคำตอบแบบสรุปคงต้องเอาจากสื่อในสหรัฐมาวิเคราะห์อีกที

คำถามเรื่องชัยชนะของ Trump คงต้องแยกย่อยเป็นอีก 2 ข้อคือ ชนะอย่างไร (how) และทำไมถึงชนะ (why)

How Trump Won

ผมคิดว่าคลิปสรุปของ BBC อันนี้อธิบายไว้ดีทีเดียว

ระบบการเมืองอเมริกาที่ใช้ Electoral College ในการโหวต ทำให้การชี้ขาดไปอยู่ที่ swing states ซึ่งรอบนี้มีด้วยกัน 7 รัฐ และ Trump ชนะทั้งหมด (แม้เป็นการชนะแบบเฉือนๆ แนว 51%:49% แต่นี่เป็นธรรมชาติของ swing states อยู่แล้ว)

  • Arizona
  • Georgia
  • Michigan
  • Nevada
  • North Carolina
  • Pennsylvania
  • Wisconsin

กลับทิศกันกับการเลือกตั้งปี 2020 ที่ Biden ชนะในรัฐส่วนใหญ่ของ swing states นั่นคือ Trump สามารถพลิก (flipped) กลับมาได้ถึง 5 รัฐ (แผนที่รัฐสีแดงเข้มในภาพ) ในขณะที่ Democrats ไม่สามารถพลิกรัฐสีแดงมาเป็นสีฟ้าได้เลยแม้แต่รัฐเดียว

หากเราซูมดูให้ชัดขึ้นหน่อยในระดับ county จะเห็นแพทเทิร์นคล้ายๆ กันคือ Democrats ชนะในเมืองใหญ่ เมืองหลวงของรัฐ ส่วน Republican ชนะโซนนอกเมือง ที่มีประชากรเบาบางกว่า แต่พื้นที่กว้างกว่า

เมื่อรวมคะแนนทั้งรัฐแล้ว ฝ่ายของ Republican กลับสามารถเอาชนะคะแนนรวมได้ในทุกรัฐ ทำให้ Trump ชนะ Electoral College ได้อย่างง่ายดาย

เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ในการเมืองสหรัฐ เพราะมีสภาพเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” มานานแล้ว คนเมืองใหญ่นิยม Democrats ส่วนรอบนอกนิยม Republican

เพียงแต่รอบนี้คะแนน swing votes ที่เคยเทให้ฝั่ง Democrats ในปี 2020 กลับข้างมาอยู่ Republican ในรอบนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่คนในชนบทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนเมือง (บางส่วน) ด้วย

ถ้าใครสนใจรายละเอียดเรื่องนี้ ใน The Guardian มีทำ visualization ไว้ละเอียดดีมากๆ

ตัวอย่างการโหวตของ county ในรัฐ Pennsylvania จะเห็นทิศทางอย่างชัดเจนว่า สวิงจากปี 2020 กลับมา แม้ไม่ได้ชนะขาดเหมือนปี 2016

คำถามต่อมาจึงเป็นว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนจำนวนมากถึงกลับไปเลือก Trump

Why Trump Won

ประเด็นนี้คงเป็นที่ถกเถียงต่อกันไปอีกนานหลายปี (และเป็นคำถามสำคัญที่ Democrats ต้องเผชิญ แบบเดียวกับหลังเลือกตั้งปี 2016) แต่เนื่องในโอกาสที่ผ่านมาจากเลือกตั้งแค่ 1 วันก็อยากเขียนความคิดแบบสดๆ ดิบๆ เอาไว้ก่อน

คลิปที่ผมดูแล้วคิดว่าเก็บประเด็นได้ครบถ้วน คือ คลิปของ WSJ และ Vox

แน่นอนว่าความคิดของนักวิเคราะห์แต่ละคนย่อมหลากหลาย ถ้าให้ลองจับประเด็นบ้าง (เราเป็นพวกเก่งหลังเกม) ผมคิดว่านโยบายการหาเสียงของ Trump ที่ประสบความสำเร็จในรอบนี้เป็นเรื่อง ผู้อพยพ (immigration) และเรื่องการครองอำนาจเดิม (establishment)

ภาพที่ทรงพลังที่สุดในการหาเสียงรอบนี้ น่าจะเป็นกราฟแสดงสถิติผู้อพยพข้ามประเทศจากเม็กซิโก (Build That Wall!) ที่พุ่งสูงในช่วงรัฐบาล Biden

 

source: Vox

ในการดีเบทระหว่าง Trump vs Harris ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบนี้ เราได้เห็น Trump พูดอะไรตลกๆ เพี้ยนๆ อย่างเรื่องผู้อพยพกินหมากินแมว ซึ่งกลายเป็นมีมล้อเลียนไปทั่ว ฝั่ง Democrats อาจมองว่าเป็นวิธีโจมตีไร้สาระ แต่ผมคิดว่ามัน stick เข้าไปในใจคน (เก่งหลังเกมอีกแล้ว) ว่าผู้อพยพเหล่านี้เข้ามาสร้างความวุ่นวาย ความไม่สงบ มาเบียดเบียนชาวอเมริกันเดิม

หากเราไปดูข้อมูลนโยบายของ Trump ในหน้าเว็บของเขาเอง ก็จะเห็นว่า 2 ข้อแรกเป็นเรื่อง immigration & deportation

ส่วนเรื่อง establishment หรือบ้างก็เรียก status quo นั้นพูดกันมานานตั้งแต่ปี 2016 เช่นกัน เพียงแต่คราวนั้นคือ Clinton establishment ในขณะที่รอบนี้เป็น Obama establishment (มองในแง่ รัฐบาล Biden คือส่วนต่อขยายของรัฐบาล Obama)

Trump นั้นวางตัวเองเป็นผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลง เป็น challenger เป็น game changer อยู่ตลอดเวลา เมื่อแนวทางการหาเสียงของ Harris ไม่ได้ฉีกตัวเองจากรัฐบาล Biden มากนัก (ซึ่งเป็นปกติของผู้สมัครประธานาธิบดีที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาลก่อน) จึงโดน Trump โจมตีเรื่องนี้เข้าตรงๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการไปทอด McDonald’s ให้เห็นชัดๆ เพื่อ “โฆษณา” ว่าทำงานแรงงานเป็นระยะเวลานานกว่าที่ Harris เคยทำในอดีต

อันนี้ต้องชมว่าคนคิดแคมเปญแต่ละอันออกมาได้เจ๋งจริงๆ ถึงดูห่ามๆ ไม่ค่อยสง่างาม แต่ก็ได้ผล effectiveness สูงมาก ตามสไตล์ Trump อย่างแท้จริง

อดีตผู้สมัครอย่าง Bernie Sanders ที่รอบนี้ไม่ได้มีบทบาทมากนัก ก็ออกมาโพสต์ในประเด็นเรื่อง status quo

ผลกระทบของรัฐบาล Trump รอบที่สองจะเป็นอย่างไรต่อไปคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ระหว่างนี้คงต้องขอตัวไปอ่าน Project 2025 อีกรอบแบบละเอียดๆ ก่อน ตอนมันออกมาครั้งแรกดูเหมือนแผนลับยึดอเมริกาแบบที่เราเห็นในหนัง แต่ตอนนี้มันกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว