จริงๆ แล้วติดตามเรื่องสงคราม #nnevvy อยู่แบบห่างๆ ไม่ได้ใกล้ชิดนัก ช่วงไทยยำจีนอย่างเดียวก็สนุกดีขำๆ แต่พอมหกรรมชาติอื่นมาร่วมวง ก็มีความน่าสนใจมากขึ้น จนกระทั่งได้ลง Foreign Policy แล้วก็คิดว่าต้องเขียนถึงบ้างแล้ว
ประเด็นเรื่องรายละเอียดของสงคราม มีคนพูดถึงไปเยอะแล้วก็ขอข้ามไป แต่ implication ที่น่าสนใจจากการปะทะกัน ที่คิดไว้มีดังนี้
แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของจีนในเรื่อง soft power
ถึงแม้จีนจะแข็งแกร่งในเชิงเศรษฐกิจ และการทหารที่เป็น hard power แต่เหตุการณ์ nnevvy แสดงให้เห็นว่าพอเป็นเรื่อง soft power ที่ทำให้คนรัก คนเข้าข้าง จีนยังอ่อนแอมาก ถึงแม้เราจะเสพคอนเทนต์บันเทิงจากจีน (เช่น ซีรีส์ ดารา เกม การ์ตูน) กันอยู่บ้าง แต่อิทธิพลทางความคิดของจีนเมื่อเทียบกับหนังฮอลลีวู้ด การ์ตูนญี่ปุ่น ซีรีส์เกาหลี ยังห่างไกล ห่างชั้น และต้องใช้เวลาอีกนาน
Sputnik Moment ของชาวเน็ตจีน
อันนี้เขียนเวอร์ไปนิดนึง แต่เหตุการณ์ nnevvy น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ชาวเน็ตจีน (ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของคนยุคใหม่จำนวนไม่น้อย) ออกมาเจอ “โลกภายนอก” เป็นครั้งแรก (ถ้าใครอ่าน Hunter x Hunter ภาคล่าสุด มันคือ “ข้างนอก” ในเซนส์เดียวกัน)
การออกมาเผชิญกับความจริงภายนอกกำแพง Great Firewall แถมยังแพ้กลับไป มันก็น่าจะทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มฉุกใจคิดมากขึ้น ตรงนี้คงไม่มีผลในระยะสั้น แต่ถ้าในอนาคตระยะยาว 10-20 ปีมองย้อนกลับมา เหตุการณ์ nnevvy น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์คนจีนยุคใหม่เหมือนกัน
Milk Tea Alliance
ในแวดวงการต่างประเทศ มีคำว่า Pax Americana ที่หมายถึงยุครุ่งเรืองที่นำโดยอเมริกา ที่ทุกคนเห็นว่าใกล้จะจบลงแล้ว และชาติมหาอำนาจใหม่ที่กำลังพุ่งขึ้นมาคือจีน ซึ่งอาจใช้คำว่า Pax Sinica ก็ได้
เมื่อระเบียบโลกเปลี่ยน ประเทศอื่นๆ ก็ต้องมาทบทวนกันว่าเราจะวางตัวอย่างไรภายใต้ระเบียบโลกใหม่ และคิดว่าหลายประเทศคงเจอปัญหาคล้ายๆ กันคือ มีความอิหลักอิเหลื่อ จะตามอเมริกาอย่างเดียวแบบเดิมก็ไม่ได้แล้ว แต่จะไปเกาะจีนอย่างเดียวแทน ก็เจอจีนเอาเปรียบเหลือเกิน สุดท้ายแล้วจะบาลานซ์ตรงนี้ยังไงดี
พอมีประเด็น nnevvy war ปะทุขึ้นมา มันแสดงให้เห็น “จุดร่วม” ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ว่าเฮ้ย พวกเราก็ไม่พอใจจีนอยู่เหมือนกันนะ
ยิ่งถ้าเราเอามิติของความขัดแย้งระดับภูมิภาคมาซ้อนทับ เช่น ปัญหาพรมแดนจากหมู่เกาะสแปรตลีย์ (ที่ประเทศไทยไม่กระทบ คนไทยไม่สนใจนัก) ปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขง ไปจนถึง ยุทธศาสตร์ร้อยไข่มุก (String of Pearls) ของจีนเอง ก็จะยิ่งเห็นชัดว่า “พันธมิตรชานม” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แค่เป็นวิธีการพูดในมิติเชิง geopolitics หรือในเชิงวัฒนธรรมเท่านั้น
ปัญหาเรื่องการ “เลือกข้าง” ตามผู้ยิ่งใหญ่ในระเบียบโลก ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่เคยเกิดมาแล้วในสมัยสงครามเย็น
ตอนนั้นเกิด “กลุ่มประเทศโลกที่สาม” (Third World หรือ Non-Aligned Movement) ขึ้นมาเป็นทางเลือก นอกเหนือจากโลกที่หนึ่ง (NATO) หรือ โลกที่สอง (เครือข่ายโซเวียต) ประเทศที่เป็นแกนนำคือ อินเดีย-เอเชียใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้ อเมริกากลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ (เช่น อินโดนีเซีย)
การรวมตัวครั้งนั้นเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีผลในทางการเมืองโลกอะไรมากนัก เอาไว้เป็นพลังในเชิงการต่อรองกับขั้วอำนาจทั้งสองมากกว่า
รอบนี้คงคล้ายๆ กัน “พันธมิตรชานม” คงไม่ใช่องค์กรอะไรที่ชัดเจน แต่การรวมพลังกันเพื่อคานอำนาจกับ “จักรวรรดิจีน” และเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้า ห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันเอง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีในโลกหลังปี 2020 เป็นต้นไป ที่ต้องลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนลง
ภาพประกอบจาก Twitter @this28644469 ไม่รู้เป็นต้นฉบับหรือเปล่าแต่หาเจอแค่อันนี้