in Economics, Movies

The Big Short

หัวข้อหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจอเมริกาปี 2007-2008 ต่อชีวิตของผู้คนทั่วไปที่ไม่ใช่สายการเงิน

เรื่องราวของคนที่ทำงานอยู่ดีๆ แล้วชีวิตพลิกผัน ตกงาน เสียบ้าน เสียเงินออมที่ไปลงทุนเอาไว้ในชั่วข้ามคืน ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

ช่วงนี้กลับมาสนใจเรื่องตลาดเงินตลาดทุนอีกครั้ง เลยนึกถึงหนังเรื่อง The Big Short ที่ออกฉายตอนปี 2015 พูดถึงการเสี่ยง “แทง” ฝั่งตรงข้ามกับพันธบัตรเงินกู้บ้าน ซึ่งดูเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงมากจากคนภายนอกมองเข้ามา

ผมเคยดู The Big Short มาแล้วครั้งหนึ่งตอนที่หนังฉาย (ดูในโรงด้วยซ้ำ) แต่ตอนนั้นยังไม่มีความเข้าใจเรื่องตลาดเงินมากนัก การมาดูรอบที่สองจึงได้ทบทวนและเก็บรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม

The Big Short เป็นการเล่าเหตุการณ์ของคน 3 กลุ่ม ที่มองเห็นความผิดปกติของตลาดการเงินในช่วงปี 2005 และทำการ “ช็อต” (แทงสวนว่าตลาดจะพัง ราคาสินทรัพย์จะตกลง) จนสุดท้ายร่ำรวยมหาศาล แต่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่น่าภาคภูมิใจนัก เพราะอยู่บนซากปรักหักพังของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

หนังเล่าเหตุการณ์ของคน 3 กลุ่ม (ที่มีความเชื่อมโยงกันเพียงเล็กน้อย) สลับไปมาระหว่างกัน

  • Michael Burry (Christian Bale) ผู้จัดการกองทุนนิสัยเพี้ยนๆ ที่มองเห็นความผิดปกติของตลาดบ้านสหรัฐเป็นคนแรก และไปตื๊อให้สถาบันการเงินต่างๆ ออกผลิตภัณฑ์สำหรับ “ช็อต” มาให้เขาซื้อ ซึ่งธนาคารก็ยิ้มรับด้วยดีเพราะมองว่า Burry เจ๊งแน่นอน
    • Burry เป็นคนเดียวในหนัง ที่เป็นชื่อจริงของคนจริงๆ (ปัจจุบันแกก็ยังทำกองทุนอยู่ แต่ตอน covid ก็เจ๊งไปเยอะเหมือนกัน)
  • กลุ่มนักลงทุนของบริษัท FrontPoint Partners ที่อยู่ในเครือ Morgan Stanley นำโดย Mark Baum (Steve Carell) ผู้จัดการกองทุนฝีปากกล้า ซึ่งร่วมมือกับ Jared Vennett (Ryan Gosling) พนักงานของ Deutsche Bank ที่มองเห็นความผิดปกติ แต่ทำอะไรไม่ได้ จึงชวน Baum มาช็อต แล้วเขาจะได้ค่าคอมมิชชันก้อนใหญ่ (47 ล้านดอลลาร์ในตอนจบ)
  • Brownfield Capital นักลงทุนรุ่นใหม่ 2 คนที่เริ่มต้นลงทุนในโรงรถ โดยมี Ben Rickert (Brad Pitt) นักลงทุนเกษียณอายุเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์

เนื่องจากนักลงทุนทั้ง 3 กลุ่ม ตัดสินใจ “ช็อต” ท้าทายต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอันมั่นคงของสหรัฐ และบางคนก็ช็อตด้วยเงินมหาศาลเป็นหลักพันล้านดอลลาร์ ถ้าทายผิด ทุกอย่างที่ทำมาทั้งชีวิตก็สิ้นสลาย

การยืนหยัดเชื่อมั่นในจุดยืนของตัวเองท่ามกลางคนจำนวนมหาศาลที่เห็นต่าง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความเชื่อมั่นนั้นเป็นอย่างมาก เราจึงเห็นตัวละครหลักในเรื่องต้องเผชิญกับแรงกดดันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของ Burry ที่บินข้ามฝั่งประเทศมาทวงเงินคืน ขู่ว่าจะฟ้อง หรือลูกค้าของ FrontPoint ที่บุกมาถึงบริษัท

หนังก็ออกแบบฉากให้มีความดราม่าเพิ่มขึ้น ฉากที่ผมชอบตั้งแต่ดูรอบแรกคือ กลุ่มลูกน้องของ Baum ลงพื้นที่จริงสำรวจตลาดบ้านในฟลอริด้า แล้วมั่นใจว่าตลาดบ้านมีปัญหาแน่นอน พอมาดูรอบสอง ก็ชอบฉากที่ Baum ถกเรื่องเศรษฐกิจกับสาวใน strip club (ย้อนแย้งดี) และฉากที่ Baum กินข้าวกับผู้จัดการ CDO ในตอนท้ายเรื่อง และพบว่าเศรษฐกิจชิปหายแน่นอน

แต่ฉากที่ประทับใจที่สุดคือ ฉากที่แคปหน้าจอมา นั่นคือจังหวะที่ทีมเด็กหนุ่มใน Brownfield Capital ดีใจที่ช็อตเงินก้อนใหญ่สำเร็จ กะว่ารวยแน่นอน ก็โดน Rickert ด่าว่า

“พวกเรากำลังแทงสวนเศรษฐกิจสหรัฐอยู่นะ ถ้าเราแทงถูก แปลว่ามีคนจำนวนมากที่จะเสียบ้าน เสียงานไป”

ประโยคนี้น่าจะเป็นใจความสำคัญของเรื่อง The Big Short ได้ดีที่สุด

ป.ล. หนังยังพยายาม (อย่างที่สุดแล้ว) ในการอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่เข้าใจยาก ทั้ง CDO และ CDS แต่เนื่องจากคอนเซปต์มันเข้าใจยากอยู่แล้ว ถึงแม้พยายามให้ง่ายแล้วก็ยังยากอยู่ดี (ฮา)