ข่าวด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ประกาศความร่วมมือของ T-Mobile และ SpaceX ในการทำระบบโทรศัพท์ cellular ผ่านดาวเทียม Starlink
ความฝันของมนุษยชาติในการสร้าง “โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม” เกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้ายังจำกันได้ตั้งแต่ยุค Iridium ที่แนวคิดสุดว้าวแต่มาก่อนกาลไปสักหน่อย
โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม มีข้อดีเรื่องพื้นที่บริการ (coverage) แต่มีข้อจำกัดทางเทคนิคหลายอย่าง ทั้งเรื่องการรับสัญญาณ (signal receiving) ที่ต้องใช้ตัวเครื่องรับ handset พิเศษราคาแพง และอัตราการส่งสัญญาณ (speed) ซึ่งประเด็นหลังสำคัญมากในยุค mobile internet ที่เราจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งสัญญาณด้วยความเร็วสูงขึ้น เพื่อตอบโจทย์การสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้น (เช่น video call)
สิ่งที่ T-Mobile และ SpaceX ประกาศคือบริการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมที่:
- ใช้กับเครื่องโทรศัพท์ handset ในท้องตลาดได้ ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่
- ควักหยิบมาตรงไหนก็รับสัญญาณได้ อยู่ในกระเป๋าก็มีสัญญาณ
- มีความเร็วในการเชื่อมต่อพอสมควร (2-4 Mbps) ใช้ส่งข้อความได้ และตั้งเป้าให้โทรได้
คำถามที่น่าสนใจคือ ตัวเทคโนโลยีมันสามารถทำได้อย่างไร
Elon Musk อธิบายไว้ในคลิปแถลงข่าวว่า SpaceX จำเป็นต้องสร้างดาวเทียมรุ่นใหม่ Starlink V.2 ที่มีเสาอากาศขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก สามารถจับสัญญาณขา uplink จากโทรศัพท์ขึ้นไปยังดาวเทียมได้ ซึ่งในทางเทคนิคก็ไม่ง่ายเลย
“These are the most advanced antennas in the world, we think,” Musk said. “They have to pick up a very quiet signal from your cell phone. Just imagine, that signal has to travel 500 miles, and then be caught by a satellite that’s traveling at 17,000 mph. The satellite’s got to compensate for the Doppler effect of moving so fast.”
“So it’s really quite a difficult technical challenge,” he said. “But we have it working in the lab and we’re confident this will work in the field. So it’s actually quite a lot of extra hardware on the satellites and it’s also a lot of software. It’s a hard problem.”
ในบทความของ Ars Technica ยังพูดถึงว่า ดาวเทียม Starlink V.2 (ที่ยังไม่มีภาพให้ดู) มีขนาดใหญ่เกินกว่าจรวด Falcon 9 Heavy ในปัจจุบัน ทำให้การยิงดาวเทียมแบบใหม่ต้องรอจรวดรุ่นใหม่ Starship มารับหน้าที่แทน กระบวนการทั้งหมดน่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ (เช่น ปี 2024)
ซีอีโอของ T-Mobile อธิบายเพิ่มเติมไว้อีกหน่อย (ในคลิป) ว่าตอนนี้ยังรองรับการสื่อสารด้วย SMS และ Voice เพราะแยกช่องสัญญาณจากอินเทอร์เน็ตปกติ ส่วนการสื่อสารด้วยแอพแชทบางตัว (ยังไม่ได้คุยกับค่ายไหน) อาจพอทำได้ หากมีการแยกสัญญาณแอพแชทออกมาจากทราฟฟิกปกติ ซึ่ง T-Mobile มีประสบการณ์มาแล้วกับการแยกสัญญาณเพลงสตรีมมิ่ง เพื่อไม่คิดค่าเน็ตจากการสตรีมเพลง
T-Mobile และ SpaceX ไม่ใช่บริษัทแรกที่ทำเรื่องนี้ เพราะมีบริษัทอเมริกันอีกรายชื่อ Lynk ทำได้ตั้งแต่ปี 2021 โดยส่งดาวเทียมขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว 1 ดวง (ใช้บริการ SpaceX ขนขึ้นวงโคจรให้ด้วย)
Lynk บอกว่าดาวเทียมของตัวเองมีขนาดเล็กเพียง 1×1 เมตร และระบุว่าตัวเองสามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคแบบที่ SpaceX ต้องเผชิญ (เช่น doppler effect) ได้หมดแล้ว
แต่ข้อจำกัดของ Lynk คงเป็นเรื่องจำนวนดาวเทียมที่ยังมีเพียง 1 ดวงเท่านั้น กว่าดาวเทียมจะวนกลับมาในพื้นที่เดิมก็ต้องใช้เวลาอีกวัน (ตามแผนคือต้องมี 1,500 ดวงถึงจะครอบคลุมทั้งโลก ให้บริการแบบเรียลไทม์โดยไม่สะดุด)
นอกจาก SpaceX และ Lynk แล้ว ช่วงหลังยังมีบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอีกหลายรายเกิดขึ้น แต่ยังอยู่ในรูปเน็ตประจำที่ (fixed broadband) เพราะต้องใช้จานดาวเทียมร่วมด้วย เช่น OneWeb, Telesat และ Amazon (Project Kuiper)
บริษัทไซส์เล็กแบบ Lynk หรือ OneWeb เมื่อมาเจอกับคู่แข่งระดับ heavyweight อย่าง SpaceX (ตอนนี้ Elon คือคนที่รวยที่สุดในโลก) ก็เหนื่อยหน่อย กรณีของ OneWeb ก็เจอปัญหาเรื่องสภาพคล่อง มาก่อนแล้ว ในการลงทุนโครงข่ายสเกลใหญ่ระดับนี้ คงไม่ได้มีแต่ข้อจำกัดเรื่องเทคนิคอย่างเดียว เรื่องทุนฝั่งธุรกิจก็มีผลมากเช่นกัน
ในภาพรวมแล้ว ก็ต้องถือว่าวงการการสื่อสารผ่านดาวเทียมกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ และถ้าทำได้สำเร็จตามแผนจริง มันจะเปลี่ยนเกมของการสื่อสารผ่านมือถือ (ที่เดิมทีเป็นคนละอุตสาหกรรมกัน) ไปอย่างมาก