เปิดมาเจอใน Wikipedia เพิ่งรู้จักสองชื่อนี้คือ Sunda Shelf และ Sahul Shelf ซึ่งเป็นชื่อเรียกของ “ไหล่ทวีป” (continent shelf) ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ออสเตรเลีย
Sunda เป็นชื่อเรียกไหล่ทวีปฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่คาบสมุทรอินโดจีน และเกาะใหญ่ 3 เกาะคือ บอร์เนียว สุมาตรา ชวา (แต่ไม่รวมฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่บนไหล่ทวีปอีกอันคือ Mindanao) และมาสิ้นสุดที่บาหลี
ชื่อ Sunda มีความเป็นมายาวไกลมาก เพราะเป็นชื่อในแผนที่ของปโตเลมี ตั้งแต่ยุคกรีกโน่นเลย โดยปโตเลมี น่าจะได้ข้อมูลมาจากนักเดินทางในยุคนั้นว่าตะวันออกไกลมีดินแดนอะไรบ้าง ซึ่ง Sunda หมายถึงดินแดนที่อยู่ไกลออกไปจาก Taprobana หรือชื่อที่คนกรีกเรียกเกาะศรีลังกาในยุคนั้น
Sahul เป็นชื่อเรียกไหล่ทวีปของออสเตรเลียทั้งก้อน (รวมเกาะทาสมาเนียทางใต้) และปาปัวนิวกินีทางตอนเหนือ
ส่วนชื่อ Sahul หรือ Sahoel นั้นไม่ชัดว่ามาจากที่ใด แต่จากหลักฐานคือเริ่มใช้ในแผนที่ของดัทช์ช่วงศตวรรษที่ 17
การที่รอยต่อของ Sundar กับ Sahul นั้นไม่พอดีกัน ทำให้เกาะจำนวนมากของอินโดนีเซีย ที่อยู่ตรงกลางระหว่างชวา-บอร์เนียว กับ นิวกินี (เช่น ติมอร์) จึงอยู่บนไหล่ทวีปย่อยของตัวเอง และส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในบริเวณแถวๆ นี้ แม้ระยะห่างของเกาะอยู่กันไม่ไกลขนาดนั้น
ตัวอย่างการศึกษาเรื่องนี้ที่โด่งดังที่สุดคือ Wallace Line ซึ่งเรียกชื่อตามนักชีววิทยาชาวอังกฤษ Alfred Wallace ที่ค้นพบเรื่องนี้ (พื้นที่ตรงกลางระหว่าง Sundar กับ Sahul จึงมีชื่อเรียกว่า Wallacea)