in Politics

ผู้ครองอำนาจต้องคิดถึงจุดจบ

หนึ่งในบทความ/คลิปยอดนิยมของ Brand Inside ประจำปี 2019 คือ “มืออาชีพต้องคิดถึงจุดจบ” ของพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ใครยังไม่เคยอ่าน/ฟังก็แนะนำเป็นอย่างสูง

ประเด็นสำคัญของบทความนี้คือเป็นการเตือนใจคนทำงาน (พนักงานบริษัท) ถ้าเราสามารถจินตนาการว่าอาชีพการงานของเราในองค์กรแห่งนี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร เราจะมองเห็นปลายทาง และสามารถประพฤติ-ปฏิบัติตัวในระหว่างทาง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายปลายทางนั้นได้

ผลคือเราจะประพฤติตัวดีขึ้น เพราะอยากให้จบสวยๆ นั่นเอง

วันนี้เกิดความสงสัยขึ้นว่า ถ้าเราประยุกต์หลักการนี้กับการเมืองการปกครอง แทนที่จะเป็นโลกธุรกิจล่ะ จะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าข้อดีประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยยุคปัจจุบัน ที่ไม่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร คือการจำกัด “เทอม” ของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ในที่นี้หมายถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรี/ประธานาธิบดี แต่จริงๆ ก็ครอบคลุมตำแหน่งอื่นๆ ด้วย)

การจำกัดเทอมทำให้อำนาจมีจุดสิ้นสุด (definite) นักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้ได้นานที่สุด 4 ปีหรือ 8 ปี จากนั้นต้องลงจากตำแหน่งไป

การบังคับให้อำนาจมีจุดจบ ช่วยให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ (succession of power) นั้นราบรื่นขึ้นมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือระบอบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่มีกรอบเรื่องเวลาค่อนข้างตายตัวมาก (คือถึงขั้นว่าประธานาธิบดีต้องสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนไหนของปีไหน) ดังนั้นต่อให้สู้กันในสนามการเมืองแบบเละเทะ เราก็เห็นประธานาธิบดีสองคนมายืนส่งมอบตำแหน่งกันอย่างชื่นมื่นในพิธี inauguration ช่วงเดือนมกราคมทุก 4 หรือ 8 ปี (พอหมดพิธีแล้วก็อาจกลับไปด่ากันต่อ)

การอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจล้นฟ้า ให้คุณให้โทษกับฝักฝ่ายใดๆ ก็ได้ ย่อมมีโอกาสถูก “ล้างแค้น” เมื่อลงจากตำแหน่งนั้น การที่ประธานาธิบดีรู้ตัวว่าสักวันอำนาจจะหมดไป เป็นการบีบให้ตัวเองต้องประพฤติปฏิบัติดีๆ เพื่อว่าช่วงที่เหลือของชีวิตจะได้อยู่ต่อไปแบบมีความสุข

การกำหนดกรอบเวลาแบบนี้ ต่างจากผู้นำเผด็จการ ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งไปจนสิ้นอายุขัย ด้วยเหตุผลว่าในบางครั้งอยากลงจากตำแหน่งแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะจะโดนเอาคืนแน่ๆ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ จึงต้องครองอำนาจไปเรื่อยๆ จนกว่า “ความตาย” จะมาพรากเราไปโดยธรรมชาติ (คู่แค้นตามไปเอาคืนในนรกไม่ได้) ผู้นำอย่างสตาลิน ฟรังโก เหมา คาสโตร ล้วนแล้วแต่ลงจากตำแหน่งด้วยวิธีการนี้ ซึ่งหลายครั้งก็เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างการสืบทอดอำนาจ จนส่งผลสะเทือนต่อประเทศ (เช่น กรณีแก๊งสี่คนในยุคปลายของเหมา)

หรือแม้แต่ระบอบกษัตริย์เอง ที่ยึดตามอายุขัยของกษัตริย์ ก็ไม่การันตีว่าการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจะเกิดขึ้นอย่างสันติเสมอไป กรณีของเจงกิสข่าน หรือ จูหยวนจาง แม้ตอนมีชีวิตอยู่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่หลังจากตายไปก็เกิดการชิงอำนาจกันระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ จนสะเทือนต่ออาณาจักร

หากย้อนกลับมาดูประวัติศาสตร์ไทย ผู้นำเผด็จการทหารหลายคนก็มีจุดจบที่ไม่สวยนัก เช่น จอมพล ป., จอมพลถนอม, พลเอกสุจินดา คงเป็นเพราะการอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ไม่สามารถหาวิธีเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติได้นั่นเอง

เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ถือว่าน่าสนใจ เพราะ คมช. มองเห็น “จุดจบ” ของตัวเองตั้งแต่ต้น ว่าเข้ามาแล้วอยู่ไม่นาน ร่างรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้งใหม่แล้วจากไป เราจึงเห็นตัวละครอย่างพลเอกสนธิ หรือ พลเอกสุรยุทธ์ ยังอยู่สบายดียามแก่เฒ่าจนถึงทุกวันนี้

คำถามที่น่าสนใจใน พ.ศ. นี้คือ รัฐบาลยุค คสช. มองเห็น “จุดจบ” ของตัวเองอย่างไร ได้ออกแบบจุดจบของตัวเองไว้แค่ไหน และหากไม่ได้คิดเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า ตอนจบจริงๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต มันจะหน้าตาเป็นอย่างไร

ภาพประกอบโดย Staff Sgt. Marianique Santos จาก Wikipedia