in Banking, Business

SCB First Branch

วันนี้ไปงานแถลงข่าว SCB 10X ซึ่งจัดที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ถนนเจริญกรุง เพิ่งเคยไปครั้งแรก และพบว่านี่คือสาขาแรกสุด สำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย

บรรยากาศก็ร่มรื่น คลาสสิคสวยงามดี ชั้นล่างยังเป็นสาขาที่ให้บริการ teller และพวกบริการการเงินอื่นๆ (เช่น เปิดบัญชี กองทุน ฯลฯ) ตามปกติ ส่วนด้านบนเป็นกึ่งพิพิธภัณฑ์ + สถานที่จัดงาน มีห้องประชุมรับรองนิดหน่อย

ตอนเริ่มงาน พิธีกรคือพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ กล่าวว่าธนาคารแห่งนี้เป็นสำนักงานใหญ่แห่งแรกของ SCB และเมื่อใดที่ธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ก็มักจะกลับมาใช้สถานที่แห่งนี้เป็นเวที (ตัวอย่างล่าสุดก่อนหน้านี้คือ การเซ็นสัญญา Private Banking กับ Julius Baer และการแถลงข่าว 10X รอบนี้)

ในฐานะที่เป็นลูกค้าธนาคารหลายแห่ง และไปงานแถลงข่าวของธนาคารต่างๆ อยู่เรื่อยๆ คิดว่า SCB เป็นธนาคารที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

เราสามารถจัดกลุ่มธนาคารในไทย ตามโครงสร้างการถือหุ้นและจุดกำเนิด ได้เป็น 4-5 แบบกว้างๆ คือ

  • กลุ่มธนาคารของรัฐ เช่น กรุงไทย ออมสิน และธนาคารเฉพาะทางอย่าง ธกส. ธอส. ซึ่งมีความเป็นราชการสูง
  • กลุ่มธนาคารเจ้าสัว ปัจจุบันรายใหญ่ๆ ที่เหลืออยู่คือ กสิกร (ล่ำซำ) และ กรุงเทพ (โสภณพนิช)
  • กลุ่มธนาคารทุนต่างชาติ สไตล์ก็ขึ้นกับว่าเจ้าของเป็นชาติไหน เช่น กรุงศรี (ญี่ปุ่น) CIMB (มาเลเซีย) ทหารไทย (เนเธอร์แลนด์) UOB (สิงคโปร์)
  • กลุ่มธนาคารเอกชนไทยแท้ เช่น ไทยพาณิชย์ เกียรตินาคิน ธนชาต LH เป็นต้น

กรณีของไทยพาณิชย์ จุดที่แตกต่างจากธนาคารอื่นๆ ย่อมเป็นเรื่องความผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่จุดกำเนิดจนมาถึงโครงสร้างการถือหุ้นในปัจจุบัน แต่ไทยพาณิชย์เองก็ไม่ได้มีความเป็นกษัตริย์จ๋าๆ (คือกษัตริย์ถือหุ้นเฉยๆ แต่ก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไรในธุรกิจมานาน) ทำให้ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่ไม่ได้มี “เจ้าของ” ในเซนส์เดียวกับธนาคารกลุ่มเจ้าสัว (ที่ภาพชัดว่าตระกูลใดมีบทบาทมาก) แต่ในขณะเดียวกันก็ต่างไปจากธนาคารของรัฐ ที่มีความเป็นราชการสูง

ผลคือไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่ออกจะไปทางเอกชน ผู้บริหารมีความเป็นมืออาชีพสูง มีความทันสมัยและอินเตอร์อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังมีเซนส์เรื่องเกียรติภูมิจากจุดกำเนิดของธนาคารอยู่ ก็ถือเป็นส่วนผสมที่แปลกและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ดี

ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าสไตล์ของธนาคารไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร กล่าวถึงในฐานะ “ความแตกต่าง” เท่าที่สังเกตได้เท่านั้น