ฟังสปีชของพระราชินีอลิซาเบธที่สอง แล้วประทับใจมาก เป็น 4 นาทีกว่าๆ ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ทั้งประเด็นที่พูด ถ้อยคำที่พูด และคาริสม่า บารมีของควีนเองด้วย (ที่ผ่านอะไรมาเยอะมาก ตั้งแต่สงครามโลก)
ถือเป็นตัวอย่างสปีชที่ดีมากๆ (โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 นาที) เลยมาถอดประเด็นไว้สักหน่อย ไว้เป็นกรณีศึกษาของการพูดที่ดี มีโครงสร้างชัดเจน
- ควีนเริ่มสปีช โดยบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก (challenging time) ต่อคนในชาติ ทั้งเรื่องคนตาย (grief) เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ (financial difficulties) และการปรับวิถีชีวิตครั้งใหญ่ (enormous changes to the daily lives) เรียกว่าครบทุกประเด็น ภายใน 30 วินาทีแรก
- ถัดมา ควีนขอบคุณทุกคนใน NHS (ระบบสุขภาพแห่งชาติ) และคนอื่นที่มีบทบาทสำคัญ (those carrying out essential roles) ที่ทำงานหนัก ครบทุกฝ่ายที่ออกมาทำงานนอกบ้านในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ NHS
- ถัดมา ควีนขอบคุณทุกคนที่อยู่บ้าน (those of you who are staying at home) ไม่ใช่แค่ขอบคุณคนทำงาน แต่ขอบคุณความร่วมมือจากคนที่อยู่บ้านด้วย
- ขอบคุณสิ่งที่ผ่านมาจบแล้ว ก็พูดถึงอนาคตว่า ทุกคนจะภูมิใจตัวเองที่รับมือปัญหานี้ และคนรุ่นหลังจะพูดถึงคนรุ่นนี้ว่าแข็งแกร่ง มีวินัย
- จากนั้นเป็นประโยคเด็ดของสปีชนี้คือ ความภูมิใจว่าชาติเราคือใคร ไม่ใช่แค่อดีตของเรา แต่เป็นสิ่งที่นิยามปัจจุบันและอนาคตของเราด้วย “The pride in who we are is not a part of our past, it defines our present and our future.”
- ย้ำว่าเหตุการณ์ที่คนอังกฤษออกมาปรบมือกันเพื่อขอบคุณคนทำงาน จะถูกจดจำในฐานะการแสดงออกของสปิริตคนในชาติ เป็นการบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นดีแล้ว
- ไม่ได้พูดถึงอังกฤษอย่างเดียว แต่พูดถึงเครือจักรภพด้วย (Across the Commonwealth) ตรงนี้สำคัญมากเพราะควีนเป็นพระราชินีของดินแดนอื่นด้วย แล้วยังพูดถึงประเด็นเรื่องความมีน้ำใจต่อกันในหมู่เพื่อนบ้าน (people coming together to help others) ว่าเป็นสิ่งที่ดี นอกเหนือจากงานหลักของคนในระบบสาธารณสุขที่ชมไปแล้ว
- ย้อนอดีตถึงสปีชแรกของควีนตอนสงครามโลก (1940) ที่มีความรุนแรง หนักหน่วงระดับเดียวกัน มาเป็นตัวเปรียบเทียบ ว่าเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดเหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเหมือนกัน อันนี้เป็นวิธีการยกตัวอย่างที่เห็นภาพมาก โดยใช้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน คนพูดคนเดียวกัน
- แต่ก็พูดถึงความแตกต่างของสองเหตุการณ์ โดยบอกว่า รอบนี้เราจะชนะด้วยวิทยาศาสตร์ และความเห็นอกเห็นใจต่อกัน (using the great advances of science and our instinctive compassion)
- ปิดท้ายว่าเราจะชนะ (ให้กำลังใจถึงผลลัพธ์บั้นปลาย) แต่ช่วงนี้ก็ขอให้อดทนกันต่อไป (we may have more still to endure — บอกว่าเราต้องทำอะไร) สุดท้ายแล้วเราจะได้มาเจอคนที่รักอีก (we will meet again — บอกว่าตอนจบเราจะได้อะไร)