in Technology

Permanence

อ่านประกาศของ Mark Zuckerberg ว่าอนาคตของ Facebook จะเป็นอย่างไร หลังโดนถล่มเยอะๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ (ข่าวภาษาไทยบน Blognone)

ประเด็นเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว การเข้ารหัส ฯลฯ คงเป็นสิ่งที่คาดเดากันได้ แต่ประเด็นที่อ่านแล้วคิดว่าน่าสนใจพูดถึงคือเรื่อง ‘permanence’ หรือความถาวรของข้อมูล

Reducing Permanence. People should be comfortable being themselves, and should not have to worry about what they share coming back to hurt them later. So we won’t keep messages or stories around for longer than necessary to deliver the service or longer than people want them.

เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า social เป็นสื่อที่เกิดขึ้นมาไม่นานนัก ในยุคแรกๆ จึงไม่มีใครสนใจมากนักว่าข้อมูลบน social มันจะอยู่ไปนานแค่ไหน

แต่เมื่อ social อยู่มาได้นานถึงระดับหนึ่ง เช่น เกิน 10 ปี (ผมมาเริ่มเล่น Facebook จริงๆ จังๆ ก็ราวปี 2007 ก็ประมาณ 12 ปี) ถ้านับเป็นช่วงอายุของคนก็นานมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อาจเติบโตจากเด็กอายุ 15 มาเป็นผู้ใหญ่อายุ 25 ที่มีความคิดอ่านแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่เคยโพสต์ไว้ตอนอายุ 15 อาจเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราแล้ว แต่กลับยังถูกสิ่งเหล่านี้แปะติดตัวเราอยู่ (และในบางโอกาสก็คือตามมาหลอกหลอนไปตลอดชาติด้วย) ความถาวรหรือ permanence จึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป

หลักการตรงนี้จึงทำให้แนวคิดแบบ Snapchat หรือที่ Facebook ลอกมาเป็น Stories ถึงขายได้และประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งเราต้องการแค่ express myself at that moment แล้วก็จบกันไป

คำถามที่ยากขึ้นคือ แล้วเส้นแบ่งของ permanence อยู่ตรงไหนกันแน่ อาจจะเป็น 24 ชั่วโมง (ตามระบบ Stories ในปัจจุบัน) หรือ 1 เดือนหรือ 1 ปี คำตอบคงขึ้นกับบริบทต่างๆ มากมาย แต่ในการใช้งานสำหรับคนทั่วๆ ไปแล้ว คำตอบที่เหมาะสมที่สุดอยู่ตรงไหน คงเป็นเรื่องที่ต้องลองผิดลองถูกกันต่อไป

ภาพประกอบจาก Facebook