สงสัยเรื่องนี้มานานแล้ว ว่าทำไมเราถึงเรียกเครื่องปรุงชนิดหนึ่งว่า “พริก” และ “พริกไทย”
มันน่าจะแปลว่าเรามี “พริก (A)” ประเภทหนึ่งอยู่ก่อน แล้วพอมี “พริก (B)” อีกแบบถูกนำเข้ามา (พริก(เทศ)) เราจึงเรียกว่าพริก (A) ว่า “พริก(ไทย)” หรือเปล่า
ลองค้นดูแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
พริกไทย (black pepper หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum) มีที่มาจากชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย (Malabar Coast) และอาจขึ้นอยู่ในแถบร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่ตั้งแต่เดิมด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันประเทศที่ปลูกพริกไทยมากที่สุดในโลกคือเวียดนาม
พริก (chili pepper หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum) เป็นพืชตระกูลเบอรี่ มีที่มาจากอเมริกาใต้ (โบลิเวีย) แล้วขยายมายังเม็กซิโก (คำว่า chili เป็นภาษาเอซเทค) หลังการค้นพบทวีปอเมริกาแล้วจึงแพร่หลายไปปลูกในพื้นที่อื่นของโลก ไปยุโรปก่อนแล้วค่อยขยายมายังเอเชีย
พริกยังมีแยกวงศ์ย่อยอีก 2 วงศ์คือ
- พริกเม็ดใหญ่ (Bell pepper) จำพวกพริกหยวก พริกหวาน พริกชี้ฟ้า
- พริกเม็ดเล็ก (chili pepper) เช่น พริกขี้หนู
นอกจากนี้โลกเรายังมีพริกอีกตระกูลคือ พริกเสฉวน (Sichuan pepper) ที่เป็นพืชอีกวงศ์ไปเลยคือ Zanthoxylum หรือตระกูลมะแขว่น (ที่ภาคเหนือใช้ทำลาบ)
ประเด็นเรื่องชื่อ พริก(เทศ) vs พริกไทย มีคนสงสัยมาก่อนหน้านี้กันเยอะแล้ว ที่รวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนดีคือ บทความของ อ.เดชรัต สุขกำเนิด ถ้าให้สรุปแบบสั้นๆ คือ
- คนไทยสมัยก่อนเรียก pepper ว่า “พริก” อย่างเดียว
- พอพืชตระกูล chili เข้ามาตามการค้าของอยุธยาตอนปลาย เลยเรียก “พริกเทศ” หรือ “พริกเทษ” ซึ่งมีอ้างอิงในเอกสารเก่าหลายฉบับ รวมถึงในกลอนสุนทรภู่ด้วย
- ชื่อ “พริก” (เทศ) เริ่มหายไปในช่วงต้น ร.5 ตามเอกสารในยุคนั้น เรียกพริกตามพันธุ์แทน เช่น พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู
เหตุผลที่หายไปนั้นไม่มีเอกสารระบุชัด แต่ อ.เดชรัต เสนอมุมมองว่าคนไทยเรียกพริกตามพันธุ์แทนคำว่า “พริกเทศ” เพราะรู้จักพริกพันธุ์ต่างๆ มากขึ้นแล้ว แต่พอพูดเร็วๆ มีความหมายรวมๆ เลยใช้คำว่า “พริก” อย่างเดียว ในขณะที่คำว่า “พริกไทย” ที่มีการระบุเจาะจงพันธุ์ชัดเจน นั้นไม่ได้ถูกเปลี่ยน (มันเลยมีสถานะเป็นเหมือน “พริก” แบบหนึ่งชื่อพันธุ์ว่า “ไทย” แทน แม้จริงๆ เป็นพืชคนละชนิดกันในเชิงวิทยาศาสตร์)