in Economics

Peak Humanity

ภาพสร้างด้วย Copilot Designer

ได้อ่านบทความ Global Population Crash Isn’t Sci-Fi Anymore ของ Niall Ferguson อาจารย์และนักเขียนสายประวัติศาสตร์ชื่อดัง เขียนเรื่อง “วิกฤตประชากรโลกหดตัว” ที่กำลังเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

Ferguson เปิดเรื่องมาโดยบอกว่านิยายไซไฟในอดีต เช่น Foundation ของ Asimov ที่เขียนในปี 1952 หวั่นเกรงเรื่องประชากรล้นโลก หรือทฤษฎีประชากรศาสตร์ชื่อดัง Malthusian ก็คาดการณ์เรื่องประชากรล้นโลก จนอาหารไม่เพียงพอต่อมนุษย์ มุมมองเหล่านี้ถูกต้องเมื่อดูจากอัตราการเติบโตของประชากรในสมัยนั้น ตัวอย่างคือการคาดการณ์ของ UNPD ในปี 1945 คาดว่าโลกปี 2000 จะมีประชากร 3.3 พันล้านคน (ความจริงคือ 6 พันล้านคน)

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในยุคเดิมมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะตัวเลขคาดการณ์ยุคใหม่ๆ คาดว่าโลกจะไม่มีวันที่ประชากรแตะหลัก 1 หมื่นล้านคน โดยบางหน่วยคาดว่าจะสูงสุดที่ 9.8 หรือ 9.7 พันล้านคน (แล้วแต่สำนัก) แล้วค่อยๆ ลดลงมา ตัวเลขนี้เรียกว่า “Peak Humanity” เพื่อบอกว่าโลกเราจะมีประชากรสูงสุดเท่านี้แหละ มันน่าจะเกิดขึ้นในราวทศวรรษ 2060

เหตุผลนั้นตรงไปตรงมา เป็นเพราะอัตราการเกิด total fertility rate (TFR) ของมนุษย์ลดลงมาก ตัวเลขสำคัญของ TFR อยู่ที่ 2.1 คือพ่อแม่ 1 คู่ ให้กำเนิดเด็กเฉลี่ย 2.1 คนเพื่อให้ประชากร “โตขึ้นเล็กน้อย” อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงตัวเลขพวกนี้ต่ำเรี่ยดิน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ลดเหลือ 0.7, จีนคือ 1.0, อเมริกา 1.6 แม้แต่อิหร่านยังเหลือแค่ 1.54 ใกล้เคียงกับอเมริกามาก

ประเทศที่ยังมีอัตราการเติบโตของประชากรสูงมากๆ มีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นคือ Democratic Republic of the Congo [DRC], Egypt, Ethiopia, India, Nigeria, Pakistan, Philippines, Tanzania กรณีของ DRC นั้นอัตรา TFR ยังสูงมากถึง 6 กว่าๆ เลยทีเดียว

ส่วนเหตุผลที่ TFR ลดลงมีหลายอย่างประกอบกัน เช่น

  • คนสมัยใหม่มีความสนใจอย่างอื่น มีการตามหาความหมายของชีวิตในทางอื่น ที่ไม่ใช่การมีครอบครัว
  • ผู้หญิงสมัยใหม่มีการศึกษาดีขึ้น มีการออกไปทำงานมากขึ้น มีอิสระในการเลือกเส้นทางชีวิตมากขึ้น บางคนเลือกจะไม่มีลูกเพราะความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
  • การคุมกำเนิดที่แพร่หลายมากขึ้น การวางแผนครอบครัวที่ดีขึ้น
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรม ลดความจำเป็นที่ต้องมีแรงงานน้อยลง มีเหตุผลที่จะมีลูกเพื่อใช้เป็นแรงงานน้อยลง
  • คนมีเซ็กซ์กันน้อยลง เกิดจากมุมมองของคนต่อกิจกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป
  • สังคมบางแห่งเคร่งศาสนาน้อยลง ครอบครัวมีขนาดเล็กลง
  • การทำแท้งง่ายขึ้น
  • บางงานวิจัยบอกว่า จำนวนสเปิร์มในมนุษย์เพศชายลดลง 50% ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยยังไม่ทราบสาเหตุชัด

รัฐบาลทั่วโลกรู้ปัญหาเรื่อง TFR และพยายามแก้ไข แต่ยังไม่มีประเทศไหนทำสำเร็จเลย และ Niall เองก็ชี้ว่าปัญหา TFR ลดลงเป็น “คลื่นลูกใหญ่” ของมนุษยชาติ ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาประชากร

  • ประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นผลทางเศรษฐกิจชัดเจน เช่น GDP โตช้าลง, โรงเรียนมีเด็กน้อยลง, บ้านพักคนชราแน่นขึ้น, ประชากรวัยรุ่นที่ร่างกายแข็งแรงหายไป
  • แต่เมื่อประเทศแถบตะวันออกกลาง-แอฟริกายังมีอัตราการเกิดสูงอยู่ ค่าเฉลี่ยประชากรโลกจะมีสีผิวเข้มขึ้น คนนับถือมุสลิมมากขึ้น
  • คนในประเทศที่มีอัตราการเกิดสูง มักอยู่ในประเทศที่ยากจน มีปัญหาสภาพอากาศ สงครามกลางเมือง ก็จะอพยพไปยังอเมริกาเหนือ ยุโรป ส่งผลให้การเมืองฝ่ายขวาในประเทศเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้น ประเทศต่างๆ มีปัญหาขัดแย้งระหว่างพรมแดนกันมากขึ้น
    • ถึงแม้การนำผู้อพยพเข้าประเทศเป็นวิธีการแก้ปัญหาประชากรที่ง่ายที่สุด แต่การผสานความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย