in Economics

Paul Krugman: คริปโตคือเทคโนโลยีที่พาเราล้าหลังไป 300 ปี

Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เป็นอีกคนที่โดน “ทัวร์ลง” จากวงการคริปโตอยู่เสมอ

ล่าสุดเพิ่งเคยได้ดูคลิปของ Krugman ไปพูดเรื่องคริปโต (แน่นอนว่าในเชิงวิพากษ์) เมื่อปี 2018 คิดว่าเป็นการพูดที่ค่อนข้างครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้ดี ในเวลาเพียงประมาณ 25 นาที เลยมาจดประเด็นเก็บไว้

ในเวลา 25 นาที Krugman พูดอยู่ประมาณ 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

เงินมีต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ แต่คริปโตนั้นสวนทาง

  • Krugman เริ่มจากการบอกว่าเทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin นั้นชาญฉลาดจริง แต่เราต้องตั้งคำถามว่าคริปโตนั้นนำมาแก้ปัญหาอะไรได้จริงๆ หรือเปล่า
  • เขากลับไปพูดเรื่องทฤษฎีเรื่อง “เงิน” โดยบอกว่าจริงๆ แล้ว เงินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สิน (money is not asset) เพราะมันไม่ได้ช่วยสร้างอะไร แต่เงินทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่น (lubricant) ให้เกิดธุรกรรมในเศรษฐกิจจริง หน้าที่ของตัวหล่อลื่นคือไม่ควรมองเห็น (invisible) และไหลลื่น (frictionless)
  • พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการเงินของมนุษย์ คือการทำให้เงินนั้น invisible และ frictionless มากขึ้นมากเท่าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เราเห็นพัฒนาการจากระบบแลกเปลี่ยน (barter) มาเป็นเหรียญเงินและทอง มาสู่ระบบธนาคารและเงินกระดาษ มาสู่ระบบเงิน fiat ที่ไม่ต้องมีเงินหรือทองค้ำประกันอยู่เบื้องหลัง หลังจากนั้นเป็นระบบจ่ายเงินที่ไม่ต้องมีกระดาษเลย เช่น เช็ค บัตรเครดิต และออนไลน์
  • ภาพรวมที่ Krugman ต้องการสื่อคือ วิธีการจ่ายเงินนั้นมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จากที่ต้องไปขุดทองมาเพื่อทำเป็นเงิน ไม่ต้องจ้างคนมาคุ้มกันตอนขนเงินอีกแล้ว ทุกวันนี้ เงิน คือตัวเลขในบัญชีที่ลงไว้ที่หนึ่ง และการจ่ายเงินใช้ต้นทุนเพียงแค่การโบกโทรศัพท์เท่านั้น
  • ปัญหาของ Bitcoin ในสายตาของ Krugman คือการสร้างเหรียญ Bitcoin ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ทั้งพลังประมวลผลและพลังไฟฟ้า ส่วนการจ่ายเงิน การทำธุรกรรมด้วยคริปโตก็ทำได้ยากเช่นกัน ในมุมของนักเทคโนโลยีอาจคิดว่าเจ๋ง แต่ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงิน มันเหมือนย้อนระบบการเงินให้ล้าหลังไป 300 ปี (เหมือนยุคเงินทำด้วยเหรียญโลหะ) เขาจึงถามว่าอะไรคือเหตุผลที่เราต้องทำเช่นนั้น

ความน่าเชื่อถือ คือเทคโนโลยีของมนุษยชาติที่พัฒนาขึ้น

  • Krugman บอกว่าปัญหาของคริปโตไม่ได้อยู่ที่ความเป็นดิจิทัล แต่เป็นเพราะคนที่เชื่อในคริปโตนั้นอ้างว่าไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล เพราะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูง (hyperinflation เช่น เกิน 50% ต่อปี) แต่ในความเป็นจริงแล้ว hyperinflation ไม่ได้เกิดเพราะรัฐบาลเชื่อถือไม่ได้ แต่เกิดเพราะปัญหาทางการเมือง-สังคมของประเทศนั้นต่างหาก
  • Krugman ยังอธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์สถาบัน (institutional) ว่าสถาบันส่วนใหญ่ (เช่น ธนาคาร หรือ รัฐบาล) มักประพฤติตัวดี ทำตามสัญญาที่เคยบอกไว้กับประชาชน เพราะมีเรื่องชื่อเสียง (reputation) มาเกี่ยวข้อง จริงๆ แล้ว ชื่อเสียงหรือความน่าเชื่อถือเป็นเทคโนโลยีทางสังคมประเภทหนึ่ง เพราะป้องกันไม่ให้คนเอาเงินหนีไปครั้งเดียวจบ (one-shot gain) ให้มาอยู่ในระบบที่ทุกคนต้องเข้ามาทำเรื่องเดิมซ้ำๆ ในระยะยาว (repeated games) หากคนต้องอยู่ในระบบเดิม และมีชื่อเสียงไม่ดี ก็จะไม่มีใครทำธุรกรรมด้วย ซึ่งเศรษฐกิจยุคปัจจุบันอยู่ได้ด้วยระบบนี้
  • Krugman บอกว่าบล็อกเชน เป็นการโยนระบบความน่าเชื่อถือทางสังคมแบบเดิมทิ้งไป และบอกว่าจะตัดสินกันด้วยอัลกอริทึมล้วนๆ เราสามารถประดิษฐ์บล็อกเชนมาใช้ยืนยันว่าเหรียญ Bitcoin เป็นของแท้ได้ (เหมือนกับการกัดเหรียญทองดูว่าทองแท้หรือไม่) คำถามคือเราประดิษฐ์สิ่งพวกนี้ขึ้นมาทำไม เพื่อแก้ปัญหาอะไรกันแน่

ปัญหาใหญ่ๆ ในโลก ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แก้ไม่ได้ด้วยเทคโนโลยีอย่างเดียว

  • เขายกตัวอย่างภาวะ hyperinflation ของประเทศเวเนซุเอลาที่ทุกคนชอบอ้างกัน เขาบอกว่ามันไม่ใช่ปัญหาเรื่องการเงิน (monetary problem) แต่เป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจสังคมการเมืองของเวเนซุเอลา ซึ่งเราไม่สามารถแก้ได้ด้วยการประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมาเพียงลำพัง เขาบอกว่าปัญหาของเวเนซุเอลาคือในตู้เย็นไม่มีอาหาร ดังนั้นต่อให้สร้าง Bitcoin ขึ้นมาแทนเงินเวเนซุเอลาแบบเดิมได้ ในตู้เย็นก็ยังไม่มีอาหารอยู่ดี
  • Krugman ยังพูดถึงปัญหาของการมีสถาบันคนกลาง เขายอมรับว่าการส่งเงินข้ามประเทศ (remittance) ที่ต้องผ่านคนกลาง มีต้นทุนราคาแพงเกินควรไปจริงๆ แต่เขาชี้ว่ามันไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีซะหน่อย เขายกตัวอย่างว่าเหมือนเรื่อง roaming โทรศัพท์ข้ามประเทศมีราคาแพง มันชัดเจนว่าไม่ใช่ปัญหาเทคโนโลยีเลย เพราะเครือข่ายโทรศัพท์ทุกประเทศก็เหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องภาวะผูกขาดเหนือตลาดโดยผู้เล่นท้องถิ่น และรัฐบาลไม่เข้ามากำกับดูแลดีพอต่างหาก
  • เขาวิจารณ์ปัญหาเรื่องต้นทุนของการทำธุรกรรมคริปโตที่มีราคาแพง โดยบอกว่าเกิดจากระบบออกแบบให้มีค่าจูงใจ (incentive) ให้คนมาช่วยตรวจสอบธุรกรรม ซึ่งค่าจูงใจนี้จะเกิดจากผู้ใช้งานคริปโตเป็นคนจ่าย คำถามคือในระบบที่ต้องมีแรงจูงใจตลอดเวลาอย่างนี้ เราจะผลักต้นทุนไปให้ผู้ใช้งานได้ตลอดไปอย่างไร ซึ่งเขาบอกว่าไม่สามารถทำความเข้าใจกับตรรกะนี้ได้เลย

มูลค่าในอนาคตของทอง vs คริปโต

  • เขาบอกว่า บางที มนุษย์เราอาจให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ใช้งาน ตัวอย่างคือทอง ทุกวันนี้ทองไม่สามารถใช้เป็นเงินได้ เราจ่ายค่าสินค้าด้วยแท่งทองไม่ได้แล้ว ไม่เป็น medium of exchange อีกต่อไป แต่มีสถานะเป็นสินทรัพย์ (asset) ที่คนใช้ถือเพื่อรักษามูลค่า
  • Krugman เล่าว่า สัดส่วนของเงินที่พิมพ์ออกมาหมุนเวียนในระบบ ต่อ GDP ในช่วงหลังๆ เพิ่มมากขึ้น (เมื่อเทียบกับปี 1980) แต่ถ้าไปดูรายละเอียดแล้ว มีสัดส่วนของธนบัตรมูลค่าสูงๆ (50 หรือ 100 ดอลลาร์) เยอะมาก ธนบัตรเหล่านี้ใช้จริงไม่ค่อยได้แล้ว ไปซื้อแซนวิชด้วยธนบัตร 100 ดอลลาร์แทบไม่มีใครรับ คำถามคือธนบัตรเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ซึ่งเขาเดาว่าไปอยู่นอกอเมริกา ในประเทศที่บ้านป่าเมืองเถื่อนหน่อย คนใช้มันในฐานะตัวเก็บมูลค่า  (เชื่อมั่นในมูลค่าของธนบัตรดอลลาร์มากกว่าอย่างอื่น) แทนการนำธนบัตรไปใช้จ่ายทำธุรกรรมจริงๆ
  • เขาเทียบว่า Bitcoin มีลักษณะเป็นสินทรัพย์เหมือนทอง หรือธนบัตรมูลค่าสูงๆ แต่สุดท้ายแล้ว ทองยังพอนำไปใช้ประโยชน์ได้ (ทำฟันทอง หรือเครื่องประดับ) ธนบัตรมูลค่าสูงนำไปแลกเป็นธนบัตรย่อยได้ คำถามคือคุณค่าพื้นฐานของ Bitcoin คืออะไร อีก 5-10 ปีข้างหน้าเรามองเห็นไหมว่าสามารถนำ Bitcoin ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
  • หากวันพรุ่งนี้ คนจำนวนมากในโลกพร้อมใจกันบอกว่า ธนบัตร 100 ดอลลาร์ไม่มีค่าแล้ว ภาวะนี้จะอยู่ไม่ได้นาน เพราะหน่วยงานเก็บภาษีจะมาบอกเราว่าค้างภาษีอยู่กี่ดอลลาร์ และเราต้องกลับมายอมรับธนบัตรดอลลาร์ทันที เพื่อมาจ่ายภาษี แต่ถ้าวันพรุ่งนี้ คนจำนวนมากบอกว่า Bitcoin ไม่มีค่า มันก็จะไม่มีค่าทันที
  • ส่วนประเด็นเรื่องประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น เขาบอกว่ามันพยายามมาเป็นตัวแทน (substitute) ของเทคโนโลยีการเงินที่เราพัฒนากันมาต่อเนื่องหลายร้อยปี (เทคโนโลยีด้านความน่าเชื่อถือ) เราจะเอามาแทนทำไม เขาบอกว่ายินดีเปิดใจรับฟังว่าบล็อกเชนจะเข้ามาแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง (พูดไว้เมื่อปี 2018) แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นว่าจะใช้ทำอะไรได้เลย

บทความเก่าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ Krugman พูดคือ What is Money and Finance บรรยายโดย Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐคนปัจจุบัน