เมื่อปลายปี 2020 ระหว่างที่สถานการณ์ COVID ในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เป็นหลักหน่วย และเพื่อนๆ หลายคนเริ่มออกไปเที่ยวกันแล้ว จู่ๆ เราก็พบคลัสเตอร์สมุทรสาครในช่วงก่อนวันสิ้นปีเพียงไม่กี่วัน (งานเข้าทันที) ซึ่งทำให้สถานการณ์ในปี 2021 เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ตอนนี้มาถึงปลายปี 2021 เรากำลังเจอหนังซ้ำคล้ายๆ เดิม นั่นคือหลังผ่านปีอันหนักหน่วง การระบาดอย่างหนักตอนกลางปี และสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายขึ้นมาช่วงปลายปี แต่ข่าวการค้นพบไวรัส Omicron variant และการระบาดอย่างหนักในหลายประเทศ (โดยเฉพาะยุโรป-สหรัฐอเมริกา) ก็ทำให้โอกาสที่ปี 2022 จะเกิดการระบาดในประเทศไทยเริ่มกลับมาใหม่
ในฐานะที่ต้องประเมินความเสี่ยงกับงานประจำ เลยต้องมานั่งคิด scenario ที่จะเกิดขึ้นบ้าง แล้วลองเขียนมันออกมาดูหน่อย
ออกตัวเอาไว้ว่า การประเมินจะต้องอัพเดตตามสถานการณ์เรื่อยๆ ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตลอดเป็นปกติ การประเมินนี้เขียนขึ้น ณ ข้อมูลวันที่ 20 ธันวาคม 2021
ความรุนแรงของ Omicron เทียบกับ Delta
ถ้าสรุปเป็นภาษาชาวบ้านๆ หน่อย ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดก็ต้องบอกว่า “อาการป่วยรุนแรงเท่าๆ กับ Delta แต่กระจายตัวเร็วกว่ามาก” (แปลว่าระดับความรุนแรงของการระบาดนั้นเยอะกว่า)
แนวทางลดผลกระทบ
หลังเจอ COVID มาสองปี มนุษย์ค้นพบวิธีต่อสู้กับ COVID แค่เพียง 2 วิธีเท่านั้นคือ
- ฉีดวัคซีน
- มาตรการเพิ่มระยะห่าง ลดความแออัด ล็อคดาวน์ เพื่อให้การระบาดช้าลง
การฉีดวัคซีน
ในการระบาดปี 2020 นั้น เราไม่มีข้อ 1 วัคซีน เลยแม้แต่น้อย ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์เท่านั้น
ในการระบาดปี 2021 เราเริ่มมีวัคซีนตั้งแต่ช่วงต้นปี (ในโลกตะวันตก) ของไทยเริ่มมาช่วงกลางปี โดยใช้ควบคู่กับการล็อคดาวน์ในช่วงกลางปี (ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นต้นมา)
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดระบุว่า การฉีดวัคซีน booster เข็มที่สามที่เป็น mRNA สามารถยับยั้งหรือลดผลกระทบจาก Omicron ได้ในระดับหนึ่ง
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2021 (ใหม่ที่สุดเท่าที่ขึ้นเว็บ) ประเทศไทยฉีดวัคซีน 2 เข็มไปแล้ว 44 ล้านคน คิดเป็น 61.4% ของประชากร ซึ่งถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จำนวนการฉีดเข็มที่สามยังไม่เยอะนักคือ 4.7 ล้านคน (คิดเป็น 6.6% ของประชากร) แถมถ้าเราคิดเฉพาะ mRNA (Pfizer + Moderna) ตัวเลขคือ 2.1 ล้านคน (ประมาณ 3%) ก็ยังถือว่าน้อยมาก
ทางออกในตอนนี้คงไม่มีอย่างอื่น นอกจากเร่งฉีดวัคซีนกันต่อไป ทั้งการเร่งฉีด 2 เข็มแรกให้กว้างขึ้น และการเร่งฉีดเข็มที่สามที่เป็น mRNA ด้วย
ตอนนี้สถานการณ์เรื่องซัพพลายวัคซีนของโลกดีขึ้นกว่าเดิมมากแล้ว ท่าทีของรัฐไทยก็ยอมรับกลายๆ แล้วว่า mRNA เท่านั้น ปัจจัยต่างๆ เป็นใจ ที่เหลือคือ execution ให้ดีเท่านั้น (ซึ่ง execution ของไทยทำได้ดีมาตั้งแต่แรก)
ล็อคดาวน์
นอกจากการระดมฉีดวัคซีนแล้ว มาตรการอีกอันเดียวที่เราสามารถทำได้คือ ล็อคดาวน์ ซึ่งในทางปฏิบัติก็มีรายละเอียดตามมาว่าเยอะแค่ไหน แถมในทุกการล็อคดาวน์มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจตามมาเสมอ
เราเห็นตัวอย่างการล็อคแล้วคลาย ล็อคแล้วคลาย ตามสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศมาก่อนแล้ว เช่น ออสเตรียที่ล็อคดาวน์ wave 4 ในเดือนพฤศจิกายน หรือ กรณีล่าสุดคือ เนเธอร์แลนด์ล็อคดาวน์ช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่รับมือ Omicron
กรณีของไทยเอง ที่ผ่านการล็อคดาวน์ช่วงกลางปี 2021 มาแล้ว หากจะต้องมีล็อคดาวน์รอบถัดไป มาตรการที่เป็นไปได้ คงไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น ห้ามจัดอีเวนต์, ทำงาน work from home, เรียนออนไลน์, ห้ามนั่งกินอาหารในร้าน ฯลฯ
การที่ไทยเคยล็อคดาวน์มาแล้วรอบหนึ่ง ก็มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อภาคธุรกิจ
- ปัจจัยบวก คือธุรกิจมีประสบการณ์ล็อคดาวน์กันมาแล้วถ้วนหน้า รู้วิธีปรับตัวเพื่อลดผลกระทบทางการค้าจากล็อคดาวน์มาแล้วครั่งหนึ่ง
- ปัจจัยลบ คือธุรกิจไทยโดยเฉพาะภาค SME บอบช้ำจากการล็อคดาวน์อันยาวนานของปี 2021 มากพอสมควร บางส่วนล้มหายตายจากไปเรียบร้อยแล้ว บางส่วนต้องลดขนาดธุรกิจลง เช่น ลดสาขา ลดคน บางส่วนเต็มไปด้วยบาดแผล (ภาษาของผู้ว่า ธปท. คือ แผลเป็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำที่ดี) ถ้ามีการล็อคดาวน์ซ้ำอีก ก็จะเป็นการซ้ำเติมกลุ่มคนเหล่านี้
ฉากทัศน์ของการล็อคดาวน์ 2022
ด้วยสถานการณ์การระบาดของ Omicron variant ล่าสุด ที่ข้อมูลวันนี้ (20 ธ.ค.) พบมากกว่า 60 ราย คำถามเรื่องการระบาดของ Omicron คงไม่ต้องถามกันแล้วว่าจะมีหรือไม่ แต่เป็นว่าจะเกิดเมื่อไร (when) เท่านั้น
เราคงไม่สามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้เร็วกว่านี้อีกมากนัก (ที่ทำอยู่ก็ถือว่าค่อนข้างดีมากแล้ว) ดังนั้นการล็อคดาวน์อีกรอบ ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก
ฉากทัศน์ที่พอจินตนาการเห็น มีดังนี้
- การล็อคดาวน์มีผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละเซกเตอร์ไม่เท่ากัน (เคยเขียนไว้ละเอียดในตอน Business Resilience) ธุรกิจข้อมูลข่าวสารดิจิทัลได้รับผลกระทบน้อย ธุรกิจท่องเที่ยว อาหาร การศึกษา ประสบการณ์บันเทิง ได้รับผลกระทบมาก
- ในแง่รูปแบบของผลกระทบจากล็อคดาวน์ในปี 2022 คงไม่ต่างจากปี 2021 มากนัก แต่ความบอบช้ำของธุรกิจกลับไม่เท่ากัน ดังนั้นต่อให้มีมาตรการเหมือนเดิมเป๊ะเลย ผลกระทบย่อมไม่เท่าเดิม
- ตัวอย่างคือ ธุรกิจท่องเที่ยวที่โดนหนักมา 2 ปีติดกัน และฝันถึงโลกที่ควบคุม COVID ได้แล้วในปี 2022 ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมา ก็อาจจะฝันสลาย และต้องอยู่กับภาวะแทบไร้นักท่องเที่ยวต่ออีก 1 ปี (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่กันได้อีกไหม)
- รัฐไทยเองก็ได้ประสบการณ์จากมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากมาแล้ว และก็หวังว่าถ้ามีการล็อคดาวน์รอบใหม่ ความเข้มงวดจะลดลงจากเดิม (บ้าง)
K-Shape Recovery การเยียวยาปัญหาเดิมที่เกิดซ้ำใหม่
อีกประเด็นที่อยากพูดถึงคือ เราพูดถึง K-Shape Recovery กันมามาก คนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบจาก COVID และการล็อคดาวน์ไม่เท่ากัน
- คนรวย รายได้ดี ได้รับผลกระทบน้อย บางธุรกิจอาจไม่กระทบเลยด้วยซ้ำ การล็อคดาวน์เป็นแค่ “ความไม่สะดวก” บางประการที่ทำให้ออกจากบ้านไปเที่ยว ไปกินข้าว ไม่ได้เท่านั้น
- ในขณะที่คนรายได้น้อย กลับเจอผลกระทบหนักที่สุด ธุรกิจปิดตัว ตกงาน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก
ดังนั้น ถ้าเราจะต้องมีล็อคดาวน์ครั้งใหม่ สิ่งที่รัฐไทยและสังคมไทยควรเตรียมความพร้อมไว้ ก็คือการแก้ (หรือเยียวยาก็ยังดี) ปัญหาหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นในการล็อคดาวน์รอบก่อน เช่น
- การเตรียมวงเงินกู้รอบใหม่ เพื่อให้ธุรกิจ SME ยังเอาตัวรอดไปได้ (รักษาการจ้างงานเอาไว้) แน่นอนว่าด้วยสภาพที่หนี้ท่วม การประเมินความเสี่ยง-เครดิตของธุรกิจที่จะกู้เพิ่ม อาจต้องเปลี่ยนวิธีไปจากเดิม ใช้การคำนวณสัดส่วนหนี้แบบเดิมไม่ได้แล้ว
- ความพร้อมของการเรียนออนไลน์ ที่เปิดแผลให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยปัจจัยว่าไม่มี device/connection (เคยเขียนไว้ในตอน ข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องการแจกอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์)
- การกระตุ้นเศรษฐกิจ การแจกเงินเยียวยารอบใหม่ ซึ่งสถานการณ์เปลี่ยนไปหลังการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% แล้ว เรายังสามารถกู้เพิ่มได้อีกแค่ไหน และกระบวนการแจกเงินเยียวยาที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างไม่ทั่วถึง จะแก้ปัญหากันอย่างไร
ปัญหาทุกอย่างเป็น known problems อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ที่เหลือขึ้นกับความจริงใจและความตั้งใจในการแก้ปัญหาของคนที่รับผิดชอบแล้วล่ะ