นั่งอ่านเรื่อง “ต้นไม้ที่มีอายุมากที่สุดในโลก” (List of oldest trees) พบว่า เราต้องแยกเป็นกรณีต้นไม้ต้นเดี่ยว (single tree) และต้นไม้ที่เป็น “กอ” แบบโคโลนี (clonal colony คือเป็นกอที่โคลนออกจากต้นใกล้ๆ กัน) ซึ่งกรณีที่เป็นต้นไม้โคลน มีอายุในภาพรวมเยอะกว่า (เป็นหลักหมื่นหรือแสนปี) เพราะต้นเก่าตาย ต้นใหม่งอกขึ้นมาเรื่อยๆ กินพื้นที่ระดับตารางกิโลเมตร
กรณีของต้นไม้โคลน ที่เก่าแก่ที่สุด มีตัวเต็ง 2 รายคือ
- ป่าของต้น King’s lomatia ในอุทยาน Southwest National Park เกาะแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เอาเฉพาะฟอสซิลมีอายุอย่างน้อย 43,600 ปี ส่วนต้นที่ยังมีชีวิตอยู่ น่าจะมีอายุอย่างน้อย 13,000 ปี
- ป่า Pando ในอุทยาน Fishlake National Forest รัฐ Utah สหรัฐอเมริกา พื้นที่รวม 108 เอเคอร์ (0.43 ตร.กม.) อายุของทั้งป่าราว 14,000 ปี
กรณีของต้นไม้ต้นเดี่ยวที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุประมาณ 5,000 ปี ตัวเต็งมี 3 รายคือ
- ต้นไม้ชื่อ Prometheus อยู่ในรัฐ Nevada ของสหรัฐ มีอายุอย่างน้อย 4,862 ปี (และอายุจริงอาจมากกว่า 5,000 ปีด้วยซ้ำ) น่าเสียดายมากว่ามันถูกตัดไปแล้วในปี 1964 โดยที่คณะผู้วิจัยในตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าอายุจริงของมันยาวมากๆ
- ต้นไม้ชื่อ Methuselah อยู่ในรัฐ California ของสหรัฐ มีอายุอย่างน้อย 4,854 ปี ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน (ตั้งชื่อตาม Methuselah บุคคลในคัมภีร์ไบเบิลที่มีอายุเกือบ 1,000 ปี) หน้าตาตามภาพ
- ต้นไม้ชื่อ Alerce Milenario อยู่ในอุทยาน Alerce Coster National Park ประเทศชิลี มีอายุ (ประมาณ) 5,484 ปี หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะเกิน 5,000 ปี
ในลิสต์อันดับท็อปๆ ยังมี ต้นพระชัยศรีมหาโพธิ์ (Jaya Sri Maha Bodhi) หน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อยู่ในศรีลังกา (พระศรีมหาโพธิ์ต้นฉบับ ตายไปนานแล้ว) มีอายุ 2,309 ปี ซึ่งจะหาโอกาสเขียนถึงอีกทีหนึ่ง
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ต้นไม้ต้นหนึ่งมีอายุยาวนานมาก? คำตอบมีหลายข้อรวมกัน แต่หลักๆ คือพันธุ์และสถานที่ตั้งของต้นไม้
ต้น Prometheus และต้น Methuselah เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน เป็นต้นสน (pine) พันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า Great Basin Bristlecone pines (ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinus longaeva) เป็นต้นไม้ขนาดกลาง (middle-size) ขึ้นบนภูเขาสูงในแถบ Sierra Nevada ของอเมริกาเหนือ สภาพแวดล้อมแห้งแล้ง เย็น มีลมแรง
ผลคือต้นไม้พันธุ์นี้จะโตช้ามาก บางปีอาจไม่โตขึ้นเลย การโตช้าทำให้เนื้อไม้แน่น ทนทานต่อแมลง การเน่าเปื่อย กัดเซาะต่างๆ นอกจากนี้ การที่ต้นไม้โตได้ในสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้อื่นๆ โตยาก ทำให้บริเวณแถบนั้นไม่ค่อยมีต้นไม้อื่นงอกขึ้นมา ไม่มีสภาพเป็นป่า ปลอดภัยต่อไฟป่าด้วย (National Park Service)
ส่วนต้น Alerce Milenario ในชิลี เป็นต้นไซเปรสพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า Fitzroya เจอในเทือกเขา Patagonia ในอเมริกาใต้ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ และต้นนี้เองก็เป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดแล้ว (สูง 11 เมตร กว้าง 4 เมตร – ภาพประกอบ) ด้วยเหตุที่มันอายุมากแล้ว คาดว่ามีเพียง 28% ของต้นเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ (Newsweek)