in Movies

Nomadland

อย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่า ผมมีความสนใจผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจอเมริกาปี 2007-2008 ต่อคนทั่วไป ที่ไม่ใช่คนในแวดวงการเงิน

บวกกับช่วงหลังได้ดูคลิปแนว camper van ออกแบบรถบ้านใน YouTube หลายคลิป ทั้งในแง่ความบันเทิง-ไลฟ์สไตล์ (นอนรถบ้านเพื่อความเท่) และในแง่เศรษฐกิจ (นอนรถบ้านเพราะไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน)

พอมีหนังเรื่อง Nomadland ที่พูดถึงประเด็นนี้โดยตรง (ต้องใช้ชีวิตในรถบ้าน หลังวิกฤตเศรษฐกิจ) แถมชนะออสการ์ปี 2020 ด้วย จึงไม่พลาดที่จะรับชม

เนื้อเรื่องของ Nomadland เป็นสหรัฐอเมริกาปี 2011 ที่ยังมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจอยู่มาก ถึงแม้ตัวละครหลัก Fern ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภาคการเงินโดยตรง แต่เธอเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน เมื่อนายจ้างคือบริษัททำเหมือง US Gypsum (USG) เลิกทำเหมืองยิปซัมในเมือง Empire รัฐ Nevada หลังจากทำธุรกิจอยู่ที่เมืองนี้มานาน 63 ปี (การเลิกกิจการของ USG เป็นเหตุการณ์จริงๆ แต่ Fern เป็นตัวละครที่แต่งขึ้น)

เมือง Empire ถือเป็น company town ของบริษัท USG คือการมีตัวตนของเมืองมีอยู่เพราะเหมืองยิปซัมล้วนๆ คือในย่านนี้ไม่มีเมืองอื่นอยู่เลย (เมืองที่ใกล้สุดห่างไป 97 กม.) ดังนั้นเมืองเกิดขึ้นได้เพราะพนักงานของ USG ต้องมาอาศัยอยู่ที่นี่ จนเกิดเป็นเมืองขนาดเล็กๆ ขึ้นมา (เคยมีประชากรสูงสุดที่ 750 คน)

เมื่อ USG ตัดสินใจเลิกทำเหมืองในปี 2011 ทำให้พนักงานทุกคนในเมืองต้องตกงาน และประชากรทุกคน (ครอบครัวของพนักงาน) ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นกัน ตัวของ Fern ที่ตามสามีมาอยู่ที่เมืองนี้ แต่สามีเสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว ก็พบปัญหาว่าตัวเองตกงาน แถมยังเคว้งคว้างเพราะไม่มีครอบครัวเหลือใกล้ชิดอยู่อีกแล้ว

(หมายเหตุ: เมือง Empire กลายเป็นเมืองร้างระหว่างปี 2011-2016 แต่หลังจากนั้นมีบริษัทใหม่มาซื้อเหมืองต่อจาก USG ทำให้เมืองกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ข้อมูล ณ ปี 2021 มีประชากร 65 คน)

เส้นทางชีวิตที่ Fern หญิงม่ายวัยเกษียณเลือกคือ ขายทรัพย์สินเกือบทุกอย่าง ย้ายตัวเองไปอยู่ในรถแวนของสามี และออกเดินทางไปเรื่อยๆ พร้อมกับหางานพาร์ทไทม์ทำไปพลางๆ เพื่อหารายได้เลี้ยงตัว งานแรกๆ ที่เธอเลือกคือทำงานรับจ้างรายวันในศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ช่วงฤดูหนาวที่มีคำสั่งซื้อปริมาณมากๆ

Fern ไม่ใช่คนเดียวที่ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ มีคนอีกมากที่เลือกทำงาน Amazon แล้วอาศัยในรถบ้าน (Amazon ช่วยออกค่าเช่าลานจอดรถให้บางส่วน) และต้องมีชีวิตอย่างเปล่าเปลี่ยว

เพื่อนร่วมงานและเพื่อนบ้าน “ร่วมลานจอดรถ”  ของเธอ Linda (ซึ่งเป็นบุคคลจริง อาศัยอยู่ในรถบ้านจริงๆ) แนะนำให้เธอรู้จักกับชุมชนผู้อาศัยในรถบ้านที่นำโดย Bob Wells (เป็นบุคคลจริงอีก มีช่อง YouTube ของตัวเอง) ซึ่งสอนเทคนิคการเอาตัวรอดในชีวิตบนรถบ้าน (ชีวิตรถบ้านของจริงๆ ไม่ง่ายเหมือน YouTuber) และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มคนที่ถูกทุนนิยมทอดทิ้ง

กลุ่มของ Bob Wells มีนัดเจอกันกลางทะเลทรายในแอริโซนาปีละครั้ง เพื่อเกิดเป็นชุมชน สร้างมิตร และปลอบประโลมซึ่งกันและกัน Linda ชวน Fern ให้ลองไปร่วมงานดู ตอนแรก Fern ลังเล แต่สุดท้ายเธอก็เดินทางไป และทำให้ค้นพบสังคมมิตรภาพรถบ้านด้วยกัน

เส้นทางของ Fern ต่อจากนั้นมีจุดหักเหที่เป็นไปได้อีกหลายครั้ง เธอมีโอกาส “กลับบ้าน” ทั้งจากคำชักชวนของน้องสาวที่ชวนให้เธอกลับไปอยู่บ้านเดิมด้วยกัน และจาก Dave เพื่อนร่วมวงการรถบ้านที่รู้สึกดีกับเธอ แต่ตัดสินใจกลับไปอยู่ในบ้านเพราะมีหลานกับเขาแล้ว

อย่างไรก็ตาม Fern กลับตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่บนรถบ้านต่อไป สิ่งหนึ่งที่เธอ (และผู้ชม) เรียนรู้จากชุมชนรถบ้านของ Bob Wells คือแต่ละคนมีเส้นทางชีวิต และเหตุผลในการมาอยู่บนรถบ้านที่แตกต่างกัน หลายคนไม่ได้มาเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจเสมอไป บางคนมาเพราะบาดแผลในชีวิตที่ลูกฆ่าตัวตาย (Bob) บางคนมาเพื่อเติมความฝันให้สามีที่ตายก่อนเกษียณ ก่อนได้ใช้เงินออมมาท่องโลกไม่นาน (Swankie)

กรณีของ Fern นั้น หนังเราค่อยๆ ย้อนชีวิตในอดีตเห็นว่าเธอมีปัญหากับการ “อยู่ในบ้าน” มาตั้งแต่วัยสาว และเมื่อสามีคือทุกอย่างในชีวิตของเธอมาตลอด ชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอจึงเป็นการออกเดินทางไปเรื่อยๆ ต่อไป

ประโยคที่สะท้อนภาพรวมของหนังคงเป็นการสนทนาระหว่าง Fern กับเด็กสาวที่เธอเคยช่วยสอนหนังสือว่า

“My mom says that you’re homeless. It that true?”

“No I’m not homeless. I’m just houseless. Not the same thing, right?”

ความคาดหวังของผมต่อ Nomadland ตอนแรกคือเราจะได้เห็นมุมเรื่องเศรษฐกิจที่บีบคั้นชีวิต แต่สุดท้ายหนังค่อยๆ พาเราเดินตามชีวิตของ Fern ไปในเชิงจิตวิญญาณแทน

การเล่าเรื่องของ Nomadland เป็นแบบไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ แต่ค่อยๆ เล่ามุมมองของคนในสังคมรถบ้านที่แตกต่างกันผ่านสายตาของ Fern โดยมีแทรกวิวทิวทัศน์ของอเมริกาที่ตระการตา (แต่ก็เปลี่ยวเหงา)

การผสมผสานระหว่างตัวละครจากนักแสดง (Fern) กับตัวละครที่เป็นบุคคลจริงๆ (คนอื่นเกือบทั้งหมดในสังคมรถบ้าน) ทำให้ได้ทั้งความเรียลในชีวิตจริง ประกอบกับความดราม่าผ่านตัวบทที่แต่งขึ้น ก็ถือเป็นวิธีการสร้างหนังที่น่าสนใจดี

การที่หนังจับประเด็นทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ บวกกับวิธีการเล่าเรื่องที่สมจริงแต่ไม่บีบคั้น และการแสดงที่ยอดเยี่ยม ทำให้ไม่น่าแปลกใจนักที่หนังกวาดรางวัลไปมากมาย (ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า ผู้กำกับคนจีน Chloe Zhao จะสามารถทำหนังตีประเด็นสังคมอเมริกันจัดๆ ได้ดีขนาดนี้)

ส่วนตัวดูแล้วก็ค่อนข้างชอบ และชวนให้ตั้งคำถามกับตัวเองในเชิงจิตวิญญาณต่อได้อีกมากเช่นกัน