in Politics

New Ethiopia

อ่านบทความใน Financial Times สัมภาษณ์ Abiy Ahmed นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเอธิโอเปีย ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2018 แต่ใช้เวลาไม่ถึงปี ปฏิรูปประเทศหลายอย่าง ทั้งเจรจาสงบศึกกับเอริเธีย (Eritrea) เพื่อนบ้านที่รบกันมาตั้งแต่ปี 2000, ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด และสร้างสิ่งก่อสร้างทันสมัยหลายๆ อัน เช่น สวนสัตว์, พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล ฯลฯ ก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี เลยตามไปอ่านประวัติเพิ่ม

ตัวของ Abiy (น่าจะอ่านว่า อาบาย) ตอนนี้อายุแค่ 42 ปี (ได้เป็นนายกตอนอายุ 41) ถือว่ายังหนุ่มมาก เดิมทีเป็นทหาร แต่ก็เป็นทหารไฮเทคคือจบสายคอมพิวเตอร์ด้าน cryptography และทำงานด้านข่าวกรอง ภายหลังยังไปเรียน MBA และเพิ่งจบ PhD ได้ไม่นานก่อนได้เป็นนายก

การจะเข้าใจตัว Abiy ก็ต้องเข้าใจการเมืองของเอธิโอเปียสักหน่อย เอธิโอเปียเป็นประเทศแอฟริกาที่เป็นคริสต์ และมีความหลากหลายทางชนเผ่าสูงมาก ดังนั้นแต่ละเผ่าจะไม่เชื่อใจกันหรือเป็นศัตรูกัน ย่อมเป็นเรื่องปกติ

เอธิโอเปียปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาเป็นพันปี จนกระทั่งกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ Haile Selassie ถูกรัฐประหารในปี 1974 เปลี่ยนมาเป็นการปกครองโดยคณะทหารคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า Derg แทน

ที่เราเห็นภาพกันว่าเอธิโอเปียอดอยากมากๆ ก็คือช่วงที่ Derg ปกครองนี่แหละ เศรษฐกิจทุกอย่างพังทลาย แต่ฝ่ายต่อต้านที่เรียกชื่อรวมๆ ว่า Ethiopian People’s Revolutionary Democratic Front (EPRDF) เพราะมาจากการรวมกองกำลังของหลายชนเผ่า ก็สามารถรบชนะ Derg ได้ในปี 1991

จากนั้นเอธิโอเปียก็ปกครองโดยระบอบการเลือกตั้งที่มี EPRDF เป็นพรรคหลักมาโดยตลอด ผู้นำของ EPRDF คือ Meles Zenawi ที่ชนะสงคราม Derg มา ก็ชนะการเลือกตั้งได้ทุกครั้งนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1995 จนเสียชีวิตคาตำแหน่งในปี 2012

ตรงนี้ปัจจัยด้านชนเผ่าเริ่มมีผล เพราะ Zenawi เป็นเผ่า Tigray  ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้าน Derg แต่พอ Zenawi ตาย ชนเผ่าอื่นๆ ก็อยากมีส่วนร่วมบ้าง

ผู้นำคนถัดมาคือ Hailemariam Desalegn เป็นเผ่า Wolayta ที่อยู่ทางตอนใต้ ด้วยเหตุผลทั้งด้านชนเผ่าและอีกหลายๆ อย่าง (เช่น ตัว Zenawi เป็นผู้นำแบบ strongman ที่ตอนยังอยู่ก็รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่พอตายแล้วอำนาจก็แตกกระจาย) ทำให้เกิดอาการ “เอาไม่อยู่” บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เกิดการประท้วงมากมาย เขาจึงลาออกในปี 2018 โดยไม่แต่งตั้งใครมาสืบทอดอำนาจ

ตรงนี้เลยกลายเป็นสูญญากาศในหมู่ EPRDF ว่าจะเลือกใครขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ตัวของ Abiy สืบเชื้อสายชาว Oromo ทางตอนกลางของประเทศ (โซนรอบเมืองหลวง Addis Ababa) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 แกนหลักของ EPRDF

ขั้นแรก Abiy ต้องชิงตำแหน่งผู้นำของโซน Oromo ให้ได้ก่อน ก็ไม่รู้ว่าฟ้าลิขิตหรืออะไร คู่แข่งของเขาในโซนนี้ดันไม่ได้เป็น ส.ส. ทำให้ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เขาสามารถเป็น 1 ใน 4 ตัวเต็งชิงการเป็นผู้นำ EPRDF (ซึ่งแปลว่าจะได้เป็นนายก)

พอเข้าสู่ขั้นตอนการชิงตำแหน่งผู้นำ EPRDF ก็ขับเคี่ยวกันอย่างหนักหน่วง แต่สุดท้ายจะเจรจากันอย่างไรไม่ทราบ คู่แข่งของ Abiy ถอนตัวในวินาทีสุดท้าย และยอมรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีต่อไป (เดิมทีก็เป็นรองนายกอยู่แล้ว) ทำให้ Abiy ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ EPRDF และเป็นนายกได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แม้เพิ่งเริ่มเล่นการเมือง เป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี 2010 เท่านั้นเอง

จังหวะหลายๆ อย่างทำให้ Abiy ขึ้นเป็นผู้นำรุ่นหนุ่มของเอธิโอเปีย (แถมยังเป็นการเอาชนะจากภายในองค์กรดั้งเดิมที่สร้างประเทศ ไม่ได้สร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาโค่นองค์กรเดิม) และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงมากมาย ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าเขาจะทำอะไรได้อีกมากแค่ไหน หรือจะโดนรัฐประหารโค่นลงไปก่อน